Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยผลการจดทะเบียนธุรกิจใหม่สะสม 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2567) แตะ 8.3 หมื่นราย โตขึ้น 2.37% เฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2567 จดทะเบียน 6,266 ราย โตขึ้น 4.80% คาดตลอดปี 2567 จัดตั้งธุรกิจใหม่ใกล้แตะเป้าหมาย 9 หมื่นราย
ขณะที่การลงทุนของชาวต่างชาติ 11 เดือน แตะ 2.14 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นยืนยงครองแชมป์ลงทุนอันดับ 1 ในไทย พร้อมเปิดข้อมูล 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ธุรกิจที่ต้องปรับตัว ปี 2567 ธุรกิจกีฬาและออกกำลังกาย ท่องเที่ยวและความบันเทิง ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อี-คอมเมิร์ซ ผลิตภาพยนตร์ จูงมือกันเติบโต
ขณะที่ อุตสาหกรรมหรือธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ไม่มีการปรับปรุงเทคโนโลยีหรือประสิทธิภาพการผลิตและบริการได้รับความสนใจน้อยลง เช่น ผลิตเหล็ก-โลหะมีค่า-อัญมณี ค้าปลีกแบบออฟไลน์ สื่อและประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ แปรรูปสินค้าเกษตร ตัวแทนนายหน้า ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 6,266 ราย เพิ่มขึ้น 287 ราย (4.80%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (5,979 ราย)
และทุนจดทะเบียน 24,219.88 ล้านบาท ลดลง 1,053 ล้านบาท (4.17%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (25,273 ล้านบาท)
ในเดือนนี้มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 3 ราย คือ บริษัท วัฒนาเวชวิวัฒน์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,241 ล้านบาท บริษัท หย่าตง (ไทยแลนด์) จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท และบริษัท ซิโน-ไทย เทคโนโลยี อินดัสเทรียล ปาร์ค กรุ๊ป (ไทยแลนด์) ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 460 ราย ทุนจดทะเบียน 1,337 ล้านบาท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 460 ราย ทุนจดทะเบียน 4,186 ล้านบาท
และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 278 ราย ทุนจดทะเบียน 514 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.34% 7.34% และ 4.44% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน 2567
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีจำนวน 83,219 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (81,291 ราย) เพิ่มขึ้น 1,928 ราย (2.37%) ทุนจดทะเบียน 262,850 ล้านบาท ลดลง 284,006 ล้านบาท (51.93%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (546,856 ล้านบาท)
สาเหตุที่ทุนจดทะเบียนลดลงอย่างผิดปกติสืบเนื่องจากปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์โดยมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ
อย่างไรก็ดี ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมามีการจัดตั้งธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 14 ราย เช่น กิจการค้าส่งและค้าปลีก จำหน่ายแว่นตาและอุปกรณ์ และกิจการ Data Center
การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนพฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 2,852 ราย เพิ่มขึ้น 244 ราย (9.36%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (2,608 ราย) และมีทุนจดทะเบียนเลิก 10,173 ล้านบาท ลดลง 7,201 ล้านบาท (41.44%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (17,374 ล้านบาท)
ในจำนวนนี้มีธุรกิจเลิกที่ทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจ 1 ราย ทั้งนี้ ช่วงไตรมาสสุดท้ายถือเป็นปกติของของการจดเลิกประกอบกิจการ เนื่องจากธุรกิจต้องการจัดทำบัญชีให้เสร็จภายในรอบปีบัญชีนั้น ซึ่งจะไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชีในปีถัดไป
สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 220 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 678 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 156 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 1,660 ล้านบาท
และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 90 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 190 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.74% 6.20% และ 3.58% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน 2567
การจดทะเบียนเลิกสะสม 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน 2567) มีจำนวน 17,614 ราย ลดลง 244 ราย (1.37%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (17,858 ราย) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 136,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,350 ล้านบาท (26.32%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (107,729 ล้านบาท)
โดยในช่วงเวลา 11 เดือนที่ผ่านมามีธุรกิจทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จดทะเบียนเลิกทั้งสิ้น 10 ราย เป็นประเภทธุรกิจที่หลากหลาย เช่น กิจการโทรคมนาคม โรงงานผลิต จำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง และค้าปลีกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,960,452 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.54 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 944,008 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.50 ล้านล้านบาท
แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 740,373 ราย หรือ 78.43% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 16.31 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 202,152 ราย หรือ 21.41% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 0.47 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,483 ราย หรือ 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 5.72 ล้านล้านบาท
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขยับเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่เป็นตัวกระตุ้นให้เงินเข้าสู่ประเทศ ผู้บริโภคเริ่มผ่อนคลาย ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ประกอบกับการที่ภาครัฐออกนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยภาคเศรษฐกิจและประชาชนพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็ง
การลงทุนประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ 11 เดือน
ขณะที่ 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 884 ราย
โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 202 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 682 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 213,964 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,671 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 239 ราย (27%) ลงทุน 119,057 ล้านบาท 2) สิงคโปร์ 120 ราย (14%) ลงทุน 16,332 ล้านบาท
3) จีน 117 ราย (13%) ลงทุน 16,674 ล้านบาท 4) สหรัฐอเมริกา 115 ราย (13%) ลงทุน 23,555 ล้านบาท และ 5) ฮ่องกง 62 ราย (7%) ลงทุน 14,508 ล้านบาท
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 11 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 281 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 161 ราย (134%) (เดือน ม.ค. – พ.ย. 67 ลงทุน 281 ราย / เดือน ม.ค. – พ.ย. 66 ลงทุน 120 ราย)
และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 50,396 ล้านบาท คิดเป็น 24% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 30,865 ล้านบาท (158%) (เดือน ม.ค. – พ.ย. 67) เงินลงทุน 50,396 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – พ.ย. 66 เงินลงทุน 19,531 ล้านบาท)
เป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 96 ราย ลงทุน 18,637 ล้านบาท *จีน 67 ราย ลงทุน 9,284 ล้านบาท *ฮ่องกง 19 ราย ลงทุน 5,223 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 99 ราย ลงทุน 17,252 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม (สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน ธุรกิจบริการชุบแข็ง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น
10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ธุรกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว ปี 2567
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเชิงลึกมาทำการวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งและธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงทุนหรือขยายธุรกิจ รวมทั้ง รับทราบถึงภาพรวมธุรกิจไทยตลอดปีที่ผ่านมา
การวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่ง – ธุรกิจที่ต้องปรับตัว ปี 2567 ได้นำข้อมูลด้านการจดทะเบียนธุรกิจ เช่น จำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการ รวมทั้ง ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น แนวโน้มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และการแข่งขันของธุรกิจ
5 ธุรกิจดาวรุ่ง
1) กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา สถานฝึกสอนกีฬา และธุรกิจจัดการแข่งขันกีฬาได้รับประโยชน์โดยตรงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและหันมาออกกำลังกายมากขึ้น ปี 2567 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งสะสม 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) 732 ราย
เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 195 ราย (36.31%) ทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่มีมูลค่า 1,751.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ม.ค. – พ.ย.) 713.57 ล้านบาท (68.77%)
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจย่อยที่เติบโตได้ดี คือ ธุรกิจด้านสถานที่ออกกำลังกายและสอนออกกำลังกายที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 27% ทั้งนี้ ปี 2566 กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายมีรายได้รวม 93,397.82 ล้านบาท
2) กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจความบันเทิงและการแสดงโชว์ สืบเนื่องจากการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของโรงแรมที่พัก สปา ร้านอาหาร ขณะเดียวกัน ธุรกิจความบันเทิง การแสดงโชว์ ก็มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
โดย ปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิงมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 1,976 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 477 ราย (31.82%)
ขณะที่ ทุนจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 6,427.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 1,740.48 ล้านบาท และปี 2566 กลุ่มธุรกิจฯ มีรายได้รวม 359,670.04 ล้านบาท
3) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจผลิตตัวถังยานยนต์ ช่วงปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดภาษี และการสนับสนุนการผลิต
ปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตจำนวน 7 แบรนด์ผู้ผลิต ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) กลุ่มธุรกิจฯ มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล จำนวน 1,033 ราย
เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 183 ราย (21.53%) ทั้งนี้ ปี 2567 เฉพาะกลุ่มธุรกิจย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 61% โดยปี 2566 กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีรายได้รวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท
4) กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจแพลตฟอร์ม e-commerce ธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้า ธุรกิจกล่องบรรจุพัสดุ สอดคล้องพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ธุรกิจการผลิตกล่องกระดาษ ธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ปี 2567
ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) กลุ่มธุรกิจ e-commerce มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 2,283 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 365 ราย (19.03%)
ขณะที่ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 3,979.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 755.31 ล้านบาท (23.42%) ปี 2566 กลุ่มธุรกิจ e-commerce มีรายได้รวม 444,101.69 ล้านบาท
5) กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่ ธุรกิจการผลิตภาพยนต์ วิดีทัศน์ รายการโทรทัศน์ และการตัดต่อภาพและเสียง รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมตลาด พัฒนา การจับคู่ธุรกิจ และนำเสนอกับผู้ซื้อลิขสิทธิ์ทั่วโลก เช่น จัดตั้งศูนย์บริหารเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) การสอดแทรกวัฒนธรรมการท่องเที่ยว/อาหารลงไปในเนื้อหาภาพยนตร์ และผลักดันพื้นที่ต่างๆ สู่การเป็นศูนย์กลางเมืองถ่ายภาพยนตร์ระดับโลก
ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีรายได้รวมกว่า 43,122.90 ล้านบาท ปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 242 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 22 ราย (10%)
ขณะที่ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 630.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 340.09 ล้านบาท คิดเป็น 1.16 เท่า หรือ 116.92%
5 ธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว
1) ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี ได้แก่ ธุรกิจผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ขั้นต้น ขั้นกลาง เหล็กแผ่น ธุรกิจผลิตโลหะมีค่า ธุรกิจผลิตโลหะที่เป็นโครงสร้างของการก่อสร้างอาคาร ธุรกิจผลิตเครื่องประดับ การเจียระไนเพชรพลอย เป็นต้น ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี ปี 2567 เผชิญการถดถอยทั้งจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจและมูลค่าทุนจดทะเบียน
โดยปี 2567 (ม.ค. – พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 306 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 18 ราย (5.56%) และมูลค่าทุนจดทะเบียน 2,492.42 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 73.14 ล้านบาท (2.85%) ปี 2566 ธุรกิจมีรายได้รวมอยู่ที่ 1.87 ล้านล้านบาท
ลูกค้ารายสำคัญของธุรกิจนี้เป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงได้ชะลอการซื้อลงจากผลกระทบด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับในตลาดปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ (เพชรแล็บ) ที่มีราคาถูกเข้ามาตีตลาด ทำให้ความต้องการอัญมณีในตลาดโลกลดลง
ในส่วนของการผลิตเหล็กเผชิญปัญหาการเข้ามาของสินค้าเหล็กจากต่างประเทศซึ่งมีราคาถูก ขณะที่การผลิตเหล็กในประเทศไทยต้องมีการนำเข้าและมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าทำให้ขาดสภาพคล่อง ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขายสินค้า
2) ธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกแบบออฟไลน์ (ร้านค้าโชห่วย) ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่นๆ ในร้านค้าทั่วไป กลุ่มธุรกิจฯ ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้ามากขึ้น ปี 2567 (ม.ค. – พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 1,466 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 18 ราย (1.21%)
มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,004.79 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 4.51 ล้านบาท (0.22%) ปี 2566 ธุรกิจมีรายได้รวมอยู่ที่ 3.76 แสนล้านบาท
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลดลง คือ ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ (e-Commerce) มากขึ้น การแข่งขันจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถดำเนินธุรกิจด้วยต้นทุนต่ำกว่า และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย
3) ธุรกิจสื่อและการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ ได้แก่ ธุรกิจพิมพ์หนังสือพิมพ์และวารสาร ธุรกิจจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่โบรชัวร์ใบปลิวและสิ่งพิมพ์อื่นๆ ธุรกิจกิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์ฯ (จำหน่ายฟิล์มภาพยนตร์ให้แก่โรงภาพยนตร์ เครือข่ายโทรทัศน์ ฯลฯ) เป็นต้น
ธุรกิจฯ ถดถอยอย่างชัดเจน ปี 2567 (ม.ค. – พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 13 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 17 ราย (56.67%) มูลค่าทุนจดทะเบียน 10.40 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 34.20 ล้านบาท (76.68%)
ปี 2566 ธุรกิจมีรายได้อยู่ที่ 8.15 พันล้านบาท สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล สื่อออฟไลน์ถูกแทนที่ด้วยสื่อออนไลน์ที่มีความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถวัดผลจากการทำโฆษณาได้อย่างแม่นยำมากกว่าการตลาดแบบออฟไลน์
4) ธุรกิจแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ได้แก่ ธุรกิจแปรรูปและการถนอมผลไม้และผักด้วยวิธีอื่นๆ ธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำด้วยการอบแห้ง การรมควัน การทำเค็ม การหมักในน้ำเกลือ หรือน้ำส้มสายชูธุรกิจการผลิตเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีกด้วยการ อบแห้ง การทำเค็มหรือการรมควัน
ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ปี 2567 (ม.ค. – พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 123 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 40 ราย (24.54%) มูลค่าทุนจดทะเบียน 311.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 294.43 ล้านบาท (5.87%) ปี 2566 ธุรกิจมีรายได้อยู่ที่ 5.71 หมื่นล้านบาท
โดยได้รับผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อผลผลิตมีจำนวนลดน้อยลง รวมทั้งมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยลดลง ต้นทุนทางการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจนี้ให้มีการจัดตั้งลดลง
5) ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า ได้แก่ ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและตัวแทนออก ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้า ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า ปี 2567 (ม.ค .- พ.ย.) มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 2,037 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 357 ราย (14.91%) มูลค่าทุนจดทะเบียน 5,865.61 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 6,565.32 ล้านบาท (52.81%) ปี 2566 ธุรกิจมีรายได้รวมอยู่ที่ 2.63 แสนล้านบาท
สาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และภาวะกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวม ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อความต้องการในกลุ่มนายหน้า นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้ซื้อผู้ขายสามารถติดต่อกันโดยตรง ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจตัวแทนและนายหน้าเผชิญกับความท้าทายมากยิ่งขึ้น
ปี 2568 ภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอแนะนำให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต/การบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจและเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันในลักษณะการช่วยเหลือเกื้อกูล นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง มีการใช้ Data เป็นตัวช่วยตัดสินใจทางธุรกิจ และปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องติดตามข่าวสารและแนวโน้มการประกอบธุรกิจทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ประกอบการที่รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและสามารถปรับตัวได้ทัน จะช่วยให้สามารถรับมือและนำพาธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจและธุรกิจมีความมั่นคง” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย