Onlinenewstime.com : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พาไปสำรวจ 3 นวัตกรรมการจัดการ “ขยะ” ที่จะช่วยเติมพลังงานบวกทางความคิด และเติมแรงบันดาลใจในการจัดการขยะว่า ในยุคที่ขยะล้นโลก มนุษย์บนโลกนี้มีการบริหารจัดการขยะ ลดทอนการเกิดขยะไร้ค่า และสร้างสรรค์ให้เกิดเป็น “พลังงานไฟฟ้า” ซึ่งสร้างมูลค่าและคุณค่าที่เต็มเปี่ยมประโยชน์มหาศาลคืนสู่ชุมชน สังคม และประเทศอย่างไร
1. จาก ‘เสื้อเก่าและเศษผ้า’ สู่พลังงานไฟฟ้าคืนสู่ชุมชน
เศษผ้า เสื้อเก่าที่ไม่ใช้แล้ว หลายครัวเรือน มักจะนำมาใช้งานต่อเป็นผ้าขี้ริ้ว หรือจะประยุกต์นำเสื้อยืดเก่ามาตัดแขนเป็นเสื้อแขนกุดตัวใหม่ ตัดเย็บเพิ่มเติมให้สวยงามเพื่อไม่ให้เสื้อผ้าต้องถูกทิ้งเป็นขยะ แต่รู้หรือไม่ว่า เศษผ้าหรือเสื้อเก่า เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้
ด้วยการคัดแยกส่วนที่ไม่ใช่เนื้อผ้า เช่น กระดุม ซิป ออกไปใช้ซ้ำได้ จากนั้นแยกประเภท เช่น ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าใยธรรมชาติ เพื่อไปจัดการให้ถูกวิธี ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการเผาขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า (Incineration) เกิดเป็นพลังงานหมุนเวียนคืนสู่สังคม ตัวอย่างจากแบรนด์เสื้อผ้า H&M ในประเทศสวีเดน นำเสื้อผ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือมีเชื้อรา ซึ่งไม่สามารถจำหน่ายได้ ส่งให้โรงงานไฟฟ้าเวสเตอร์โรสผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
2. แปลง “กิ่ง ก้าน ใบ” ให้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า
วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ แกลบ ซังข้าวโพด ฟางข้าว ใบอ้อย แทนที่จะปล่อยให้ย่อยสลายไปเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์ หรือเผาไหม้กลางที่โล่งแจ้ง ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ PM 2.5 วัสดุเหล่านี้เป็นอินทรีย์วัตถุชั้นดี ที่กักเก็บพลังงานจากธรรมชาติ เพื่อนำมาแปลงเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าได้
ด้วยการนำเข้ากระบวนการเพื่ออัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงแบบเม็ดขนาดเล็ก (Pellets) หรือแบบก้อนขนาดใหญ่ (Briquettes) โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีตัวอย่างจาก บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ได้รับซื้อของเหลือใช้ทางการเกษตรตรงจากเกษตรกร มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง ที่ได้มาตรฐานสำหรับไฟฟ้าผ่านเทคโนโลยี Electrostatic Precipitator
หรือตัวอย่างจากเอสซีจี ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงทดแทน ในการกระบวนการผลิตซีเมนต์อยู่แล้ว ร่วมมือกับสยามคูโบต้า รับซื้อเศษผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้หม้อเผาปูนซีเมนต์ที่เอสซีจีมี แปรรูปเหล่าฟางข้าว ใบอ้อย ให้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อใช้ในการผลิตซีเมนต์
3. กากมันสำปะหลัง ของเหลือจากการผลิตทั่วไทย แปรรูปสู่การผลิตกระแสไฟฟ้า
จากรายงานสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปีพ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง กว่า 9.4 ล้านไร่ โดยมันสำปะหลัง มีบทบาทสำคัญในการส่งออกและอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลัง แป้งสาคู ขณะเดียวกัน มันสำปะหลังก็สามารถนำมาผลิตเป็นเอทานอลบริสุทธิ์ 99.5% เพื่อผสมน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทุกขั้นตอนการผลิตย่อมมีของเหลือคือ กากมันสำปะหลัง และน้ำเสีย ดังนั้นเมื่อสัดส่วนการปลูกที่มีขนาดใหญ่ในประเทศ การปล่อยให้ของเหลือ ทิ้งไว้โดยไร้ประโยชน์ และกลายเป็นขยะล้นประเทศจึงไม่ดีนัก
ซึ่งบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด จ.อุบลราชธานี จึงจัดตั้งโรงผลิตก๊าซชีวภาพ และพลังงานไฟฟ้าจากกากมันสำปะหลัง นำกากมันสำปะหลังมาเข้ากระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เพื่อนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า จำหน่ายให้การไฟฟ้าและกระจายสู่ชุมชนในลำดับถัดไป รวมทั้งยังเปิดพื้นที่ในโรงงาน จัดอบรมสร้างความรู้ให้แก่เกษตรกรไทย และผู้ที่สนใจในการเปลี่ยนกากมันสำปะหลังเป็นพลังงานอีกด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้จัดตั้งโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground ในลักษณะโครงการประกวดสร้างผลงานนวัตกรรมสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และเผยแพร่สาระความรู้ด้านการจัดการขยะ และนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะให้บุคคลทั่วไป ภายใต้แคมเปญ CLEAN ENERGY FOR LIFE ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน
โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้า สามารถติดตามความเคลื่อนไหวตลอดโครงการได้ที่ www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand/