Onlinenewstime.com : นอสตร้า โลจิสติกส์ ผู้พัฒนาโซลูชันและแพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการงานขนส่งและโลจิสติกส์ และระบบบริหารจัดการขนส่งอัตโนมัติครบวงจร เปิดเผย 3 เทรนด์เทคโนโลยีการขนส่งและโลจิสติกส์ที่น่าจับตาประจำปี 2566 ย้ำภาพรวมอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์โลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ด้านสถานการณ์ประเทศไทย คาดในปี 2565-2567 ธุรกิจบริการขนส่งสินค้าทางถนน มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3-5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจยังต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ชูการใช้ 3 เทรนด์เทคโนโลยีขนส่งล่าสุดเสริมประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาการทำงานได้ตรงจุด สร้างการเติบโตทั้งระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นางวรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด กล่าวว่า จากรายงานแนวโน้มด้านธุรกิจในปี 2566 พบว่า อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ทั่วโลกจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก เช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศไทย คาดการณ์ว่าในปี 2565-2567 ธุรกิจบริการขนส่งสินค้าทางถนนมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3-5 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง และนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับปรุงภาพรวมการดำเนินงานของทั้งองค์กร สำหรับด้านการบริการขนส่งและโลจิสติกส์
ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันทันสมัยเข้ามาช่วยพัฒนาและปรับปรุงการทำงานของธุรกิจได้มาก ซึ่งเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทสำคัญต่อจากนี้จะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นสำคัญ คือ “การเชื่อมเครือข่าย (Connect), จัดการข้อมูล (Manage) และวิเคราะห์คาดการณ์ผลลัพธ์ (Analyze & Predict)
โดยจะต้องปรับปรุงระบบเทคโนโลยีการทำงานขนส่งและโลจิสติกส์ให้อยู่ภายใต้ระบบนิเวศทางเทคโนโลยีเดียวกันตลอดซัพพลายเชน (Supply Chain Technology Ecosystem) อันเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการเวลาและกิจกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง
สอดคล้องกับ 3 เทรนด์เทคโนโลยีสำคัญด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ในระดับโลกในปี 2566 นี้
- การเชื่อมเครือข่ายภายในซัพพลายเชน (Supply Chain Network Connection) – การเชื่อมโยงและทำให้ทุกระบบจัดการงานขนส่งและโลจิสติกส์ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย โดยใช้เทคโนโลยี Cloud ที่สามารถส่งถ่ายข้อมูลระหว่างระบบและเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถติดตามสถานะและข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ โดยระบบที่ทำงานร่วมกันจะมีความสามารถในงานขนส่งมากขึ้น เช่น การจับคู่ความสามารถของน้ำหนักการบรรทุกของรถขนส่งจากผู้ให้บริการหลายรายกับสินค้าที่จะจัดส่งในแต่ละเที่ยว การประเมินระยะเวลาการจัดส่ง การเลือกเส้นทางที่เหมาะสม การประเมินโอกาสการวิ่งรถเที่ยวกลับ เป็นต้น
- นวัตกรรมระบบบริหารจัดการงานขนส่ง (Transportation Management System Innovation หรือ TMS ) – เป็นระบบบริหารจัดการงานขนส่งที่ใช้ในธุรกิจบริการขนส่งและโลจิสติกส์มานาน หัวใจสำคัญของ TMS คือ การจัดการต้นทุนการขนส่ง ดังนั้นการพัฒนาระบบยังคงมุ่งเน้นการวิเคราะห์และบริหารทรัพยากรด้านการขนส่งสร้างเส้นทางการวิ่งรถแบบแวะหลายจุดส่ง และให้ข้อมูลตัวเลือกจากต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำกว่า สำหรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาปรับปรุงความสามารถของ TMS ได้แก่ 1) AI เพื่อใช้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดต่างๆ เช่น ความสามารถของการบรรทุก กฎระเบียบจราจร ชั่วโมงการขับรถ ฯลฯ ช่วยประเมินสถานการณ์พร้อมเสนอทางเลือก และวิเคราะห์ผลลัพธ์ได้แม่นยำขึ้น เช่น การประมาณเวลาที่รถขนส่งจะมาถึงปลายทาง (ETA) 2) IoT การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์และระบบจัดการการขนส่งและโลจิสติกส์แบบเรียลไทม์ ช่วยให้การบริหารธุรกิจคล่องตัวและมีประสิทธิภาพโดยการปรับปรุงระบบให้สามารถตรวจสอบและจัดการกับสินทรัพย์และยานพาหนะได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที
- การจัดการช่วงเวลาเข้าออกของรถบรรทุกสินค้า (Time Slot Management) ถือเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นในงานขนส่ง เนื่องจากการพัฒนาระบบการทำงานที่มีข้อมูลอัปเดตช่วงเวลาเข้าออกของรถบรรทุกสินค้าจะช่วยให้สามารถจัดทรัพยากรในคลังสินค้า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรถบรรทุกที่จะเข้ามาได้โดยสะดวกและรวดเร็ว เช่น ข้อมูลการประมาณเวลาที่รถจะเข้าถึงคลังสินค้า (ETA) ตำแหน่งที่จอดรถรับส่งสินค้าภายในคลังสินค้า พิกัดท่าสินค้าที่รถบรรทุกกำลังมาถึง ฯลฯ นอกจากนี้ บางธุรกิจ รถขนส่งสินค้ามีหน้าที่ส่งตรงวัตถุดิบ หรืออะไหล่เข้าสู่สายการผลิตโดยตรง ฉะนั้นเวลาในการเข้าถึงจุดส่งสินค้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อไม่ให้กระทบกับการผลิต อีกทั้งการใช้ระบบที่มีความสามารถในการจัดการช่วงเวลาจะสามารถลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น เหตุฉุกเฉิน การจราจรติดขัด เหตุพลาดการนัดหมาย ด้วยระบบจะจัดเวลาการจัดส่งใหม่และแก้ไขการนัดหมาย ทำให้มีข้อมูลอัปเดตอย่างทันท่วงทีและไม่เสียเวลารอคอย
นางวรินทร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงประโยชน์ของการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และมองหาโซลูชันเทคโนโลยีที่สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กร
NOSTRA LOGISTICS ในฐานะเชี่ยวชาญด้านโซลูชันและแพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการงานขนส่งและโลจิสติกส์แบบครบวงจร พร้อมเดินหน้าสนับสนุนและให้บริการระบบต่าง ๆ ที่รองรับการทำงานขนส่งให้แก่ธุรกิจทุกขนาด อย่างครบถ้วนในที่เดียว อาทิ ระบบติดตามยานพาหนะแบบติดตั้งกล่อง GPS, ระบบติดตามพนักงานขนส่งผ่านสมาร์ตโฟนด้วย ePOD Application,
เทคโนโลยีตรวจสอบแจ้งเตือนความปลอดภัยด้วยระบบ All In One, กล้อง MDVR และอุปกรณ์เทเลเมติกส์, ระบบบริหารจัดการงานขนส่งอัตโนมัติ (TMS) หรือแม้แต่ระบบจัดการงานซ่อมบำรุงผ่านสมาร์ตโฟน MMS Application ฯลฯ
ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม NOSTRA LOGISTICS ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลงานขนส่งและโลจิสติกส์ และเชื่อมโยงการทำงานทุกระบบเข้าด้วยกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น ระบบ EMS, WMS หรือระบบ GPS Tracking จากหลากหลายผู้ให้บริการ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ คาดการณ์และนำเสนอทางเลือก ตลอดจนสรุปรายงานพร้อมแดชบอร์ดแสดงผลที่เข้าใจง่าย พร้อมใช้งาน
“NOSTRA LOGISTICS พร้อมเดินหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบริหารการขนส่งและโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมุ่งศึกษาและนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับปรุงพัฒนาความสามารถของระบบให้ทันสมัย
รวมทั้งการหาแนวทางปิด pain point สนับสนุนการแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบโจทย์การทำงานภาคธุรกิจอย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมเป้าหมายที่จะสร้างให้เกิดความยั่งยืนในภาพอุตสาหกรรมองค์รวมต่อไป” นางวรินทรกล่าวทิ้งท้าย
***(ข้อมูลอ้างอิงเทรนด์เทคโนโลยีโลจิสติกส์ ปี 2566 จาก Forbes)