fbpx
News update

เตรียมพร้อม “รับมวลน้ำจากภาคเหนือ” สทนช. ระดมทุกหน่วยพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 9 – 10 ก.ย. 67 จะมีน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้น 1.5 พัน – 2 พัน ลบ.ม./วินาที

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 67 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ ครั้งที่ 7/2567 โดยมี นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จังหวัดในกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง สำนักการระบายน้ำ กทม. เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

จากนั้นได้ลงพื้นที่ติดตามจุดเสี่ยงคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ อาคารชลศาสตร์ ในเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และลงเรือตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง คลองบางบาล อ.ผักไห่ และ อ .เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานในส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประกอบด้วย จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี

เพื่อเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝนในเดือน ก.ย.นี้ ที่มีการคาดการณ์ว่าปริมาณฝนมีแนวโน้มจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงฤดูฝน ทำให้เกิดฝนตกหนักขึ้นในหลายพื้นที่ ประกอบกับอยู่ในช่วงเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน และขึ้นฝั่งทางเกาะไหหลำ โดยจะเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน ประมาณเช้าวันที่ 8 ก.ย. 67

ดังนั้น จึงคาดว่าในช่วงวันที่ 8 – 13 ก.ย. 67 จะมีฝนตกเพิ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (บริเวณแม่น้ำโขง) ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งได้มีการเตรียมพื้นที่รองรับน้ำในเขื่อนต่าง ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝนไว้แล้ว

รวมถึงจะมีการใช้พื้นที่หน่วงน้ำ เช่น ทุ่งบางระกำ บึงบอระเพ็ด เพื่อใช้ในการลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาด้วย

การประชุมในช่วงเช้า สทนช. ได้เสนอแบบจำลองคาดการณ์ปริมาณน้ำจากสถานการณ์ฝนช่วงเดือน ก.ย. คาดว่าจะมีปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานี C.2 ที่ จ.นครสวรรค์เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปริมาณน้ำสูงสุดอยู่ที่ 2,000 ลบ.ม./วินาที และจะส่งผลให้ในช่วงวันที่ 9 – 10 ก.ย. 67 จะมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น อยู่ในอัตรา 1,500 – 2,000 ลบ.ม./วินาที

ซึ่งได้มีประเมินพื้นที่รับผลกระทบเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมในบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ของ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี จึงได้ขอให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมในเชิงป้องกันล่วงหน้าเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และในช่วงบ่ายหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมตรวจติดตามความพร้อมอาคารชลศาสตร์ คันกั้นน้ำจุดต่าง ๆ

รวมถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำจังหวัดอยุธยา ตลอดแนวคลองโผงเผง คลองบางบาล อ.ผักไห่ และ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้วางแผนรองรับสถานการณ์ล่วงหน้าได้ด้วย

“ในวันนี้ทุกหน่วยงานได้ร่วมเสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมของจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา โดยให้มีการบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ประกอบด้วย ย่านนิคมอุตสาหกรรม อุทยานประวัติศาสตร์ และพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของอาคารชลศาสตร์ คันกั้นน้ำ อุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องกล การประสานงานเครือข่ายความช่วยเหลือทั้งภาครัฐและเอกชน”

การแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงชุมชนกำนันผู้ใหญ่บ้านในทุกพื้นที่ การเตรียมการอพยพและศูนย์พักพิงสำหรับประชาชน การให้ความช่วยเหลือเยียวยา โดยได้ขอให้กรมชลประทานประสานแจ้งแผนการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเป็นรายวันให้กับทุกจังหวัดเพื่อเตรียมการ

รวมถึงแจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อประกาศแจ้งเตือนผู้เดินเรือสินค้าและเรือโดยสารสำหรับใช้วางแผนบริหารจัดการการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ประเมินว่าสถานการณ์ฝนทางตอนบนของประเทศจะคลี่คลายลงในช่วงกลางเดือน ก.ย. 67 และจะเคลื่อนที่ลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาบริเวณภาคกลาง จึงมีมติให้ปิดศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ที่ จ. สุโขทัย และมาตั้งอยู่ที่ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 67 เป็นต้นไป เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย

error: Content is protected !!