Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยผลวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งพบ ‘ธุรกิจสัตว์เลี้ยง’ โตต่อเนื่อง 5 ปีที่ผ่านมาหลังผู้บริโภคหันมาเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงามากขึ้นจนเสมือนเป็นคนในครอบครัว ส่งผลให้ธุรกิจ 3 กลุ่มเติบโตตามไปด้วยคือ กลุ่มอาหาร/ของเล่น ท๊อปฟอร์มมีอัตราสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า รองลงมากลุ่มบริการ/ดูแล และกลุ่มฟาร์มสัตว์
โดยประเทศไทยมีธุรกิจสัตว์เลี้ยง 5,009 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนเกือบหมื่นล้านบาท ปี 66 รายได้รวม 258,703 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 14,990 ล้านบาท
สำหรับ Exotic Pet เป็นเทรนด์ใหม่ที่ผู้บริโภคมีความนิยมมากขึ้น ด้านการลงทุนจากต่างชาติมี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสูงสุด นอกจากนี้ อนาคตธุรกิจสัตว์เลี้ยงยังสามารถไปต่อได้เพราะมีปัจจัยหลายด้านมาช่วยสนับสนุน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยหันมาอยู่บ้านและใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น รวมถึงการพาสัตว์เลี้ยงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เวลายามว่างเพื่อแก้เหงา จนบางครั้งสัตว์เลี้ยงได้กลายเป็นเสมือนคนในครอบครัว
จากการวิเคราะห์ธุรกิจประจำเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า ‘ธุรกิจสัตว์เลี้ยง’ มีอัตราการเติบโตขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2566) ทั้งจำนวนการจัดตั้งใหม่และทุนจดทะเบียน โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ประเทศไทยมีธุรกิจสัตว์เลี้ยงที่จดทะเบียนนิติบุคคล 5,009 ราย
แบ่งเป็นธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ ฟาร์มสัตว์ 1,233 ราย, อาหาร/ของเล่น 2,138 ราย และบริการ/ดูแล 1,638 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 98,798 ล้านบาท
แบ่งเป็น ฟาร์มสัตว์ 11,966 ล้านบาท, อาหาร/ของเล่น 80,444 ล้านบาท และบริการ/ดูแล 6,388 ล้านบาท
อธิบดี กล่าวต่อว่า “ธุรกิจสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัด 3,900 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 93,342 ล้านบาท รองลงมาคือห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 1,105 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 1,789 ล้านบาท และบริษัทมหาชน 4 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 3,667 ล้านบาท
และเมื่อแยกตามขนาดธุรกิจขนาดเล็ก S มีจำนวนมากที่สุดอยู่ที่ 4,498 ราย รองลงมาเป็นขนาดกลาง M 382 ราย และขนาดใหญ่ L 129 ราย
ในธุรกิจสัตว์เลี้ยงกลุ่มอาหาร/ของเล่นถือเป็นกลุ่มที่เติบโตได้ดีที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากพฤติกรรมที่คนหันมาเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตตามไปด้วย ในปี 2566 ธุรกิจสัตว์เลี้ยงมีรายได้รวมอยู่ที่ 258,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็น 5.79% เป็นกำไรสุทธิ 14,990 ล้านบาท
โดยกลุ่มอาหาร/ของเล่นเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้สูงสุดอยู่ที่ 196,304 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็น 8.64% เป็นกำไรสุทธิ 14,263 ล้านบาท รองลงมากลุ่มบริการ/ดูแล สร้างรายได้ 23,562 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็น 0.96% เป็นกำไรสุทธิ 912 ล้านบาท
และกลุ่มฟาร์มสัตว์ สร้างรายได้ 38,837 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 คิดเป็น 4.11% ประกอบกับมีกำไรสุทธิลดลง 184.74 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจในกลุ่มบริการ/ดูแล มีเทรนด์การเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นธุรกิจที่ให้บริการด้านสุขภาพอย่างธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ บริการรับฝากสัตว์เลี้ยง อาบน้ำ/ตัดขน สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2567 มีการจัดตั้งใหม่ 191 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 7 ราย คิดเป็น 3.80% มีทุนจดทะเบียน 311 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 51 ล้านบาท คิดเป็น 19.62%
อย่างไรก็ดี จากตัวเลขที่ปรากฎในข้างต้นแม้ว่ากลุ่มฟาร์มสัตว์จะมีรายได้ชะลอตัวลง แต่เมื่อพิจารณาในเชิงลึกแล้วจะพบว่า มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งที่กลับสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา (ปี 2566 ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท, ปี 2565 ทุนจดทะเบียน 511 ล้านบาท และปี 2564 ทุนจดทะเบียน 425 ล้านบาท)
เป็นผลมาจากเทรนด์ Petriarchy- Petfluencer- Pet Humanization ที่เป็นการเลี้ยงสัตว์แบบตามใจเป็นพิเศษ สัตว์เลี้ยงดาราที่มีเหล่า Follower พร้อมติดตาม และการเลี้ยงสัตว์เสมือนคนในครอบครัวทำให้เกิดการลงทุนในสุขภาพและความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยงเหมือนคนจริง ๆ และการซื้อของเล่น ของใช้ อาหารแบบพรีเมียมเพื่อตามใจน้อง ๆ ที่เรารัก
นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์การเลี้ยงสัตว์พิเศษ หรือ Exotic Pet มากขึ้น อาทิ สัตว์เลื้อยคลาน งู กิ้งก่ายักษ์ เต่า บุชเบบี้ (ลิงตัวเล็ก) ชินชิล่า และนกแก้ว ซึ่งบางประเภทเป็นสัตว์ที่ต้องมีใบอนุญาตตามอนุสัญญาไซเตสเพราะเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ต้องมีการนำเข้ามาในประเทศไทย
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้ว Exotic Pet จะเป็นสัตว์ที่ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่เยอะมากเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเมืองไม่มีพื้นที่มาก แต่ต้องการมีเพื่อนไว้คลายเหงานั่นเอง
ด้านการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติในประเทศไทยสร้างมูลค่าการลงทุนในธุรกิจสัตว์เลี้ยง 5,333 ล้านบาท แบ่งเป็น ฟาร์มสัตว์ 228 ล้านบาท, อาหาร/ของเล่น 4,807 ล้านบาท และบริการ/ดูแล 298 ล้านบาท โดยมีต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรกคือ สิงคโปร์ มูลค่าการลงทุน 1,647 ล้านบาท รองลงมาออสเตรเลีย 871 ล้านบาท และญี่ปุ่น 728 ล้านบาท
ทิศทางของธุรกิจสัตว์เลี้ยงยังมีอนาคตที่สดใส เพราะตลาดมีการแข่งขันกันมากขึ้น ในขณะที่จำนวนผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน มากไปกว่านั้น สัตว์เลี้ยงได้กลายมาเป็นคอนเทนต์สร้างสีสันในโลกโซเชียล (Petfluencer) สร้างรายได้ให้เจ้าของที่นำเรื่องราวความน่ารักหรือการพาสัตว์เลี้ยงของตนเองไปท่องเที่ยวที่ต่างๆ มาเผยแพร่บนโลกออนไลน์จนเกิดผู้ติดตามและสร้างอิทธิพลทางความคิดจนเกิดการอยากเลี้ยงสัตว์ตามมา
อีกทั้ง การซื้อขายของใช้ อาหาร ขนม หรือของเล่นของสัตว์ที่สินค้ามีความหลากหลายให้เลือกซื้อมากขึ้น มีธุรกิจเกิดใหม่จากวัฏจักรชีวิตสัตว์เลี้ยงที่เรารัก เช่น บริการ Health & Wellness สำหรับสัตว์เลี้ยง และธุรกิจรับจัดงานอวมงคลโดยเฉพาะสำหรับสัตว์เลี้ยง ประกอบกับผู้ผลิตได้ปรับตัวในการผลิตสินค้าให้มีความปลอดภัย
มีรูปแบบที่ทันสมัย การใช้เทคโนโลยีมาช่วยเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยง และเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์เลี้ยงมากขึ้น รวมถึง ปัจจุบันสถานที่ท่องเที่ยวอย่างห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวก็ต่างปรับตัวให้เป็น Pet Friendly ลูกค้าสามารถพาสัตว์เลี้ยงมาเที่ยวด้วยกันได้ จึงทำให้เกิดสังคมคนเลี้ยงสัตว์มารวมตัวกัน และยังมีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย