Onlinenewstime.com : Pulitzer Center องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านสื่อสารมวลชนและการศึกษา จัดนิทรรศการศิลปะ “Our Roots, Our Rainforest” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เพื่อนำเสนอเรื่องราวของป่าฝนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่ได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ผ่านมุมมองของศิลปินในภูมิภาค ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นรอบตัว ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2565
ป่าไม้เขตร้อนเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงพืช สัตว์ และสัตว์ทะเลถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของโลกใบนี้ อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภูมิภาคนี้ยังมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าที่สูงที่สุดในโลกอีกด้วย โดยสูญเสียป่าฝน 1.2 เปอร์เซ็นต์ ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2013
ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากธุรกิจขนาดใหญ่ แผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ จากการมุ่งเน้นในการสร้างเม็ดเงินจากทรัพยากรผืนป่าซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวม ทำให้ผืนป่าไม่สามารถปกป้องผู้คนจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่พร้อมสร้างภัยอันตรายต่อมนุษย์ได้ดีเท่าเดิมอีกต่อไป
นิทรรศการภาพวาด ประติมากรรม และภาพยนตร์ นี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากการรายงานวิกฤตสภาพภูมิอากาศของ Pulitzer Center ที่ต้องการจุดประกายให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของป่าฝนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในมุมมองใหม่ผ่านศิลปะและสื่อสารมวลชน เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ผนวกเข้ากับข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยและรายงาน
นางสาวฟลอรา เปเรรา ผู้อำนวยการด้านการศึกษานานาชาติและการประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า “การผนวกวารสารศาสตร์ การศึกษา และศิลปะเข้าด้วยกัน จะช่วยทำให้สังคมเข้าใจเรื่องราวของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น
ตลอดจนช่วยให้เราเรียนรู้วิธีในการแยกแยะเรื่องจริงออกจากคำกล่าวเลื่อนลอยที่มักอ้างว่าทำเพื่อโลกและผู้คนในโลก แต่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย การจัดนิทรรศการเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของป่าฝนที่ไม่มีใครรู้มาก่อนผ่านงานศิลปะเป็นโอกาสที่ดีจะทำให้มนุษย์ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของเรากับธรรมชาติที่เราอาจจะหลงลืมไป”
นิทรรศการ “Our Roots, Our Forest” เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #ShowMeYourTree ซึ่งต้องการกระตุ้นให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแม่น้ำโขงและที่อื่นๆ หันมาปกป้องป่าฝน โดยจะจัดแสดงผลงานศิลปะจากหลากหลายสาขาวิชาจากศิลปินระดับภูมิภาค เช่น ภาพวาดจากศิลปินหญิงพลัดถิ่นชาวเมียนมาร์ผู้โด่งดัง Chuu Wai และภาพวาดจาก Hour Seyha ศิลปินชาวกัมพูชาที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
นอกจากนี้ Miguel Jeronimo ช่างภาพที่ทำงานที่ประเทศกัมพูชา และนันทิชา โอเจริญชัย นักเขียนชาวไทยและนักกิจกรรมด้านสภาพอากาศ จะนำเสนอคอลเลคชันภาพ AI และภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับชุมชนพื้นเมืองของประเทศไทยอีกด้วย
ในวันเปิดตัวนิทรรศการ Pulitzer Center จะจัด งานเสวนาในหัวข้อ “Our Roots, Our Forest: Why This Matters Now” ในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ณ SEA Junction, BACC ชั้น 3 เพื่อสนทนาเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และ อนาคตของป่าไม้ที่มีความสำคัญกับพวกเราทุกคน
ร่วมเสวนาโดย ภัทชา ด้วงกลัด ผู้รับทุน SEA Rainforest Journalism Fund (RJF), วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อํานวยการแผนงานประเทศไทย RECOFTC (Regional Community Forestry Training Center for Asia and the Pacific), อภิสิทธิ์ เจริญสุข – ชุมชนกะเหรี่ยงพื้นเมืองบางกลอย แก่งกระจาน เพชรบุรี และ กลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ชาวกูย มอร์น มีน จากกำปงธม กัมพูชา