fbpx
News update

PwC ชี้ความสำคัญ ของการเพิ่มขีดความสามารถ การบริหารความเสี่ยงด้านดิจิทัลในองค์กร

onlinenewstime.com : PwC แนะองค์กร ให้มุ่งพัฒนาทักษะ และขยายขีดความสามารถ การบริหารความเสี่ยงด้านดิจิทัล ให้กับหน่วยงานด้านความเสี่ยง  เพื่อช่วยให้ผู้บริหารองค์กร สามารถตัดสินใจด้านความเสี่ยง ในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลได้ดีขึ้น

ด้าน PwC ไทย ชี้หน่วยงานบริหารความเสี่ยงของไทย ยังไม่เข้าใจความเสี่ยงด้านดิจิทัลอย่างถ่องแท้ เตือนผู้บริหารให้เพิ่มทักษะ พร้อมสรรหาบุคลากร ที่มีความสามารถสูงทางด้านดิจิทัล เข้ามาเสริมทัพ เพื่อช่วยให้องค์กรรู้ทันความเสี่ยง และเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลได้อย่างราบรื่น

นางวารุณี ปรีดานนท์ หุ้นส่วนสายงานบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบภายใน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานการประเมินความเสี่ยงขององค์กร หรือ Risk in Review Study ในหัวข้อ “Being a smarter risk taker through digital transformation” ประจำปี 2562 ของ PwC ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ว่า ในขณะที่หลายองค์กรทั่วโลก ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่ง ของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้ว

แต่พวกเขายังคงไม่ได้ตระหนัก ถึงประโยชน์ของการใช้ข้อมูลเชิงลึก ที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจ เกี่ยวกับการลงทุน ในการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลขององค์กร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รายงานดังกล่าว ยังทำการศึกษาวถึง ปัจจัยใดที่เป็นตัวสนับสนุน ให้หน่วยงานด้านความเสี่ยงขององค์กร มีความพร้อมทางด้านดิจิทัล (Digitally fit) ทั้งในแง่ของความสามารถ ในการให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ ในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความสามารถของหน่วยงานด้านความเสี่ยงเอง ในการปรับตัว และปลูกฝังขั้นตอนการปฏิบัติงานใหม่ๆ ที่จำเป็น ต่อการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลขององค์กร

ทั้งนี้ ลักษณะนิสัย 6 ข้อ ที่ช่วยให้หน่วยงานด้านความเสี่ยง สามารถรับมือความเสี่ยงได้เก่งขึ้น ประกอบด้วย

  1. ผนวกแผนงานทางด้านดิจิทัล ให้เป็นส่วนหนึ่ง ของแผนงานหลัก ขององค์กร และมีการปฏิบัติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
  2. หมั่นเพิ่มทักษะ และความสามารถใหม่ๆ ให้กับบุคลากร เพื่อก้าวไปพร้อมๆ กับองค์กร
  3. ศึกษาถึงการนำเทคโนโลยีเกิดใหม่ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กร
  4. ทำให้องค์กรมีความพร้อม ในการรับมือกับความเสี่ยง อย่างทันท่วงที
  5. สร้างการมีส่วนร่วม ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ในโครงการด้านดิจิทัล ที่สำคัญขององค์กร อย่างสม่ำเสมอ
  6. ประสานการทำงาน ให้สอดคล้อง เพื่อทำให้ทุกฝ่าย เห็นถึงภาพรวม ของความเสี่ยงขององค์กร ในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ รายงานของ PwC ประจำปีนี้ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็น ของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ผู้บริหารระดับอาวุโส คณะกรรมการบริษัท และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และ การตรวจสอบภายใน มากกว่า 2,000 คน

รวมถึงสัมภาษณ์ผู้บริหาร และคณะกรรมการ อีกจำนวนมาก เพื่อหาว่า หน่วยงานด้านความเสี่ยง มีความแตกต่างกันอย่างไร เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลขององค์กร

นาย จิม วูดส์หัวหน้าสายงานบริหารความเสี่ยง ประจำ PwC Global กล่าวว่า

“ผู้ประกอบวิชาชีพด้านความเสี่ยง ถือได้ว่า กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เพราะเทคโนโลยี ได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ จากการวิเคราะห์ข้อมูล ไปสู่การนำระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลขององค์กร จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และช่วยให้ผู้บริหาร สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่า ยังมีหน่วยงานด้านความเสี่ยงอีกมาก ที่ยังไม่ได้ตระหนักถึงจุดนี้เท่าใดนัก”

“มีเพียง 22% ของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ตอบแบบสอบถาม ในการสำรวจ CEO Survey ครั้งที่ 22 ของ PwC ที่บอกว่า มีข้อมูลความเสี่ยง ที่ครอบคลุมและเพียงพอ ต่อการตัดสินใจในระยะยาว ซึ่งถือเป็น ตัวเลขเดียวกับรายงานเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานด้านบริหารความเสี่ยง ยังคงไม่ได้ใช้ประโยชน์ จากข้อมูลที่มีอยู่มากมายมหาศาล อย่างเต็มศักยภาพ”

“ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพด้านความเสี่ยง ต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยต้องทำความเข้าใจว่า การพัฒนาขีดความสามารถทางด้านดิจิทัล จะทำให้พวกเขา กลายเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ ที่จะช่วยผู้บริหาร และองค์กรของพวกเขา ได้รับประโยชน์จากโครงการทางด้านดิจิทัลใหม่ๆ”

รายงานยังได้ระบุ องค์ประกอบ ที่สำคัญของ ‘ความสามารถทางด้านดิจิทัล’ ขององค์กร ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. มีความพร้อม ทั้งทางด้านทักษะ และความสามารถ ในการให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ เกี่ยวกับความเสี่ยง และให้ความมั่นใจเกี่ยวกับ โครงการทางด้านดิจิทัลใหม่ๆ ขององค์กรแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  2. ปรับเปลี่ยนขั้นตอน กระบวนการ รวมทั้ง เครื่องมือ และบริการ ของหน่วยงานด้านความเสี่ยง โดยหันมาใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อน และทำให้เกิดการใช้งานแบบดิจิทัล เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยง และสามารถตอบโต้ หรือรับมือกับความเสี่ยงในระดับที่องค์กร สามารถเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลได้

นายวูดส์ ยังกล่าวต่อว่า “องค์กรที่มีหน่วยงาน ด้านความเสี่ยง ที่มีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ จะนำไปสู่ความมั่นใจ ในการรับมือกับความเสี่ยงที่มีมากขึ้น โดยสามารถรับมือได้เร็วขึ้น ปลอดภัยขึ้น และได้รับผลตอบแทน จากการลงทุน ทางด้านดิจิทัลมากกว่าที่คาดหวัง”

“และแม้จะดูเหมือนว่า มีสิ่งที่ต้องทำหลายด้าน เพื่อเพิ่มความสามารถทางด้านดิจิทัล ในระยะแรก แต่แทนที่จะทุ่มเงินลงทุนไปสุดตัวทีเดียว คุณควรเริ่มจาก พัฒนาแผนงานเสียก่อน จากนั้นค่อยมุ่งเน้นไปที่ขั้นตอน แต่ละส่วนที่ต้องทำ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถขององค์กร”

“ผู้ประกอบวิชาชีพด้านความเสี่ยง ควรระบุองค์ประกอบที่สำคัญ ของความ ‘สามารถทางด้านดิจิทัล’ ขององค์กร และมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะเห็นผลตอบแทน กลับมาอย่างรวดเร็ว หากเริ่มลงทุนทั้งเวลา และทรัพยากรที่มีตั้งแต่ตอนนี้”

ด้านนางวารุณี กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันธุรกิจไทย กำลังเผชิญกับความเสี่ยง จากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ไปสู่ดิจิทัลในหลากหลายมิติ และมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าอดีต เช่น ความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น แต่องค์กรส่วนใหญ่ กลับไม่เข้าใจการบริหารความเสี่ยงด้านดิจิทัลอย่างถ่องแท้

ดังนั้น หน่วยงานบริหารความเสี่ยงขององค์กร จำเป็นต้องมีทักษะความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อที่จะรู้ว่า องค์กรจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ และเทคโนโลยีที่องค์กรนำมาใช้นั้น สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างไร พร้อมกับคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และหาแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยง ได้ทันท่วงที

ซึ่งผู้บริหาร จะต้องสรรหาบุคลากร ที่มีความสามารถด้านดิจิทัล หรือพัฒนาทักษะด้านดังกล่าว ให้แก่หน่วยงานบริหารความเสี่ยงองค์กร เพื่อให้พวกเขา กลายเป็นคู่คิด และหาแนวทางบริหารความเสี่ยง ให้องค์กรสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลอย่างมั่นคง”