Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

PwC ชี้ 20% ของบริษัทไทยใช้นโยบายทำงานจากที่บ้าน คาดจ้างงานชั่วคราว-เอ๊าต์ซ้อร์ซมากขึ้น

Onlinenewstime.com : PwC ประเทศไทย เผย 20% ของบริษัทไทยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ ไปสู่การทำงานจากที่บ้านเป็นการถาวร เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงาน

อีกทั้งช่วยลดต้นทุนค่าเช่า และสาธารณูปโภค จากการเช่าสำนักงาน แต่คาดหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ อาจเห็นบริษัทไทย หันมาพิจารณาการจ้างลูกจ้างชั่วคราว (Contingent Workforce) การจ้างหน่วยงาน หรือพนักงานจากภายนอก (Outsource) รวมไปถึงการจ้างผู้มีอาชีพอิสระ (Freelance) มากขึ้น เพื่อสร้างความยืดหยุ่น ในการบริหารกำลังคนและต้นทุน

ดร. ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการทำงาน เปลี่ยนไปสู่การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น จนกลายเป็น ความปกติแบบใหม่ของการทำงานไปโดยสิ้นเชิง     

“เราประเมินว่า 20% ของบริษัทไทย ปัจจุบันมีนโยบาย ให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้เป็นการถาวร เพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงาน และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่าย ในการบำรุงรักษาสำนักงาน

ซึ่งนอกเหนือไปจากนโยบายนี้ ยังมีอีกหลายองค์กรด้วย ที่เลือกใช้วิธีผสมผสานให้พนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศ เพื่อประชุมหรือเวิ้ร์กฉ็อป เพราะการทำงานอยู่ที่บ้านเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดความเครียด และไม่สามารถสร้างสมดุล ระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ โดยจากข้อมูลเราพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ ชอบที่จะทำงานที่บ้านอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์” ดร. ภิรตา กล่าว

ทั้งนี้ จากผลสำรวจ CEO Panel Survey ของ PwC ที่ทำการสำรวจมุมมองซีอีโอ จำนวน 699 รายใน 67 ประเทศทั่วโลก ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2563 ถึงรูปแบบของธุรกิจเกิดใหม่ และแนวโน้มสำคัญ ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  

พบว่า 78% ของผู้นำธุรกิจเชื่อว่า จะหันมาใช้นโยบายการทำงาน จากที่ไหนก็ได้ (Remote Working) มากขึ้น ขณะที่ 76% พึ่งพาการใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ และ 61% ควบคุมความหนาแน่นของสถานที่ทำงาน

ความท้าทายของการทำงานจากที่ไหนก็ได้

อย่างไรก็ดี คุณภาพของงาน และประสิทธิภาพของการทำงาน จากที่ไหนก็ได้ กลายเป็นความท้าทายที่ ผู้นำธุรกิจจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญ ดังนั้น ดร. ภิรตา แนะนำว่า องค์กรจะต้องมีระเบียบปฏิบัติ และเครื่องมือเข้ามาช่วย ในการวัดผลการทำงานแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผู้จัดการ หรือหัวหน้างาน ให้สามารถติดตามงาน เห็นผลลัพธ์ของงาน หรือสามารถช่วยลูกน้องแก้ไขปัญหาของงานได้ทันท่วงที หรือในงานบางอย่าง ก็อาจนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย

นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจแ ละการมีส่วนร่วมของพนักงาน ที่แม้จะทำงานอยู่ที่บ้านนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้นำธุรกิจจะต้องคำนึงถึง โดยฝ่ายทรัพยากรบุคคล ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ในการทำงานรูปแบบใหม่ ให้กับพนักงาน

รวมทั้งหาโอกาส ในการพบปะสังสรรค์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ และเครือข่ายสังคมกับพนักงาน และอาจต้องกำหนดระเบียบปฏิบัติ สำหรับเวลาพักระหว่างวัน และส่งเสริมวัฒนธรรมการเข้า-ออกงานตามเวลา เป็นต้น

หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ และยังไม่แน่นอนว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ ก็เป็นไปได้ว่า บริษัทไทย อาจหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน ไปสู่การจ้างลูกจ้างชั่วคราว ที่เรียกว่า Contingent Workforce การจ้างบริษัท หรือพนักงานแบบเอ๊าต์ซ้อร์ซ หรือการจ้างฟรีแลนซ์ เข้ามาทำงานบางงาน หรือบางโปรเจกต์มากขึ้น

เพื่อช่วยให้บริษัท มีความยืดหยุ่นในการบริหารกำลังคนและต้นทุน เพราะรูปแบบการจ้างงานเหล่านี้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ ต้องจ่ายให้กับพนักงานประจำในระยะยาวได้ดี สอดรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง” ดร. ภิรตา กล่าว

ดร. ภิรตา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน หรือวิธีการจ้างงาน อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของพนักงาน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะความยืดหยุ่น และการปรับตัว (Flexibility and Adaptability) จะเป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้บุคลากรขององค์กร สามารถเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงาน และปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทัน และเหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ขณะ

Exit mobile version