fbpx
News update

PwC ประเทศไทย ชี้ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงินในอนาคต

Onlinenewstime.com : PwC ประเทศไทย ชี้ภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงินในอนาคต หลังประชาคมโลกออกกฎเกณฑ์ เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น การซื้อคาร์บอนเครดิตที่อาจส่งผลต่อการด้อยค่าสินทรัพย์ หรือเครื่องมือทางการเงินสีเขียว ที่อาจส่งผลต่อการลงบัญชี แนะผู้ประกอบการทำความเข้าใจ และประเมินความเสี่ยงของการกำหนดเป้าหมายรักษ์โลกที่มีต่อรายงานทางการเงินขององค์กร เพื่อสามารถวางแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

นางสาวสินสิริ ทังสมบัติ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างตื่นตัวในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นวาระเร่งด่วน ที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อเดินหน้าไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสานต่อพันธกิจของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26)

ที่ประชาคมโลกได้มีการทำความตกลงเรื่องเป้าหมายและมาตรการต่าง ๆ ในการพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยปัญหานี้ นอกจากจะส่งผลกระทบทางกายภาพ การออกกฎระเบียบต่าง ๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ยังจะส่งผลกระทบกับงบการเงินในอนาคต 

“ภาวะโลกร้อน นอกจากจะส่งผลกระทบทางกายภาพ การออกกฎระเบียบต่าง ๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ยังจะส่งผลกระทบกับงบการเงินด้วย

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ได้มีการเผยแพร่เอกสารทางการศึกษา ซึ่งพูดถึงประเด็นทางบัญชีต่าง ๆ เช่น พันธกิจในการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือการซื้อคาร์บอนเครดิตที่อาจส่งผลต่อการด้อยค่าสินทรัพย์ และการออกเครื่องมือทางการเงินที่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องทำการศึกษาถึงรายละเอียดและผลกระทบที่อาจมีต่องบการเงิน ก่อนที่จะกำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใด ๆ” นางสาว สินสิริ กล่าว

ภาวะโลกร้อน กับการด้อยค่าของสินทรัพย์

นางสาว สินสิริ กล่าวว่า ภาวะโลกร้อน อาจส่งผลให้เกิดข้อบ่งชี้ของการด้อยค่าของสินทรัพย์ในบางธุรกิจ โดยทำให้กิจการจะต้องทำการทดสอบการด้อยค่า เช่น รัฐบาลในบางประเทศ อาจมีการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ ซึ่งหากมีการปล่อยก๊าซพิษเกินกำหนด จะต้องมีการซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

หรือกรณีพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการในสินค้าบางประเภทลดลง เช่น แนวโน้มของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถที่ใช้น้ำมัน ดังนั้น กิจการต้องประเมินว่า เครื่องจักรต่าง ๆ จะสามารถก่อให้เกิดกระแสเงินสดที่ครอบคลุมมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์หรือไม่ เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่บางบริษัท อาจมีการสื่อสารต่อสาธารณชนถึงการดำเนินธุรกิจที่แสดงรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มีกฎหมายใด ๆ มาบังคับ เช่น สื่อสารว่า จะหันมาใช้เครื่องจักรที่ใช้พลังงานสะอาด ทดแทนเครื่องจักรเก่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งการสื่อสารในลักษณะนี้ อาจสร้างความคาดหวังต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น ในการทำประมาณการกระแสเงินสดจากการใช้เครื่องจักรจากเดิมตามอายุการใช้งานปกติอาจทำให้สั้นลง ซึ่งกรณีนี้อาจส่งผลต่อการด้อยค่าได้

ศึกษาและทำความเข้าใจเครื่องมือทางการเงินสีเขียว

นางสาว สินสิริ กล่าวต่อว่า กิจการ จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินที่มีการกำหนดเงื่อนไขเชื่อมโยงกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

โดยปัจจุบัน มีเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ เช่น ตราสารหนี้สีเขียว และสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ที่อ้างอิงจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกิจการ ทำให้อัตราดอกเบี้ยอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้

ซึ่งในกรณีดังกล่าว กิจการจะต้องเข้าใจถึงเหตุผลของการเชื่อมโยงของอัตราดอกเบี้ยกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ว่าเป็นเพราะเหตุใด 

“หากกิจการดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายที่ควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะต้องปฏิบัติตาม และหากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็อาจส่งผลให้กิจการถึงขั้นต้องปิดโรงงาน ซึ่งถ้าผลเป็นเช่นนี้ เราอาจตีความได้ว่า อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับความเสี่ยงของกิจการ หรือ Credit Risk

ดังนั้น กิจการจะต้องบันทึกดอกเบี้ยตามวิธีอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง และเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามช่วงเวลาที่กิจการมีความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงไป”

“ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับกิจการโดยตรง ผู้บริหาร จะต้องประเมินเรื่องของอนุพันธ์แฝงที่อยู่ในสัญญาเงินกู้ ซึ่งจะต้องแยกอนุพันธ์ดังกล่าวออกมา หรือรวมในตราสารเงินกู้แล้ววัดด้วยมูลค่ายุติธรรม ซึ่งวิธีการบัญชีจะต้องใช้การวิเคราะห์เนื้อหาของสัญญาเพื่อดูว่า จะต้องลงบัญชีเช่นไร และจะเห็นได้ว่า เรื่องนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ”

นอกจากนั้น เรื่องของการประมาณการหนี้สิน ในกรณีที่กิจการมีภาระในการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่แทนเครื่องจักรเก่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กิจการ จะต้องประเมินถึงผลกระทบกับระยะเวลาในการรื้อถอนและตัวเลขหนี้สินจากประมาณการรื้อถอนในงบการเงิน 

สำหรับประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมด้วย เช่น มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินค้าคงเหลือลดลงหรือไม่ จากการที่ต้นทุนผลิตสูงขึ้น หรือการลดลงของราคาสินค้าเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการของสินค้าลดลง และภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจะได้ใช้หรือไม่ หากกำไรในอนาคตมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน เป็นต้น

ความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูล

นอกจากผลทางด้านตัวเลขแล้ว นางสาว สินสิริ กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากรายการทางบัญชีหลายรายการ อาศัยการประมาณการข้อสมมติฐานต่าง ๆ ดังนั้น กิจการควรเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจถึงที่มาของตัวเลข ความอ่อนไหวของข้อมูล ข้อสมมติฐานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่กิจการกำลังเผชิญอยู่ และการบริหารความเสี่ยงของกิจการด้วย

สิ่งที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การใช้ข้อมูลที่สอดคล้องกันระหว่างฝ่ายบัญชีการเงินและฝ่ายที่ดูแลรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดทำประมาณการต่าง ๆ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ผู้ประกอบการควรต้องประเมินว่า ธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมใดที่อาจจะกระทบกับตัวเลขในงบหรือไม่ และมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อรับทราบถึงผลกระทบ และจัดทำรายงานทางการเงินให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม”

“ในระยะถัดไป ภาวะโลกร้อนจะยิ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับทุก ๆ องค์กรและหน่วยงานธุรกิจ ที่ต้องหันมากำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษ์โลก และต้องสร้างผลกำไรอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ บนพื้นฐานของการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นางสาวสินสิริ กล่าวทิ้งท้าย