fbpx
News update

PwC แนะธนาคาร-ภาคการเงินไทยเตรียมพร้อมการวัดความเสี่ยงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

Onlinenewstime.com : PwC แนะธนาคารและภาคการเงินของไทย ตื่นตัวในเรื่องการบริหารความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ หลังมีแนวโน้มว่า จะมีการนำ Climate Risk Stress Test มาใช้ในอนาคตอันใกล้

ชี้หน่วยงานกำกับดูแลในสิงคโปร์-มาเลเซีย ออกข้อแนะนำและแนวปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผลการทดสอบ CST ของ ECB พบธนาคารในยูโรโซนส่วนใหญ่ ไม่ได้นับรวมความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศไว้ในโมเดลด้านสินเชื่อของตน 

นางสาว สุ อารีวงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตื่นตัวในการประเมินการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม หรือ สภาพภูมิอากาศ กับการดำเนินงานของธนาคารมากขึ้น

โดยธนาคารกลางของสิงคโปร์[1] และ มาเลเซีย[2] ได้ออกข้อแนะนำ และแนวปฏิบัติในการนำปัจจัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร

ซึ่งในทางทฤษฎี การนำความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นปัจจัยส่วนเพิ่มในการบริหารความเสี่ยงที่ธนาคารมีอยู่เดิม จะทำให้ธนาคารสามารถประเมินผลกระทบของความเสี่ยงได้อย่างมีความแม่นยำมากขึ้น

“กระแสของการดำเนินธุกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ถือเป็นหนึ่งในพลวัตสำคัญของโลก ที่ทุกภาคส่วน รวมทั้งหน่วยงานกำกับร่วมกันผลักดัน ทำให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติ requirement และกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาโลกร้อน” นางสาว สุ กล่าว 

ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลงานกองทุนโดยทางการ (Pillar 2)[3] โดยเพิ่มการคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ในกระบวนการประเมินความเสี่ยงของเงินกองทุน

ซึ่งถึงแม้ว่า ธปท. อาจจะยังไม่ได้ออกแนวทางที่ชัดเจนในปัจจุบัน นางสาว สุ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในหลักเกณฑ์ดังกล่าว ถือได้ว่า เป็นสัญญาณการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในหลักเกณฑ์การนำปัจจัยด้าน ESG มาใช้ในการบริหารความเสี่ยงในอนาคตของธนาคาร

“สำหรับไทยเวลานี้ regulator ของเราน่าจะอยู่ในช่วงศึกษา และพิจารณาแนวทางที่ทางธปท. จะออกมาเป็นแนวปฏิบัติ แต่ถ้าประเมินจากสิ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านได้ทำไปบ้างแล้ว เราน่าจะเห็นการนำ Climate Stress Testing หรือ Environment Stress Testing มาใช้กับภาคธนาคารของไทยในอนาคตอันใกล้ 

ซึ่งตัวอย่างของปัจจัยและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการทำ Stress Testing เช่น ปัญหาภาวะโลกร้อน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนี้ แบงก์จะต้องตื่นตัวในการบริหารความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” เธอ กล่าว 

ล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ได้ประกาศผลการทดสอบภาวะวิกฤตด้านความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Stress Test: CST)[4] พบว่า ธนาคารส่วนใหญ่ นับรวมความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศเข้าในกรอบการทดสอบภาวะวิกฤต แต่ยังขาดประสิทธิภาพและข้อมูลที่เพียงพอ

ทั้งนี้ ผลการทดสอบ CST ของ ECB ที่ถูกจัดทำในช่วงไตรมาสที่ 2 แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าธนาคารในยูโรโซนส่วนใหญ่ จะตื่นตัวในการนำ ESG มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยง แต่ยังพบว่ามีความท้าทายจากการจัดทำแบบทดสอบนี้ เนื่องจากมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอ

อีกทั้งกระบวนการจัดทำรายงานภายในของธนาคาร มีความยุ่งยากและซับซ้อน ระบบการเปิดเผยข้อมูลที่มีโครงสร้างที่แตกต่างกัน และ Climate Risk Framework ที่อาจจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ดังนั้น การจัดทำ CST ของ ECB ครั้งนี้ จึงถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของทั้งหน่วยงานกำกับและธนาคารในแถบยุโรป นางสาว สุ กล่าว

แนะธนาคารผนวกการบริหารความเสี่ยงวิฤตภูมิอากาศ เข้ากับการดำเนินธุรกิจ

นางสาว สุ กล่าวต่อว่า ในระยะต่อไป จะเห็นภาคธุรกิจธนาคารยิ่งต้องปรับกลยุทธ์ โดยผนวกการบริหารความเสี่ยงที่พิจารณาถึงความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และ ESG Risk อื่น ๆ เข้ากับการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น มีการพิจารณาถึงผลกระทบจากระดับ ESG Risk ของลูกค้าแต่ละราย

และมีการนำผลกระทบดังกล่าว มาใช้ในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าที่มีธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ต่ำ รวมไปถึง การออกสินเชื่อสีเขียว (Green loan)

ซึ่งปัจจุบัน เริ่มเห็นธนาคารหลายแห่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ หรือ มีการพูดคุยกับลูกค้า ถึงแนวทางบริหารความเสี่ยงด้าน ESG และมีการเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูล ที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบของความเสี่ยงด้าน ESG ให้มีความแม่นยำมากขึ้น  

“ธนาคารต้องเชื่อมต่อตัวธุรกิจ เข้ากับแผนการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ให้เป็นแบบ End-to-end framework ครอบคลุมไม่ใช่แค่ตัวธุรกิจ แต่รวมถึงสังคม คู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นอกจากนี้ ควรนำเครื่องมือเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยง และออกผลิตภัณฑ์ หรือ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อช่วยให้องค์กรจัดการกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เธอ กล่าว 

นอกจากนี้ รายงาน Risk and Regulatory Outlook 2022 ของ PwC ยังได้แนะนำแนวทางในการ เตรียมตัวสำหรับธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากมีการนำแบบทดสอบภาวะวิกฤตด้านความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศมาใช้ ดังต่อไปนี้

  1. สร้างความสามารถด้านข้อมูลสำหรับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน ธนาคารควรเริ่มเก็บข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ (เช่น อุณหภูมิ และระดับน้ำในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ) และ การปล่อยแก๊สเรือนกระจก ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพยากรณ์ หรือ การวิเคราะห์เชิงสถิติได้ในอนาคต โดยอาจมีการแบ่งประเภทของข้อมูลตามกลุ่มอุตสาหกรรม ทำเลที่ตั้ง หลักที่มีความสำคัญกับลูกค้า (เช่น แหล่งของวัตถุดิบต้นน้ำ หรือ แหล่งรายได้หลักของลูกค้า)  และทำเลที่ตั้งของหลักประกันด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ง่ายต่อการนำข้อมูลมาใช้ และทำให้การประเมินผลกระทบมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
  2. ร่วมมือกับลูกค้าเพื่อการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่มีคุณภาพ ด้วยการจัดทำผลสำรวจเพื่อสอบถามและศึกษาข้อมูลของลูกค้า โดยเพิ่มคำถามเกี่ยวกับขอบเขตคาร์บอนฟุตพริ้นท์ว่า อยู่ในระดับใด รวมทั้งแผนการปรับตัว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะสามารถถูกนำไปใช้ประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และช่วยในการตัดสินใจด้านการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  3. มีจุดยืนเชิงกลยุทธ์สำหรับ Sustainable Financing ธนาคารที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของแผนธุรกิจที่ยั่งยืน จะสามารถตอบสนองกับความต้องการของหน่วยกำกับดูแล และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้ดี ซึ่งรวมถึงกรอบการทดสอบ CST ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
  4. ผนวกความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ เข้ากับกรอบการบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบัน การบริหารความเสี่ยงในปัจจุบัน หมายรวมถึง ความเสี่ยงด้านตลาด เครดิต การปฏิบัติการ และสภาพคล่อง เป็นต้น ซึ่งในอนาคต กรอบการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว จะสามารถระบุ และประเมินผลกระทบความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสามารถนำมาสนับสนุนการบริหารงานเชิงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  5. ยกระดับทักษะและความรู้การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศภายในองค์กร เพื่อให้ธนาคารสามารถปรับตัวตามข้อกำหนด และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศได้ นอกจากนี้ ธนาคารควรสนับสนุนให้ทีมงานบริหารและพิจารณาความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยความเสี่ยงหนึ่ง เสมือนกับปัจจัยความเสี่ยงที่ธนาคารพิจารณาอยู่แต่เดิม
  6. อัปเดตกระบวนการกำกับดูแลที่มีอยู่ให้ครอบคลุมความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ โดยอาจปรับปรุงแนวทางการบริหารความเสี่ยง การวิเคราะห์ และ Stress Testing ที่มีอยู่เดิมให้รวม หรือ สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และมีการนำข้อมูลมาตรวจสอบความถูกต้องของสมมติฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการประเมินผลกระทบ เพื่อให้การคาดการณ์ของธนาคารมีความแม่นยำขึ้น 
  7. นำผลการประเมิน Climate Risk Stress Testing มาใช้ในการบริหารพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร เมื่อธนาคารสามารถประเมินถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในสถานการณ์ต่าง ๆ ธนาคารจะสามารถนำข้อมูลนั้นมาปรับใช้ในการบริหารพอร์โฟลิโอของตน เพื่อมีระดับ Risk vs Return ที่เหมาะสม และคุ้มค่ากับระดับเงินกองทุนที่ธนาคารต้องมีรองรับความเสี่ยงนั้น ๆ 

นางสาว สุ กล่าวว่า การจัดเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในอดีตที่ยังคงมีไม่เพียงพอ ถือเป็นความท้าทายของการบริหารความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทย รวมไปถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ เพราะทำให้การประมาณการความเสียหายจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นไม่ครอบคลุมทุกมิติ และอาจจะไม่มีความแม่นยำเท่าที่ควร

ดังนั้น ภาคธุรกิจควรต้องพิจารณาว่า ข้อมูลอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้ต่อยอดการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ในอนาคต และภาครัฐควรให้การสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้การดำเนินการด้าน ESG ในทุกภาคส่วนมีการพัฒนาขึ้น 


[1]  Guidelines on Environmental Risk Management for Banks, Monetary Authority of Singapore

[2] Exposure Draft on Climate Risk Management and Scenario Analysis, Bank Negara Malaysia

[3] การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลงานกองทุนโดยทางการ (Pillar 2), ธนาคารแห่งประเทศไทย

[4] Banks must sharpen their focus on climate risk, ECB supervisory stress test shows, ECB


  1. Climate Risk Stress Test (CST) คือ การทดสอบเพื่อประเมินความพร้อมของธนาคารในการรับมือกับวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ 
  2. Risk and Regulatory Outlook 2022: Rising tides: Climate risk stress tests and its implications for banks across Southeast Asia, PwC 
  3. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลงานกองทุนโดยทางการ (Pillar 2), ธนาคารแห่งประเทศไทย
  4. Guidelines on Environmental Risk Management for Banks, Monetary Authority of Singapore (MAS)
  5. Discussion Paper on the 2024 Climate Risk Stress Testing Exercise, Bank Negara Malaysia (BNM)