fbpx
News update

PwC สำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลก หลังส่งไม้ต่อให้ผู้นำรุ่นที่ 3  

onlinenewstime.com : PwC เผยผลสำรวจรายได้ของธุรกิจครอบครัวในปีที่ผ่านมาเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปี พบกิจการภายใต้ผู้นำรุ่นแรกเติบโตดีกว่ารุ่นอื่นๆ ด้านผู้นำรุ่นปัจจุบันมั่นใจรายได้ในอีก 2 ปีข้างหน้ายังโตต่อเนื่อง ขณะที่พบธุรกิจครอบครัวมากกว่าครึ่งหรือ 53% ที่มีผลประกอบการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก มีการกำหนดคุณค่าองค์กรที่ชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษร ด้านธุรกิจครอบครัวไทย ผู้นำรุ่นใหม่ยังเผชิญความท้าทายด้านช่องว่างระหว่างวัย การได้รับการยอมรับในฝีมือบริหาร หลังทยอยส่งไม้ต่อการบริหารให้ผู้นำรุ่นที่ 3

นาย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงานธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Global Family Business Survey 2018 ที่ทำการสำรวจธุรกิจครอบครัวจำนวน 2,953 บริษัท ใน 53 ประเทศทั่วโลกว่า รายได้ของธุรกิจในปีที่ผ่านมาเติบโตเป็นเลข 2 หลักซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2550 โดย 84% ของผู้บริหารคาดว่า รายได้ของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ 16% ยังมองด้วยว่า รายได้จะเติบโตอย่าง “รวดเร็ว” และ “ก้าวกระโดด”

นอกจากนี้ ผลสำรวจประจำปีนี้ยังพบว่า ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นแรกมีความสามารถในการเพิ่มรายได้ให้เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักมากกว่าผู้นำรุ่นอื่นๆ อย่างชัดเจน

ขณะที่ 75% ของผู้บริหารธุรกิจครอบครัวเชื่อว่า การมีวัฒนธรรมองค์กรและคุณค่าที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับกิจการได้มากกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว โดย 49% ของผู้บริหารได้มีการกำหนดคุณค่าองค์กรโดยเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

“ผลการดำเนินงานภายใต้การบริหารธุรกิจครอบครัวของผู้นำรุ่นบุกเบิกที่เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักมากกว่ารุ่นอื่นๆนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสมดุลระหว่างการบริหารความต่อเนื่องของรูปแบบทางธุรกิจกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังพบว่าการที่องค์กรมีการกำหนดคุณค่าที่ชัดเจนและมีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรยังส่งผลต่อการกำหนดแผนเชิงกลยุทธ์ในเชิงบวก รวมถึงแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งด้วยเมื่อเทียบกับผู้นำในรุ่นปัจจุบัน จะเห็นว่าผู้นำรุ่นนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หรือแม้แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก”

เมื่อแบ่งเป็นรายทวีปพบว่า ธุรกิจครอบครัวในทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกา แสดงความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้มากที่สุด และ 28% คาดว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตามด้วยธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก (24%) ยุโรปตะวันออก (17%) อเมริกาเหนือ (16%) อเมริกากลางและใต้ (12%) และยุโรปตะวันตก (11%)

สำหรับความท้าทาย 3 อันดับแรกของธุรกิจครอบครัวในอนาคตนั้น ประกอบด้วย นวัตกรรม (66%) การเข้าถึงแหล่งแรงงานที่มีทักษะ (60%) และการเข้าสู่ดิจิทัล (44%) โดย 80% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวมองว่าปัจจัยเหล่านี้ คือความท้าทายที่มีนัยสำคัญ

ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า 53% ของธุรกิจครอบครัวที่มีรายได้เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก สามารถระบุหมวดหมู่คุณค่าองค์กรได้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการผสมผสานกลยุทธ์ความเป็นเจ้าของกับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจครอบครัวเข้าด้วยกัน

ด้านนายปีเตอร์ อิงกลิช หัวหน้าสายงานธุรกิจครอบครัว บริษัท PwC โกลบอล และผู้เขียนรายงานร่วม กล่าวว่า “เป็นที่ชัดเจนว่า การกำหนดคุณค่าองค์กรอย่างแข็งขัน จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติและได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ซึ่งการกำหนดหมวดหมู่คุณค่าองค์กรอย่างชัดเจนจะเป็นเหมือน ‘เข็มทิศภายใน’ ให้กับธุรกิจครอบครัว ที่สามารถใช้นำทางและก้าวข้ามความท้าทายของการเข้ามาของเทคโนโลยี”

“อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผลสำรวจนี้ชี้ไว้ชัด คือ คุณค่าของธุรกิจครอบครัวกับคุณค่าของครอบครัวนั้นไม่เหมือนกัน โดย “คุณค่า” ของธุรกิจครอบครัว ควรต้องได้รับการกำหนดและมีการสื่อสารอย่างชัดเจน โดยต้องฝังลึกลงไปในวัฒนธรรมขององค์กร รวมถึงต้องมีการทบทวนกระบวนการตัดสินใจในแต่ละวันอยู่เป็นประจำ” นาย อิงกลิช กล่าวเสริม

นอกจากนี้ ผลสำรวจธุรกิจครอบครัวของ PwC ยังได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความแตกต่างระหว่างรุ่นที่มีผลต่อการวางแผนส่งมอบกิจการและการวางตัวผู้สืบทอดของธุรกิจครอบครัว ดังนี้

• ธุรกิจครอบครัวในกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อ บันเทิง (65%) ค้าปลีก (53%) และบริการทางการเงิน (52%) มีความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งรายใหม่ๆ ไปจนถึงความปลอดภัย และความเข้าใจถึงภัยคุกคามสูงกว่าค่าเฉลี่ย (30%)

• 26% ขององค์กรขนาดใหญ่ (ที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป) มีความกังวลต่อการเข้ามาของเอไอและหุ่นยนต์ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่ากลุ่มขององค์กรที่มีรายได้ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือน้อยกว่า (16%) อย่างมีนัยสำคัญ

• 69% ของผู้ถูกสำรวจบอกว่า ตนคาดหวัง หรือส่งเสริมให้ผู้นำรุ่นต่อไปในอนาคตรวมถึงสมาชิกในครอบครัวได้รับประสบการณ์และพัฒนาทักษะภายนอกธุรกิจครอบครัว เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถปรับตัวรับมือกับนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

นายอิงกลิช กล่าวต่อว่า “ด้วยธุรกิจครอบครัวและธุรกิจเอกชนมากกว่า 350,000 รายที่มีจะต้องมีการส่งไม้ต่อในอนาคต เนื่องจากผู้นำรุ่นปัจจุบันจะเกษียณ จะยิ่งทำให้เกิดความกังวลถึงความต่อเนื่องของการประกอบธุรกิจ โดยผู้นำรุ่นต่อไปจะยิ่งเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ต่างไป ทั้งในเรื่องของผลกระทบจากเทคโนโลยี เช่น เอไอ หุ่นยนต์ และความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์”

“อย่างไรก็ดี รายงานของเรายังคงชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของวิธีการทำงานที่มีคุณค่าขององค์กรเป็นตัวนำ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้อย่างต่อเนื่อง และวิธีการนี้ยังช่วยดึงดูด และเตรียมความพร้อมด้านทักษะให้กับผู้นำรุ่นต่อไปซึ่งจะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล”

ด้านนาย เดวิด วิลส์ หัวหน้าสายงานผู้ประกอบการและธุรกิจเอกชน บริษัท PwC โกลบอล กล่าวเตือนว่า แม้ว่าผลสำรวจจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและศักยภาพการเติบโตของธุรกิจครอบครัว แต่ผลสำรวจระบุว่า ธุรกิจไม่ได้ประสบความสำเร็จตามคาดเสมอไป

“แม้ว่าธุรกิจครอบครัวจะมีความทะเยอทะยานที่จะประความสำเร็จอย่างแรงกล้า แต่การวางแผนเชิงกลยุทธ์ยังคงเป็นจุดบอดของธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก โดย 21% ยอมรับว่า ไม่มีการวางแผนเชิงกลยุทธ์เลย ขณะที่ 30% มีแผนกลยุทธ์อยู่ในใจแต่ไม่ได้มีการปฏิบัติการให้เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ในทางกลับกัน 49% ของกลุ่มธุรกิจครอบครัวที่มีการวางแผนเชิงกลยุทธ์อย่างเป็นทางการในระยะกลาง 42% ในกลุ่มนี้มีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก นี่แสดงให้เห็นว่า การวางแผนเชิงกลยุทธ์กับการมีผลการดำเนินงานอันเป็นเลิศมีความสัมพันธ์กันชัดเจน ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรูปแบบการปฏิบัติงานที่โดดเด่นแล้ว จะยังเป็นมรดกตกทอดให้กับธุรกิจครอบครัวในรุ่นต่อๆ ไปด้วย”

“ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจนั้น ดำเนินไปอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นแปลว่า ธุรกิจที่มีการเติบโตอยู่ในขณะนี้ อาจจะไม่ได้เติบโตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ธุรกิจครอบครัวที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 2 ข้อคือ กลยุทธ์ความเป็นเจ้าของ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ”

นาย นิพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก เพราะมากกว่า 80% ของธุรกิจไทยนั้น เป็นธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ หรืออย่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เองที่ 3 ใน 4 นั้น เป็นธุรกิจครอบครัวเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์ที่ผ่านมานั้น ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้นำรุ่นที่ 2 และบางครอบครัวเริ่มส่งต่อกิจการให้แก่ผู้นำรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า กลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของไทยเหล่านี้ ก็เผชิญกับแรงกดดันและความท้าทายในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตคล้ายคลึงกับผู้นำรุ่นใหม่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างที่เกิดจากการสร้างความน่าเชื่อถือ และ ช่องว่างในการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั้ง 2 รุ่นจำเป็นต้องเปิดใจและมีการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ธรรมนูญครอบครัว ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัวไทย เพราะจะเป็นตัวกำหนดกฎ กติกา และเงื่อนไขในการทำงานร่วมกันของสมาชิกครอบครัว รวมทั้งช่วยลดปัญหาของสมาชิกรุ่นต่อๆ ไปที่เข้ามาสืบทอดกิจการ ซึ่งธรรมนูญครอบครัวจะมีได้ ต้องเกิดจากคุณค่าภายในครอบครัว และคุณค่าของธุรกิจครอบครัวที่แข็งแกร่ง ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว และต้องมีจุดสมดุลระหว่างเป้าหมายของกิจการกับความต้องการของครอบครัวด้วย

“ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทยในหลายองค์กรเริ่มมีการบริหารงานแบบมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งจะนำพาองค์กรสู่การมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้ ผลที่ตามมาคือ ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ มีภาพลักษณ์ที่ดี และจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมาก นอกจากนี้ ยังมีความตื่นตัวในการลงทุนด้านดิจิทัล ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจครอบครัวยุคใหม่”