Onlinenewstime.com : “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ใน 6 เดือนข้างหน้าที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร
อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความผันผวนในตลาดการเงิน และทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม 2567 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคพบว่า
“ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความผันผวนในตลาดการเงิน และทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก
อยู่ที่ระดับ 76.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดูแลราคาพลังงาน และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่
ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง การจ้างงานและค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น และดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
อีกทั้งยังมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคเกษตรในอนาคตที่ดีขึ้น ตามอุปสงค์สินค้าเกษตรจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเฉพาะผลไม้ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ระดับ 77.4
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ
อยู่ที่ระดับ 75.5 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ตามอุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น และมีปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่
ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นในภาคบริการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดำเนินต่อเนื่องและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูการท่องเที่ยว
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้
อยู่ที่ระดับ 75.3 สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากการเข้าสู่ช่วงฤดูการท่องเที่ยว ประกอบกับมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน อีกทั้ง มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมตามความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลท่องเที่ยวและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อยู่ที่ระดับ 74.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเทศกาล และมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบการเกษตร รวมถึงการเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก
อยู่ที่ระดับ 71.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวได้ดี โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม และแม้ว่าภาคเกษตรจะเผชิญความผันผวนจากสภาพอากาศ แต่สินค้าเกษตรบางชนิดมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล
อยู่ที่ระดับ 71.0 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดี จากความเชื่อมั่นในภาคบริการและภาคการลงทุน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของค่าเงินบาท และสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 68.5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดี
โดยมีปัจจัยบวกจากภาคเกษตรและภาคบริการ โดยเฉพาะเมื่อได้ผ่านพ้นช่วงภาวะภัยแล้ง ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและการขยายตลาดสินค้าเกษตรให้กว้างขึ้น
อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจเป็นสำคัญ