fbpx
News update

วิจัยชี้ ผู้ป่วยนอก 2 ใน 5 เท่านั้นที่ต้อง “รักษาที่ รพ.” สปสช.-สวรส. ชูโครงการ “เจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาร้านยา”

ปัญหาความแออัดเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสถานพยาบาลทั่วประเทศ จากข้อมูลงานวิจัย พบว่า ในปี พ.ศ. 2560 มีผู้ป่วยนอกจากทั่วทั้งประเทศไทยเข้ารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขกว่า 220 ล้านครั้งต่อปี โดยประมาณการว่าผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจริงๆ มีเพียง 2 ใน 5 เท่านั้น1

นอกจากนั้นเมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากเข้ารับการรักษา การวินิจฉัยของแพทย์และการดูแลรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีเวลาที่สั้นลง ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาที่อาจจะลดลงได้ ยิ่งไปกว่านั้นความแออัดในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆ อาจส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งตัวผู้ป่วยเองและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ

ในด้านผลการสำรวจประชาชนหรือผู้รับบริการพบว่า ผู้รับบริการในโรงพยาบาลกว่าร้อยละ 90 เป็นการตรวจโรคทั่วไปเพื่อรับยา พบมีปัญหาในการรอคอยพบแพทย์นาน ร้อยละ 84 และรอรับยานาน ร้อยละ 742  และจากการสำรวจการใช้บริการสุขภาพเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย พบว่าร้านยาเป็นสถานบริการสุขภาพที่ประชาชนเลือกไปใช้บริการมากที่สุด คือร้อยละ 38 ของผู้ที่รับบริการสุขภาพทั้งหมด3

โดยผู้รับบริการที่ร้านยาบางส่วนเป็นผู้ที่แทบจะไม่ได้ใช้บริการที่โรงพยาบาลเลย หรือไม่เคยใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพมาก่อน จึงกล่าวได้ว่าร้านยาโดยเภสัชกร เป็นผู้ค้นหาผู้ป่วยในชุมชนให้เข้าสู่บริการในระบบสุขภาพ โดยเภสัชกรร้านยาสามารถให้คำปรึกษา ดูแลด้านสุขภาพ และจ่ายยาสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้4

ปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพเภสัชกรร้านยา และตัวร้านยาเองให้ได้มาตรฐานตามหลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน หรือ good pharmacy practice ซึ่งควบคุมคุณภาพโดยกระทรวงสาธารณสุข และร้านยาคุณภาพ ที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรม ต่างจากในอดีตที่ภาพร้านยาถูกมองว่าใครก็ได้มาทำหน้าที่ขายยา และการซื้อยาจากร้านยาเป็นการรับบริการสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่ใช่บริการจากบุคลากรทางการแพทย์5

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่าระบบสุขภาพ โดยเฉพาะระบบบริการ เริ่มต้นตั้งแต่หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ไปจนถึงหน่วยบริการระดับศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ (Excellent Center)

ซึ่งสิ่งที่เราอยากเห็นคือ ผู้คนที่เจ็บป่วยสามารถไปใช้บริการที่มีคุณภาพใกล้บ้านได้อย่างสะดวก โดยขณะนี้
ใกล้สุดคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถัดไปเป็นโรงพยาบาลในระดับอำเภอ

นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้รับบริการในโรงพยาบาลระดับต่างๆ ยังมีจำนวนมาก ทั้งที่จริงแล้วบางคนมีอาการเจ็บป่วยไม่มากหรือเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละคนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็จะเสียเวลาค่อนข้างมาก

เพราะฉะนั้นถ้ามีการเพิ่มขีดความสามารถหรือศักยภาพในการให้บริการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดยกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยให้สามารถไปรับยาที่สถานบริการสุขภาพใกล้บ้าน น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก จึงนำมาสู่คำถามทางวิชาการว่า ถ้าประชาชนจะไปรับยาใกล้บ้านต้องทำอย่างไรให้ถูกหลักวิชาการ

เพราะฉะนั้นงานวิจัยที่จะตอบคำถามเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องการประเมินว่า ทำแล้วเกิดผลอะไร อย่างไร และต้องปรับปรุงตรงไหนเพิ่มเติมบ้าง เป็นเรื่องสำคัญที่นำมาซึ่งโจทย์วิจัยเชิงระบบ

“หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำวิจัยระบบสุขภาพ หมายความว่าอย่างไร งานวิจัยลักษณะนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนและสำคัญ หรือตัวอย่างการวิจัยเชิงระบบของ สวรส. ในอดีต เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น

นอกจากนั้นหลังจาก สวรส. ได้มีการประเมินโครงการรับยาที่ร้านยาแล้ว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำไปใช้ในการพัฒนานโยบายรับยาที่ร้านยาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยมีการตั้งเป้าว่าร้านยา 1 ร้านควรให้บริการครอบคลุมประชาชน 10,000 คนในช่วงแรก และเนื่องจากมีผู้ใช้บริการบัตรทองอยู่ประมาณ 48 ล้านคน

เพราะฉะนั้นทั้งประเทศควรมีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาประมาณ 4,800 ร้าน หรือตั้งเป้าไปที่ 5,000 ร้าน และควรมีการกระจายไปในพื้นที่ให้ครอบคลุมการรับบริการให้มากที่สุด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีร้านยาที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1,500 ร้าน ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้องกำลังเร่งรัดให้ได้ 5,000 ร้าน แต่ต้องยอมรับว่าร้านยาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นร้านยาที่อยู่ในพื้นที่เขตเมือง และอยู่ในกรุงเทพมหานคร

ซึ่งควรผลักดันให้เกิดการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ในทุกภาคมากขึ้น และเป็นที่น่ายินดีว่า หลังจากเริ่มโครงการไม่นาน นอกจากมีร้านยาเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังพบว่ามีประชาชนมาใช้ประโยชน์ประมาณ 5 แสนกว่าครั้ง จำนวน 2 แสนกว่าคน เฉลี่ยคนละประมาณ 2 ครั้ง เพราะฉะนั้นการลดผู้ป่วย 5 แสนกว่าคน ซึ่งเกือบครึ่งล้านคนที่ต้องไปโรงพยาบาล ก็จะทำให้ทุกฝ่ายให้บริการได้ดีขึ้น

ทั้งนี้โรคที่พบส่วนใหญ่ 1 ใน 3 เป็นโรคไข้หวัด เจ็บคอ ไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาล และเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไปในตัวในเรื่องการยกระดับ 30 บาทพลัส โดยร้านยาที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีมาตรฐานที่เรียกว่า Good Pharmacy Practice (GPP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก โดยมีเงื่อนไขการประเมินพื้นฐาน เช่น เรื่องสถานที่ อุปกรณ์ บุคคล คุณภาพยา บริการ โดยอย่างน้อยต้องผ่าน 70 % ในประเด็นที่มีความสำคัญ

ดังนั้นประชาชนที่ไปใช้บริการรับยาที่ร้านยา สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ และแน่นอนว่าในเรื่องนี้ สวรส. จะสนับสนุนองค์ความรู้ในเรื่องของมาตรการ แนวทางการให้บริการรูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนการกำกับติดตามและประเมินผล

เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เกิดประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และประชาชนมีความพึงพอใจในการรับบริการ ตลอดจนมีการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม ซึ่งนโยบายรับยาที่ร้านยากรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ถ้าสามารถทำได้ครอบคลุม จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศเป็นอย่างมาก และเกิดการยกระดับการบริการประชาชนตามนโยบาย 30 บาทพลัสในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ร้านยาจึงสามารถตอบโจทย์ข้อจำกัดด้านสถานที่และบุคลากรได้ดี ผนวกกับแนวคิดการผลักดันการกระจายกระบวนการทำงานบางส่วนออกสู่ภายนอกโรงพยาบาล ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง/หอบหืด/จิตเวช หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ

รวมทั้งบริการเจ็บป่วยเล็กน้อย และบริการส่งเสริมป้องกันโรค อาทิ การคัดกรองโรคเบื้องต้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เครียดและซึมเศร้า จ่ายยาคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัย และจ่ายชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ที่ร้านยา เพื่อลดปัญหาความแออัด เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ และเพิ่มคุณภาพในการดูแลรักษา รวมทั้งในด้านผู้ป่วย สามารถลดเวลารอรับยาและการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้บัตรทองสามารถรับบริการดังกล่าวได้ที่ร้านยาโดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า บัตรทองต้องมีการจัดระบบบริการให้ตรงกับความต้องการด้านสุขภาพ (health need) ของประชาชนและทรัพยากรสุขภาพที่มีอยู่

ในกรณีร้านยาถือเป็นจุดเริ่มที่พบว่าเป็น game changer ของระบบบริการในโรงพยาบาล บทเรียนจากร้านยาสามารถใช้เป็นตัวอย่างที่ สปสช. นำไปขยายสู่บริการสาขาอื่น เช่น คลินิกพยาบาล กายภาพบำบัด แล็บ เป็นต้น

โดยบริการสุขภาพควรจะเริ่มต้นที่เภสัชกรร้านยา แต่ข้อมูลจากงานวิจัย พบว่าข้อจำกัดสำคัญอยู่ที่การจัดระบบเครือข่ายบริการ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อข้อมูล และการส่งต่อเพื่อรับบริการสุขภาพ ระหว่างร้านยากับโรงพยาบาลหรือคลินิก โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยและการส่งต่อผู้ป่วยเมื่อมีความจำเป็น เป็นต้น

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาพบว่าการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายถ้ามีเพียงแต่งานวิจัยและภาคประชาสังคม จะยังไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคการเมืองมาช่วยผลักดัน ก็จะมีองค์ประกอบครบ 3 ด้านตามหลักการ ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ และขณะนี้นโยบายร้านยาก็มีทิศทางที่ดีเนื่องจากได้รับการสนับสนุนให้เป็นนโยบายสำคัญของฝ่ายการเมือง

นอกจากนั้นในต่างประเทศ ร้านยาได้รับการสนับสนุนให้เข้ามามีบทบาทดูแลผู้ป่วยในระบบสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ เช่น กระทรวงสาธารณสุขและ NHS สหราชอณาจักร เตรียมออกประกาศให้เภสัชกรร้านยาสามารถจ่ายยารวมถึงยาต้านจุลชีพสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย โดยนับเป็นครั้งแรกที่สหราชอณาจักรจะอนุญาตให้เภสัชกรสามารถจ่ายยาโดยที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์

ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดแรงกดดันจากการที่ประชาชนต้องรอคิวพบแพทย์เป็นเวลานาน รวมทั้งการเดินขบวนของแพทย์และพยาบาลเพื่อเรียกร้องให้มีการลดความคับคั่งในการรับบริการโดยจำกัดปริมาณผู้ป่วยต่อวัน6 ในสหรัฐอเมริกาพบว่า

ในแต่ละปีมีการซื้อยาที่ร้านยาสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเป็นมูลค่า 146 ล้านเหรียญ (ประมาณ 4,800 ล้านบาท) โดยแต่ละ 1 เหรียญ (ประมาณ 33 บาท) ที่ใช้ในร้านยาสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยรวมของประเทศเป็นมูลค่า 7 เหรียญ (ประมาณ 230 บาท) ยิ่งไปกว่านั้น ประมาณการว่าการรับยาสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยา ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ผู้ป่วยจำนวนกว่า 27 ล้านคนทั่วประเทศ7

ส่วนในประเทศไทย งานวิจัยพบว่า การรับบริการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยาใกล้บ้านแทนการไปโรงพยาบาล จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากภาครัฐได้ 466-683 บาทต่อครั้ง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเดินทางและค่าเสียเวลา ของประชาชนได้ 665-901 บาทต่อครั้ง8

ประเทศไทยเองยังมีโอกาสในการพัฒนาร้านยาอีกมาก โดยในอนาคตหากมีการพัฒนาระบบการจัดการของร้านยาให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านนโยบาย การจัดการในห่วงโซ่อุปทานยา การสนับสนุนด้านวิชาการ และการจัดการด้านการเงินการคลัง ให้กับร้านยาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเกือบ 20,000 แห่ง

เพื่อให้เกิดการยกระดับศักยภาพของตัวเภสัชกร บริการและการพัฒนาเครือข่ายบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การการพัฒนาระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง ส่งผลดีต่องานบริการสุขภาพ เศรษฐกิจของร้านยา ชุมชน และประเทศได้


ข้อมูลจาก

1รุ่งนภา คำผาง, ศรีเพ็ญ ตันติเวสส และคณะ (2564). การประเมินโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.

2อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว, อภิชัย วรรธนะพิศิษฐ์, รัตติยา อักษรทอง (2560). โครงการความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากมุมมองของผู้ป่วยและแพทย์. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.

3การสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ.

4สมหมาย อุดมวิทิต (2565). แนวทางและความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาในชุมชน. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

5ประเจิด สินทรัพย์, ศรีอร สมบูรณ์ทรัพย์, และมาณวิกา อิทรทัต. (2527) ความต้องการเภสัชกรในร้านขายยาแผนปัจจุบันของประเทศไทย. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

6BMJ (2022).Pharmacists in England will help run minor ailments services from next year. doi: https://doi.org/10.1136/bmj.o2523.

7Consumer Healthcare Product Association (2019) VALUE OF OTC MEDICINES to the U.S. Healthcare System

8ปรุฬห์ รุจนธำรงค์, ตวงรัตน์ โพธะ และธนะวัฒน์ วงศ์ผัน. (2566). ต้นทุนบริการสุขภาพสำหรับการรักษาผู้ป่วยอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยาเปรียบเทียบกับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาล. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข