Onlinenewstime.com : “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” ประโยคที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับองค์กรอนามัยโลกที่ได้ให้คำนิยามคำว่า ‘สุขภาพ’ ในความหมายกว้างขึ้นหมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต และทางสังคม
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “สังคมสุขภาพดี” กลุ่ม Sahagroup Healthcare & Wellness ภายใต้เครือสหพัฒน์ จัดการบรรยายด้านสุขภาพ 3 หัวข้อ กิจกรรมส่วนหนึ่งของงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 26 ได้แก่ สุขภาพดีในสถานประกอบการ, การใช้ชีวิตให้สุขภาพดี อายุยืน ยืนได้ และ จะอยู่อย่างไรให้หุ่นดี อนามัยดี ภูมิดี นอนดี โดยผู้มีประสบการณ์ในแต่ละด้านนำองค์ความรู้มาบรรยาย พร้อมแนะนำการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข และมีสุขภาพดี ตอบโจทย์ผู้ที่รักสุขภาพ และส่งเสริมตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยมี นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการ บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) และ ประธานกลุ่ม Sahagroup Healthcare & Wellness ให้เกียรติเป็นModerator และเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมสัมมนาที่เป็นประโยชน์ในครั้งนี้
เริ่มต้นการเสวนาในหัวข้อแรก “สุขภาพดีในสถานประกอบการ” การขับเคลื่อนจากสังคมสุขภาพดีในที่ทำงาน โดย นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) เปิดเผยว่า “กระทรวงสาธารณได้สุขค้นพบหลังจากลงพื้นที่ในชุมชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดเราแทบจะไม่เคยพบคนวัยทำงานเลย เพราะส่วนใหญ่คนวัยทำงานจะอยู่ในสถานประกอบการ พอกลับบ้านก็ไม่ได้เจอเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้กระทรวงสาธารณสุขมีทางออกให้สถานประกอบการอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของโควิดที่จะต้องเป็นโรคประจำถิ่น แต่ต้องทำอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้โดยไม่ต้องปิดสถานประกอบการ ซึ่งตรงนี้คือหัวใจสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วง และได้วางแผนที่จะช่วยกันดูแล
ฉะนั้น โครงการ Healthy Living ขับเคลื่อนสุขภาวะคนทำงานอย่างมีส่วนร่วม จึงมีกรอบแนวคิดต้องการสร้างพนักงานให้มีสุขภาพดี วางแนวทางตามกระบวนการสำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย Wellness Center ระบบการดูแลสุขภาพของพนักงาน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
โดยสถานประกอบการต้องมี Health Leader ผู้นำด้านสุขภาพ ที่มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ความเข้าใจ และมีพี่เลี้ยง และการพัฒนาต้นแบบสถานประกอบการ Healthy Living ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปส่งเสริมกำลังสำคัญให้ทางฝ่ายบุคคล หรือเรื่องของยุทธศาสตร์การทำธุรกิจด้านสุขภาพให้เป็นมิติหนึ่งที่จะส่งเสริมให้พนักงาน และสถานประกอบการ โดยเฉพาะเจ้าของสถานประกอบการได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพร่วมกัน ระหว่างพนักงานและสถานประกอบการ”
การขับเคลื่อนสังคมสุขภาพให้เกิดเป็นรูปธรรมต้องเกิดจากความร่วมมือจากฟันเฟืองเล็ก ๆ ในสังคม นายพีรเดช ลออธรรม ผู้พัฒนาโครงการ กิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์ม และ Co-founder บริษัท Zanegrowth จำกัด ในฐานะผู้สร้างแฟลตฟอร์ม กิน-อยู่-ดี กล่าวว่า “แพลตฟอร์มติดตามสุขภาพ และความเป็นอยู่ เพื่อให้เกิดการติดตามข้อมูลสำหรับนำมาวิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยงเฉพาะบุคคล ที่อาจจะมาจากการกิน หรือการทำกิจวัตรประจำวัน
ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเรามีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างไร โดยเชื่อมโยงผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน สมาร์ทวอทช์ รวมถึงการตรวจวัดสุขภาพ สำหรับใช้ที่บ้าน หรือสถานประกอบการที่มี Wellness center สามารถบันทึกค่าสุขภาพ มีการมอนิเตอร์จากคนที่เชี่ยวชาญ ระดับพยาบาล หรือแพทย์ประจำสถานประกอบการ หรือสถานพยาบาลพี่เลี้ยงก็พอจะให้คำแนะนำสุขภาพว่าเราจะทำให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร มีแผนการดูแล หรือมีแผนการทำกิจกรรมรายวันให้เขามีสุขภาพดีอย่างไร”
สำหรับหัวข้อ “การใช้ชีวิตให้สุขภาพดี อายุยืน ยืนได้” โดย นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์) ประธานคณะผู้บริหาร บีดี เอ็มเอส เวลเนส คลินิก กล่าวถึงเคล็ดลับว่าทำอย่างไรให้มีอายุยืนยาว และสุขภาพดี อยู่แบบอายุยืนยาว และมีสุขภาพดี “ทำอย่างไรให้อายุยืน ยืนได้ ต้องวางแผนเพื่อก้าวไปสู่การเป็นสังคมสุขภาพดี ซึ่งคำว่าสุขภาพดีนั้นต้องดีทั้งร่างกายและจิตใจ ฉะนั้น การลงทุนกับตัวเองดีที่สุด เพราะสุขภาพดี (Health Brings Wealth) คือสมบัติที่สำคัญที่สุดในชีวิต
โดยระบุให้เห็นผลวิจัยที่บ่งชี้ว่าปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เฉลี่ย 44 คนต่อชั่วโมง ซึ่งประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างจริงจัง และเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุอยู่อันดับที่ 4 ของเอเชีย พร้อมแนะนำ 10 เคล็ดลับสุขภาพดีที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ได้แก่ 1.อาหารที่ดีต่อสุขภาพ 2.อย่าอดนอน 3.ออกกำลัง 4.เช็คอัพร่างกาย 5.ติดอาวุธให้ร่างกาย 6.ต่อสู้กับโรคอ้วน 7.หลีกเลี่ยงสารและพฤติกรรมอันตราย 8.อากาศดี 9.อารมณ์ดี และ 10.จิตอาสา โดยระบุว่าหากปฏิบัติตนให้ได้ครบทั้ง 10 ข้ออย่างสม่ำเสมอ รับรองว่าจะมีสุขภาพดี และอายุยืนแน่นอน
ปิดท้ายด้วยหัวข้อ “จะอยู่อย่างไรให้หุ่นดี อนามัยดี ภูมิดี นอนดี” โดย อ.สง่า ดามาพงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในฐานะนักบริหารชีวิตมาแชร์ได้อย่างน่าสนใจ “สิ่งสำคัญที่สุดของการบริหาร คือการบริหารสุขภาวะ หรือการบริหารให้สุขภาพดี มันเป็นเส้นผมบังภูเขาที่หลายคนละเลย การมีสุขภาพดีต้องมีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมาย พฤติกรรมของผู้บริหารเกิดจากงาน ที่เห็นกันบ่อย ๆ อย่าง ความเครียดที่เกิดจากงาน กินอาหารไม่ถูกต้อง ไม่มีเวลาออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ พฤติกรรมของผู้บริหาร หรือคนวัยทำงาน
ข้อสำคัญคืออาหารเช้า การกินรสจัด หวานจัด มันจัด เค็มจัด และจะทำอย่างไรให้เกิด 3 Smart คิดอ่านบริหารได้เก่ง ได้แก่ Strong ความแข็งแรงของร่างกาย Slim การมีหุ่นดีไร้ภัยจากโรคอ้วน และ Skill องค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพที่จำเป็นต้องมีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
พร้อมแนะนำให้ตั้งเป้าหมายเพื่อการมีสุขภาพดีให้ชัดเจน จากนั้นวางแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง โดยใช้สูตร 3 อ. 2 ส. 1 พ. แยกออกเป็น 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลัง อารมณ์ 2 ส. คือ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และ 1 พ. คือ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ สูตรอาหาร 6 6 1 น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา เพิ่มผักผลไม้ ลดอาหารรสหวาน มัน เค็ม และน้ำเปล่าคือสิ่งที่วิเศษที่สุด” พร้อมตั้งคำถามชวนคิด “เมื่อเงินซื้อชีวิตไม่ได้ เหตุไฉนจึงละเลย?” ฝากไว้ให้กับผู้เข้าฟังการบรรยายได้คิดตาม
ทางด้าน พลตรี ผศ.นพ.กิฎาพล วัฒนกูล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์สัมมนา ได้แสดงทัศนะจากหัวข้อดังกล่าว “การวางแผนเรื่องสุขภาวะ ต้องเกิดจากความรู้จริง ความเข้าใจ ความมุ่งมั่น และมีแรงจูงใจในการเดินไปสู่เป้าหมาย เพราะสุขภาพดีต้องมีสาเหตุ ซึ่งปัจจัยอะไรที่คุมได้ นั่นคือพฤติกรรม สุขภาพดีไม่มีซื้อขาย ฉะนั้น เราต้องปรับพฤติกรรม ผลในอดีต คือ สุขภาพในชีวิตประจำวัน จุดเริ่มต้นในวันนี้ คือ สุขภาพในอนาคต อย่าไปเสียใจกับวันที่ผ่านมา แค่ต้องเริ่มต้นใหม่
หากสถานประกอบการร่วมมือกับพนักงานจะทำให้เกิด 3 Win คือ สุขภาพดีขึ้น อายุยืน บริษัทจะรุ่งเรือง เพราะพนักงานแข็งแรง ทำงานได้เต็มที่ และประเทศไทยจะมั่นคง เพราะคนแข็งแรง และไทยจะมั่งคั่ง เพราะประหยัดค่ารักษาพยาบาล สุขภาวะเป็นเรื่องของกายและใจ กายที่แข็งแรง ต้องเคลื่อนไหว ใจที่แข็งแรง ต้องสงบนิ่ง”