Onlinenewstime.com : น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งทั่วประเทศ จำนวน 210 จุด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การใช้ประโยชน์ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล 6 ประเภท
ผลการประเมินดัชนีคุณภาพน้ำทะเล (Marine Water Quality Index ; MWQI) ปี 2567 มีคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 49 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 43 เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 6 และมีเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 2
น.ส.ปรีญาพร กล่าวว่า แหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพน้ำทะเลดีที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ 1) หาดสมิหลา จ.สงขลา 2) หาดในหาน จ.ภูเก็ต 3) หาดต้นไทร จ.กระบี่ 4) อ่าวมาหยา จ.กระบี่ 5) อ่าวโล๊ะซามะ จ.กระบี่ 6) เกาะยูง จ.กระบี่ 7) เกาะไก่ จ.กระบี่ 8) หาดท้ายเหมือง จ.พังงา 9) หาดบางเบน จ.ระนอง และ 10) บ้านทุ่งริ้น จ.สตูล
ส่วนแหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1) ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ 2) โรงงานฟอกย้อม กม. 35 จ. สมุทรปราการ 3) ปากคลอง 12 ธันวา จ.สมุทรปราการ
4) แหลมฉบัง ตอนใต้ จ.ชลบุรี และ 5) ปากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร
คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 – 2567) มีแนวโน้มคงที่ โดยคุณภาพน้ำทะเล ในระดับตั้งแต่พอใช้จนถึงดีมาก รวมมากกว่าร้อยละ 90 พื้นที่ที่มีค่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ พื้นที่อันดามัน
บริเวณที่มีระดับคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมมาก อยู่ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ซึ่งพารามิเตอร์ที่มีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสารอาหารและกลุ่มแบคทีเรีย โดยปริมาณสารอาหารอาจส่งเสริมให้เกิดภาวะการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีได้มากขึ้น น.ส. ปรีญาพร กล่าว