fbpx
News update

เอสซีจี ผนึก ศุภาลัย ร่วมฟื้นฟูทะเลไทย ผ่านโครงการ “รักษ์ทะเล” เปลี่ยนเศษคอนกรีตเหลือใช้มาสร้างบ้านปะการัง

Onlinenewstime.com : “เอสซีจี” โดย บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด จับมือพันธมิตรธุรกิจ บมจ.ศุภาลัย ร่วมสนับสนุนคืนความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องทะเลไทย ผ่านโครงการ “รักษ์ทะเล” ด้วยการนำเศษคอนกรีตเหลือใช้จากไซต์งานก่อสร้างผ่านกระบวนการย่อยและคัดแยก เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมผลิตปูนซีเมนต์ และนำมาขึ้นรูปเป็น “บ้านปะการัง”

ด้วยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution เพื่อเตรียมไปวางใต้ท้องทะเลในพื้นที่เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ตอกย้ำความร่วมมือ และเป็นต้นแบบสร้างความมีส่วนร่วม และความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูท้องทะเลอย่างยั่งยืน

นายณรงค์ศักดิ์ ตันติธนกิจ ผู้อำนวยการกิจการ ซีแพคภาคตะวันออก บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด  กล่าวว่า จากนโยบายของ “เอสซีจี ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีบรรษัทภิบาล ตามแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่

1. มุ่ง Net Zero 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ  และมีความเป็นธรรม โปร่งใสทุกการดำเนินการ

โดยที่ผ่านมาโครงการ “รักษ์ทะเล” เป็นโครงการที่เอสซีจี มุ่งมั่นในการยกระดับพัฒนานวัตกรรมมาปรับใช้ นอกจากมาตรฐานการอยู่อาศัย ได้ต่อยอดการใช้นวัตกรรมจาก CPAC 3D Printing Solution มาใช้ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรของประเทศ อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ

ให้ความเคารพต่อธรรมชาติและทุกชีวิตในท้องทะเลด้วยบ้านปะการัง ซึ่งนวัตกรรมบ้านปะการังนี้ เหมาะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ ผลิตจากปูนซีเมนต์รักษ์โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ที่ช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรท้องทะเลไทยได้อย่างยั่งยืน

โครงการ “รักษ์ทะเล” นับเป็นโครงการความร่วมมือที่มุ่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลไทย สร้างความมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และชุมชนคนรุ่นใหม่

โดยความร่วมมือในครั้งนี้จากทาง ศุภาลัย ที่ได้ร่วมสนับสนุนในโครงการ “รักษ์ทะเล” นับเป็นต้นแบบการสร้างความมีส่วนร่วมจากพันธมิตรทางธุรกิจ ในการร่วมสนับสนุนเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือกันในอนาคตและสามารถขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนถึงคนรุ่นต่อๆ ไป

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศุภาลัย ดำเนินการธุรกิจควบคู่กับยึดหลักธรรมาภิบาล ทั้งในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ

โดยในปีนี้ (2566) นอกจากบริษัทฯจะตั้งมั่นสร้างสรรค์โครงการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วประเทศแล้ว ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้าง ‘บ้าน’ ให้กับปะการัง เพื่อคืนความสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการังและสัตว์น้ำใต้ท้องทะเลไทย จึงได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ “รักษ์ทะเล” ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิ Earth Agenda ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพันธมิตรธุรกิจอย่าง SCG โดย CPAC Green Solution

จากการนำเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ โดย “ศุภาลัย” ได้นำเศษคอนกรีตรีไซเคิลในกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งเกิดจากนำลูกปูนที่ใช้ในการทดสอบกำลังอัดคอนกรีต มาเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูน

ทำให้วัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังที่ผลิตโดยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution นั้น มีรูปทรงที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ แข็งแรง ทนทาน และทำมาจากปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

ศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิ Earth Agenda กล่าวว่า มูลนิธิมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนักรู้ เพื่อฟื้นฟูการอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมสร้างความมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ตลอดจนเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ เครือข่ายนักดำน้ำ และผู้มีจิตอนุรักษ์

ตลอดจนการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเล เช่น โครงการหญ้าทะเล โครงการจัดทำขาเต่าเทียม และโครงการล่าสุด กับโครงการ “รักษ์ทะเล” มูลนิธิเป็นตัวกลางในการเปิดขอรับการสนับสนุนระดมทุน เพื่อผลิตและจัดวางบ้านปะการัง “บ้านปะการัง”

ด้วยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution นับเป็นนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้เป็นโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโลกใต้ทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศหลักและเป็นแหล่งกำเนิดของหลากหลายชีวิต สำหรับผู้ที่สนใจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการ “รักษ์ทะเล” รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง เพื่อให้ท้องทะเลไทยกลับมาสวยงามดังเดิม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.lovethesea.net