Onlinenewstime.com : จากปัญหาสภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุจากมนุษย์ นอกจากจะส่งผลกระทบกับโลกแล้ว ยังส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทุกชีวิตบนโลก ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
“การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จึงเป็นเป้าหมายที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ให้ความสำคัญมากขึ้น และถูกใช้เป็นฐานการกำหนดนโยบายของประเทศและองค์กร มีเป้าหมายสูงสุด อยู่ที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรโลก โดยยังสามารถรักษาระดับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ให้เกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ และมุ่งเน้นความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
เอไอเอส ในฐานะพลเมืองดีของสังคม ที่มุ่งมั่นเดินหน้านำเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชีย “SDG Lab” ที่อาคารเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เพื่อเป็นห้องแล็ป หรือห้องปฏิบัติการที่เป็นมากกว่า Co-Working Space เพื่อให้เหล่านวัตกร และคนทั่วทุกมุมโลก ที่ต้องการทำโปรเจ็กต์ที่มุ่งแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ามาสร้างนวัตกรรมเพื่อโลกให้เกิดขึ้นจริง โดยมุ่งเน้นไปที่โครงการขนาดเล็ก ใช้งบประมาณน้อย แต่เกิดผลมาก
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “เอไอเอส มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจ ที่ตั้งอยู่บนแนวคิดความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยี 5G และ IoT ที่เชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีสำคัญแห่งยุค เข้ามาเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น
SDG Lab by Thammasat & AIS จึงมีความตั้งใจจะเป็น สถานที่เชิงสัญลักษณ์ และส่งเสริมเรื่องการลงมือทำเรื่องความยั่งยืน สร้างสรรค์นวัตกรรม อย่างมีผลกระทบในเชิงบวก สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
รวมถึงการออกแบบตกแต่งสถานที่ ก็ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากที่สุด เริ่มตั้งแต่ ไม่มีการติดตั้งฝ้าเพดาน, จัดทำสไลเดอร์เชื่อมระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 แทนสัญลักษณ์การลื่นไหลของไอเดียที่เป็นประโยชน์ ในการเคลื่อนตัวของนวัตกรรม
เฟอร์นิเจอร์ที่นำมาใช้ เป็นงานรีไซเคิลจากวัสดุทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว, ไม้ยางพาราที่ตายแล้ว, กล่องเครื่องดื่ม หรือแม้แต่เศษเหล็กที่เหลือจากการพิมพ์อุปกรณ์ก็ถูกรียูสเป็นชิ้นงานตกแต่งพื้นที่
นอกจากนี้ ยังจัดพื้นที่ Open Space มีโซนปฎิบัติการต่างๆ เช่น Demonstration Space, Makerspaces, Co-Working Space, Event Space และ Meeting room เพื่อเอื้อให้เกิดการลงมือทำ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกคน
โดยมี Network Infrastructure และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น 3D Printing, อุปกรณ์เครื่องไม้,เครื่องมือไฟฟ้า และอื่นๆ อีกมากมายคอยอำนวยความสะดวก
พร้อมกันนี้ ยังมีการนำร่องสร้าง SMART City ด้วยการทำ Smart Farm ครอบคลุมบริเวณอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี โดยติดตั้งอุปกรณ์ 5G และ IoT ควบคุมดูแลการเพาะปลูกแบบอัตโนมัติ และติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศและวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ไว้บนแปลงเกษตรบนดาดฟ้าของอาคารอุทยานฯ ที่สามารถควบคุมการทำงาน ผ่านระบบฟาร์มอัจฉริยะ Smart Farm เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตร ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน และเร็วๆ นี้จะขยายลงไปพื้นที่ด้านข้างอีก 100 ไร่ เพื่อให้เป็นแปลงนาปลูกข้าว สำหรับคนในมหาวิทยาลัยและชุมชน
นอกจากนี้ ก็จะนำ 5G เข้ามาเป็นส่วนช่วยการพัฒนาความเป็นอยู่ของเมือง เช่น การนำรถยนต์ไร้คนขับมาวิ่งอยู่ไหนมหาวิทยาลัย โดยใช้เทคโนโลยี 5G เข้ามาควบคุม และยังเป็นรถพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งเอไอเอสจะใช้ธรรมศาสตร์เป็นจุดทดสอบของการพัฒนาเมือง”
รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายการพัฒนา สู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนและความยั่งยืน เราจึงร่วมมือกับ AIS นำเทคโนโลยีที่สำคัญต่างๆ เข้ามาพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน SDG Lab by Thammasat & AIS แห่งนี้
เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่สนใจในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มาใช้สถานที่แห่งนี้ มาทดลองให้เกิดผลจริง และแก้ไขสิ่งที่ดำเนินการนั้นให้เป็นรูปธรรม ที่จะส่งผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง”
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ปัญหาโลกร้อน เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ธรรมศาสตร์มีอาคารป๋วย 100 ปี ที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อได้ร่วมกับเอไอเอสสนับสนุนเทคโนโลยีมาเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เปิดกว้างให้ผู้ที่คิดเหมือนกัน มาเจอกันได้มาเรียนรู้กัน ช่วยกันสร้างโปรเจ็กต์ที่สามารถใช้งานได้จริง ส่งผลกับคนได้มาก แต่ใช้งบประมาณน้อย เพื่อให้คนไทย สามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่ดีได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับสังคมและประเทศ และทำให้ Living Lab แห่งนี้เปลี่ยนแปลงโลกได้จริง”
นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ” SDG Lab by Thammasat & AIS เป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่จะมาร่วมระดมความคิดในการแก้ปัญหาต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ความหลากหลายในเรื่องต่างๆ ดิฉันในฐานะตัวแทนของสหประชาชาติ จะขอติดตามดูการเติบโตของ SDG Lab และยินดีให้การสนับสนุนการพัฒนาเหล่านี้ที่เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ”
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SDG Lab by Thammasat & AIS ได้ที่ เว็บไซต์