Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยผลการจดทะเบียนธุรกิจใหม่สะสม 3 ไตรมาส (มกราคม – กันยายน 2567) แตะ 7 หมื่นราย โตขึ้น 1.5% เฉพาะเดือนกันยายน 2567 จดทะเบียน 7,867 ราย โตขึ้น 10.7%
ปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 25% ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พร้อมชี้ 3 ธุรกิจที่มีความโดดเด่นน่าจับตามองเติบโตแบบก้าวกระโดด * ธุรกิจการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง (ยกเว้นทางออนไลน์) จดทะเบียนเพิ่ม 41 เท่า * ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เพิ่ม 3.6 เท่า และ * ธุรกิจปลูกข้าวจ้าว เพิ่ม 2.6 เท่า คาดตลอดปี 2567 จัดตั้งธุรกิจใหม่ทะลุ 9 หมื่นราย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนกันยายน 2567 โดยมีรายละเอียดดังนี้
การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนกันยายน 2567
มีจำนวน 7,867 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 เพิ่มขึ้น 760 ราย (10.69%) และทุนจดทะเบียน 22,048.51 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 ลดลง 2,122.13 ล้านบาท (8.78%)
โดยเดือนกันยายน 2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย คือ บริษัท แกรนด์ เรสซิเดนซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มูลค่าทุนจดทะเบียน 1,520.00 ล้านบาท ประกอบกิจการซื้อ จัดหา รับ เช่า เช่าซื้อ ให้เช่า ถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง ปรับปรุง ใช้ และจัดการ โดยประการอื่นซึ่งทรัพย์สินใดๆ ตลอดจน ดอกผลของทรัพย์สินนั้น
ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 620 ราย ทุน 1,349.33 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 531 ราย ทุน 3,465.99 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 374 ราย ทุนจดทะเบียน 716.75 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.88% 6.75% และ 4.75% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนกันยายน 2567 ตามลำดับ
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า “การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 3 ไตรมาส (9 เดือน : มกราคม – กันยายน) ปี 2567 มีจำนวน 69,686 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 1,021 ราย (1.49%) ทุนจดทะเบียน 208,481.38 ล้านบาท ลดลง 285,890.71 ล้านบาท (57.83%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เนื่องจาก ปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ ทั้งนี้ 3 ไตรมาส หรือ 9 เดือน
ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 5,294 ราย ทุน 11,743.07 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5,229 ราย ทุน 22,833.72 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3,212 ราย ทุน 6,526.78 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.60% 7.50% และ 4.61% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายนตามลำดับ
การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 3 ไตรมาส(มกราคม – กันยายน 2567) มี 3 ธุรกิจที่น่าจับตามองเพราะมีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ได้แก่
1) ธุรกิจการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง (ยกเว้นทางออนไลน์) ที่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 41 เท่า เนื่องจาก กสทช.ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงดำเนินการขอรับใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาตดังกล่าว
2) ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ตู้หยอดเหรียญล้างรถ ตู้หยอดเหรียญคีบตุ๊กตาและจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และตู้บริการถ่ายภาพโฟโต้บูธ จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 3.60 เท่า
3) ธุรกิจปลูกข้าวจ้าว จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 2.56 เท่า เนื่องจากกรมการข้าวสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร จัดตั้งเป็นนิติบุคคล เพื่อเข้าร่วมโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร
สำหรับการคาดการณ์จดทะเบียนในไตรมาสสุดท้ายของปีจะมีปัจจัยกระตุ้นจากการลงทุนภาครัฐ เช่น โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2568 เริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 (ตุลาคม 2567) ที่จะทยอยเริ่มโครงการ และช่วงปลายปีเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 – เมษายน 2568 จะเป็นปัจจัยกระตุ้นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง
รวมทั้ง นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ประกาศออกมาในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เช่น การผลักดันการปรับโครงสร้างหนี้ การส่งเสริมและป้องการผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย การกระตุ้นเศรษฐกิจผลักดันการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น
จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับภาคเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสสุดท้ายมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 – 23,000 ราย ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ประมาณ 90,000 – 98,000 ราย
การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนกันยายน 2567
มีจำนวน 2,254 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 เพิ่มขึ้น 215 ราย (10.54%) และทุนจดทะเบียนเลิก 16,611.91 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 ลดลง 618.06 ล้านบาท (3.59%)
ประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 246 ราย ทุน 414.55 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 97 ราย ทุน 2,350.40 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 74 ราย ทุน 179.71 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.91% 4.31% และ 3.28% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนกันยายนตามลำดับ
ทั้งนี้ เดือนกันยายน 2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย คือ 1) บจ.เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด (แพลตฟอร์ม JD CENTRAL) ทุนจดทะเบียนเลิก 4,959.27 ล้านบาท ประกอบกิจการค้าปลีกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 2) บจ.เซ็นทรัล เจดี มันนี่ จำกัด (แพลตฟอร์ม Dolfin Wallet) ทุนจดทะเบียนเลิก 2,532.00 ล้านบาท ประกอบกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ
การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการสะสม 9 เดือน (มกราคม – กันยายน 2567)
มีจำนวน 12,246 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 764 ราย (5.87%) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสม 116,005.25 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 34,604.61 ล้านบาท (42.51%)
ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ เป็นสาเหตุให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิก 9 เดือนสูงกว่าปกติ หากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไปทุนจดทะเบียนเลิกลดลง 13,604.73 ล้านบาท (16.71)%
เมื่อพิจารณาสัดส่วนการเลิกประกอบธุรกิจในปี 2567 พบว่า มีเพียง 17.57% ของการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งน้อยกว่าปี 2566 ที่มีสัดส่วน 18.95% ของการจัดตั้งธุรกิจ
การลงทุนประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ 9 เดือน
ขณะที่ 9 เดือน (มกราคม – กันยายน 2567) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 636 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 143 ราย
และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 493 ราย
เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 134,805 ล้านบาท จ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2,505 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 157 ราย (25%) ลงทุน 74,091 ล้านบาท 2) สิงคโปร์ 96 ราย (15%) ลงทุน 12,222 ล้านบาท 3) จีน 89 ราย (14%) ลงทุน 11,981 ล้านบาท 4) สหรัฐอเมริกา 86 ราย (13%) ลงทุน 4,147 ล้านบาท และ 5) ฮ่องกง 46 ราย (7%) ลงทุน 14,116 ล้านบาท
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 9 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 207 ราย หรือ 33% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 108 ราย (109%) มีมูลค่าการลงทุน 39,830 ล้านบาท หรือ 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด
เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23,690 ล้านบาท (147%) เป็นนักลงทุนจาก 1) ญี่ปุ่น 67 ราย ลงทุน 13,191 ล้านบาท 2) จีน 54 ราย ลงทุน 7,227 ล้านบาท 3) ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 68 ราย ลงทุน 14,192 ล้านบาท
ธุรกิจ ‘แพลตฟอร์ม’ และ ‘ซอฟต์แวร์’ ผู้ช่วย SMEs ไทย ผ่านพ้นวิกฤตธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง พบว่า ธุรกิจ ‘แพลตฟอร์ม’ และ ‘ซอฟต์แวร์ ช่วยขยายตลาดให้ผู้ประกอบการ SME อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแต้มต่อทางการค้าสู้ธุรกิจรายใหญ่
รวมทั้ง เป็นช่องทางเชื่อมต่อ ‘ผู้ซื้อ – ผู้ขาย’ บนโลกออนไลน์มากขึ้น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภค หาพันธมิตรทางธุรกิจ สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสังคมออนไลน์ ดังนั้น ธุรกิจ ‘แพลตฟอร์ม’ และ ‘ซอฟต์แวร์ จึงเป็นเครื่องมือและเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ SME ไทย ผ่านพ้นวิกฤตธุรกิจไปได้
ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์มีจำนวนการจัดตั้งและมูลค่าทุนจดทะเบียน ดังนี้ ปี 2564 จัดตั้ง 1,551 ราย ทุนจดทะเบียน 2,952.80 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 1,162 ราย (ลดลง 389 ราย หรือ 25.08%) ทุน 2,857.57 ล้านบาท (ลดลง 95.23 ล้านบาท หรือ 3.23%)
ปี 2566 จัดตั้ง 1,111 ราย (ลดลง 51 ราย หรือ 4.39%) ทุน 2,480.82 ล้านบาท (ลดลง 376.75 ล้านบาท หรือ 13.19%) ปี 2567 (เดือนมกราคม – กันยายน) จัดตั้ง 913 ราย ทุน 1,693.81 ล้านบาท
ภาพรวมของผลประกอบการในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ 3 ปีย้อนหลัง ทำรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 รายได้รวม 74,821.35 ล้านบาท ปี 2565 รายได้รวม 94,778.39 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19,957.04 ล้านบาท หรือ 26.68%) และปี 2566 รายได้รวม 132,650.78 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 37,872.39 ล้านบาท หรือ 39.96%)
โดยปี 2566 กลุ่มแพลตฟอร์มสามารถทำรายได้สูงกว่ากลุ่มซอฟต์แวร์ 24,075.16 ล้านบาท หรือ 44.35% (รายได้กลุ่มแพลตฟอร์ม 78,362.97 ล้านบาท รายได้กลุ่มซอฟต์แวร์ 54,287.81 ล้านบาท)
ขณะที่ กำไร/ขาดทุนสุทธิภาพรวมธุรกิจ 3 ปีย้อนหลัง ธุรกิจสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1,496.24 ล้านบาท เมื่อพิจารณเป็นรายธุรกิจ พบว่า กลุ่มแพลตฟอร์มมีแนวโน้มขาดทุนลดลงและสามารถทำกำไรได้ในปี 2566 จำนวน 774.51 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มซอฟต์แวร์สามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง โดยในปี 2566 กำไร 721.73 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์มีแนวโน้มมาแรงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการดำรงชีวิตที่นิยมใช้จ่ายเลือกซื้อ ค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ SME มีการปรับตัวมาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และนำเทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์มาช่วยในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของนักลงทุนชาวต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ของประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน โดยสัดส่วนการลงทุนของนักธุรกิจชาวไทยมีมูลค่า 362,266.43 ล้านบาท คิดเป็น 92.73% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 35,839.00 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 326,427.43 ล้านบาท)
การลงทุนของชาวต่างชาติมีมูลค่า 28,397.26 ล้านบาท คิดเป็น 7.27% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 11,721.44 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 16,675.82 ล้านบาท)
โดยต่างชาติที่มาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ ลงทุน 9,814.28 ล้านบาท ไต้หวัน 5,953.63 ล้านบาท และ มาเลเซีย 2,237.63 ล้านบาท
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Association) และบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL เปิดแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รวบรวมเครื่องมือหลายๆ ด้าน ในการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจไว้ในที่เดียว เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน
รวมถึง ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทยให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้ยุคดิจิทัล
เบื้องต้นมีผู้ให้บริการ 7 ราย ภายใต้ 4 หมวดหมู่ นำเสนอสิทธิพิเศษแก่ผู้ใช้บริการ * ด้าน Sales and Marketing * ด้าน Design and Development * ด้าน Human Resource และ * ด้าน Analytics and Reporting ภายใต้ชื่อ “DBD SMEs360” โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าใช้งานได้ทันทีตั้งแต่เริ่มประกอบธุรกิจ” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย