Onlinenewstime.com : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย เผยผลการสำรวจ ภายใต้โครงการ “การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัลในเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียนและประชาชนไทย ยุค New Normal ปี 2566” ณ ห้อง Innogineer Studio คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศ และตระหนักถึงความสำคัญ โดยมีความสอดคล้องกับแผนระบบสื่อ และวิถีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งมีแนวทางที่จะสนับสนุนให้เกิด ระบบสื่อสุขภาวะ มุ่งเน้นการพัฒนา “ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล (Promoting the digital immunization) ในเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน และประชาชนไทย”
จึงได้มีการดำเนินโครงการ “สำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัลของประชาชนไทยยุค New Normal และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ปี 2566” ซึ่งมี ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้าโครงการ/รักษาการหัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับความอนุเคราะห์ด้านความร่วมมือในการสำรวจข้อมูลของเด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส.กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลกับทุกคน โดยเฉพาะสื่อดิจิทัลที่มีทั้งข้อมูลด้านบวกและลบ ทุกคนรับข่าวสารได้ตลอดเวลา เพราะเผยแพร่ได้ 24 ชม.
ทำให้หลายปีที่ผ่านมา สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย เดินหน้าสร้าง “ภูมิคุ้มกันสื่อดิจิทัล” ในคนทุกช่วงวัย เพื่อทำให้สังคมก้าวสู่การเป็น “พลเมืองรู้เท่าทันสื่อ” ที่มีทักษะ ร่วมรับผิดชอบ และช่วยกันพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ดีและสมดุลได้ ผ่านความรู้ทางวิชาการ และพัฒนาข้อเสนอต่างๆ ขับเคลื่อนนโยบายกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
จากการสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อฯ ปี 2566 มีกลุ่มตัวอย่าง 9,506 คน ประเมินสมรรถนะ 4 ด้าน 1. เข้าถึงสื่อ อย่างปลอดภัย 2. วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมิน 3. สร้างสรรค์เนื้อหา 4. ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลง
ใช้วิธีการสำรวจแบ่งตามช่วงวัย คือ เด็กปฐมวัย อายุ 3-5 ปี และเด็กวัยเรียนอายุ 6-12 ปี ใช้แนวคิด Media Information and Digital Literacy (MIDL) ส่วนเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ ประเมินการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศอ้างอิงตามหลักการของยูเนสโก้
โดยข้อสรุปทั้งหมดจะนำไปใช้เป็นข้อมูลขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของ สสส. ที่ต้องการทำให้เรื่องนี้เป็นนโยบายระดับชาติที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนบนแผ่นดินไทย
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการสำรวจฯ กล่าวว่า “กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจเด็กปฐมวัย อายุ 3-5 ปี มีการเข้าถึงสื่อและสารสนเทศ ผ่านอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อโดยผู้ปกครอง รวมถึงการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้สื่อต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน หนังสือภาพ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์
ผลการดำเนินการในโครงการนี้จะเห็นว่า ปัจจุบันเด็กและประชาชนไทยทุกช่วงอายุมีการเข้าถึงและใช้สื่อมากยิ่งขึ้น โดย กลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียนในระดับประเทศจัดอยู่ในระดับ ดีมาก อยู่ที่ 86.9% ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2564 (73.9%)
แต่อย่างไรก็ตามในด้านการสำรวจพบว่าเด็กปฐมวัย (ช่วงอายุ 3-5 ปี) มีการใช้หน้าจอนานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มากถึง 73.8% ซึ่งมีโอกาสส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ และ เสี่ยงต่อการติดอินเทอร์เน็ตได้ง่าย
รวมถึงเด็กในวัยดังกล่าวยังมีความเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงให้ทำตามวัตถุประสงค์ของผู้ไม่หวังดี ผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญในการดูแลและการเข้าถึงสื่อของเด็กเป็นอย่างยิ่ง
ในส่วนของกลุ่มประชาชนทั่วไป (อายุ 13 ปีขึ้นไป) มีผลการประเมินอยู่ในระดับดี ซึ่งมีผลคะแนนอยู่ที่ 72.8% ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2564 เล็กน้อย (70.4%) แต่ในด้านการประเมินสื่อของประชาชน มีผลการสำรวจอยู่ในระดับ พื้นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การหลอกลวงทางโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่ประชาชนขาดความเข้าใจในใจความสำคัญของสื่อดิจิทัลที่มีการเผยแพร่ หรือส่งต่อ รวมถึงการประเมินคุณค่าและความน่าเชื่อถือของข้อมูลสื่อและสารสนเทศที่ได้รับลดลง และมีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกชักจูงได้ง่าย
โดยมีสื่อที่ได้รับความนิยมของเด็กวัยเรียน คือ ยูทูป ติ๊กต็อก ไลน์ และเฟซบุ๊ก ตามลำดับ จากการสำรวจพบว่า เด็กวัยเรียนมีการใช้สื่อสารสนเทศที่สร้างความบันเทิง เช่น ดูการ์ตูน หรือ วีดีโอบนสังคมออนไลน์ ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนทั่วไป ใช้ในการค้นหาข้อมูล ถัดมาคือ การเล่นโซเชียลมีเดีย รับ-ส่ง อีเมล และอ่านบทความออนไลน์ ตามลำดับ
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่เด็กหรือประชาชนทั่วไปที่ควรมีความเข้าใจและการตระหนักถึงการรู้เท่าทันสื่อฯ แต่ควรมีหน่วยงาน องค์กรในทุก ๆ ภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมหรือบทบาทในด้านการรู้เท่าทันสื่อฯ เช่น ด้านนโยบาย การผลักดัน การส่งเสริม การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อพัฒนาให้ประชาชนไทยเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ต่อไป”