
Onlinenewstime.com : ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สร้างผลกระทบมหาศาลต่อโลก ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในช่วงปี 2543-2562
โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทย ซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ กลับต้องเผชิญกับวิกฤตทางระบบนิเวศ น้ำทะเลที่สูงขึ้นและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยหนึ่งในนั้นคือ “ปูม้า” สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นฟันเฟืองของระบบนิเวศทางทะเล
ย้อนกลับไปในปี 2540 ประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านเผชิญวิกฤตปูม้าจากการจับที่เกินขนาด (overfishing) และการจับผิดวิธี เช่น การจับปูขนาดเล็ก ปูที่มีไข่นอกกระดอง รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก ส่งผลทำให้ประชากรปูม้าลดลงอย่างน่าใจหาย จนเกิดคำถามว่า “เราจะรักษาทรัพยากรนี้ได้อย่างไร?”
คำตอบเริ่มต้นจากแนวคิด “ธนาคารปูม้า” ซึ่งเกิดขึ้นในหลายชุมชนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ถือเป็น 1 ใน 18 จังหวัดชายฝั่งของประเทศไทย ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้โดยตรงและเป็นตัวอย่าง ในด้านการปรับตัวของคนในท้องถิ่น ชุมชนบางเสร่ร่วมกันก่อตั้งธนาคารปูม้า ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำแม่ปูที่มีไข่นอกกระดองมาเลี้ยงในบ่ออนุบาล เพื่อให้ไข่ฟักเป็นลูกปูวัยอ่อนก่อนปล่อยกลับคืนสู่ทะเล

แนวคิดนี้ช่วย “เพิ่มจำนวนประชากรปูม้า” ในธรรมชาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยความที่เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้ลูกปูในวัยอ่อนระยะซูเอี๋ยที่ปล่อยลงทะเลบางเสร่ สามารถเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรง ถือเป็นตัวอย่างของการใช้ภูมิปัญญาในการฟื้นฟูทะเลไทยของชาวประมงพื้นบ้าน และปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางการอนุรักษ์ที่ “เนียนไปกับธรรมชาติ” ( nature-based solution ) ได้อย่างลงตัว
อาจารย์สาโรจน์ เริ่มดำริห์ สถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและให้ความรู้แก่ชุมชน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเข้ามาร่วมงานในปี 2563 ได้กล่าวถึงการเป็นต้นแบบธนาคารปูของบางเสร่ว่า ไม่ได้จำกัดเพียงการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ แต่ยังส่งเสริมอาชีพประมง สร้างรายได้ให้ชุมชน และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสวิถีชีวิตพื้นบ้าน
จากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงการผนึกกำลังของคนในท้องถิ่นและภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นายบรรเลง เร่งรีบ และนายบุญยัง นักร้อง ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง “ธนาคารปูม้าบางเสร่” รวมถึงนายบุญเกิด ศิริพงศ์ ประธานประมงพื้นบ้านบางเสร่ ต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการฟื้นฟูปูม้าและทรัพยากรทางทะเล เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในระยะยาว
อีกหนึ่งผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงคือ นางวลีพร อินอนงค์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 บางเสร่ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และเรื่องราวของปูม้าเป็นจุดขายที่ทรงพลัง ทั้งในเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยว โดยเธอเชื่อมั่นว่าเสน่ห์ของบางเสร่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ จนชุมชนแห่งนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจและเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ฟังเสียงลุงบรรเลง 20 ปี แห่งความเปลี่ยนแปลงของบางเสร่กับวิกฤตทะเล
ลุงบรรเลง เร่งรีบ ผู้มีบทบาทสำคัญในธนาคารปูม้าบางเสร่ โดยทำหน้าที่หลักต่างๆ ประหนึ่งกิจวัตรประจำวันของตัวเอง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพาะฟักลูกปู ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว ประสานงานหน่วยงานต่างๆ และเป็นผู้นำโครงการเฝ้าสังเกตพื้นที่และแก้ปัญหาโครงการธนาคารปูม้า โดยลุงบรรเลงเล่าว่า

บางเสร่เป็นบ้านเกิดที่ตนเองเติบโตและเห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนมาตลอดชีวิต ตั้งแต่ยุคที่ชาวบ้านทำประมงชายฝั่งและสามารถจับปลาได้มาก
มาจนถึงช่วง 20 ปีหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีการจับ “ปูม้า” ในปริมาณสูงจนเกินกว่าความสามารถ ในการเพิ่มจำนวนตามธรรมชาติ ส่งผลทำให้จำนวนปูม้าในทะเลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ตลอดจนการจับปูที่ยังไม่เติบโตเต็มที่หรือมีขนาดเล็กเกินไป ที่เรียกกันว่าปูส้มตำ และขาดการควบคุมการจับสัตว์น้ำ ส่งผลให้ระบบนิเวศทางทะเลเสื่อมโทรม และทำให้อาชีพการประมงตกอยู่ในภาวะที่ไม่ยั่งยืน ชาวประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านเรือเล็ก ไม่สามารถจับปูได้เพียงพอต่อการบริโภคและการจำหน่าย
“จากเมื่อก่อนจับปูม้าได้ลำนึงครั้งละเป็น 100 กิโลกรัม เรือก็มีเยอะ แต่พอมาช่วงหลังๆ ประมาณปี 2560 จับได้ลดลงเหลือแค่ 20 กิโลกรัม ไม่เกิน 40 กิโลกรัม ก็ได้อยู่แค่นั้นแหละ มันก็ขาดทุนเพราะว่าค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมัน ค่าโสหุ้ย และค่าลูกน้อง เป็นอย่างนี้อยู่หลายปี พอมาปี 2563- 2564 ถึงเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ปูเริ่มมีมากขึ้น ไม่ใช่แค่ที่บางเสร่ ทั่วประเทศเลยก็เป็นแบบนี้ ”
“ธนาคารปูม้า” โมเดลฟื้นฟูทะเลไทยอย่างยั่งยืน
โครงการธนาคารปูม้า นับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า และส่งเสริมความยั่งยืนในวิถีชีวิตของชาวประมงในพื้นที่บางเสร่ ผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและจำนวนลูกปูที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชาวประมงสามารถจับปูได้มากขึ้นโดยไม่ต้องออกเรือไปไกล ช่วยลดต้นทุนและสร้างรายได้ที่มั่นคง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือของชุมชนและความตั้งใจจริงของทุกฝ่าย



“ตั้งแต่เริ่มโครงการธนาคารปู ลูกปูก็เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ผมเริ่มทำได้สัก 2 เดือน ก็ลองไปสำรวจในอ่าวบางเสร่ เริ่มเห็นว่ามีลูกปูม้าเยอะขึ้น ก็ถือว่าทำได้ดี ทำแล้วได้ผล จากเมื่อก่อนมันไม่เคยมี แล้วช่วงปีแรก ๆ ลูกปูลอยเต็มทะเล ชาวประมงเห็นแล้วดีใจกันใหญ่ เขาก็กลับมาเล่าให้ผมฟัง เพราะรู้ว่านี่คือลูกปูที่เราปล่อยไป”
“ผมปล่อยลูกปูทุกวัน ก็เปรียบเทียบเหมือน 1 2 3 4 1 ก็จะโตไปก่อน 2 ก็ตามมา 3 ก็ตามมา เหมือนว่าระดับพี่ระดับน้อง ก็ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ก็ประมาณ 6 ปี กว่าเกือบ 7 ปี แล้วที่ทำมา”
ลุงบรรเลงกล่าวอย่างภาคภูมิใจ พร้อมเล่าว่า“ตอนกลางคืน น้ำทะเลลง ชาวบ้านก็มาจับปูตรงชายฝั่งได้ เอาไปทำกับข้าวกินกัน บางคนจับได้คนละ 3-4 กิโลกรัม แถมพอมีคนรู้ข่าว ก็ยิ่งมาจับกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามาตอนกลางคืนนะ คุณจะเห็นไฟแดงเต็มทะเลไปหมด”
แม้จะมีคำถามจากชาวบ้านว่าทำไมไม่ห้ามคนมาจับปู แต่ลุงบรรเลงก็ชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่ลุงไม่สามารถควบคุมได้ ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ แต่สำหรับตัวลุงเองกลับรู้สึกยินดีที่ทรัพยากรปูมีมากขึ้น และสามารถช่วยให้ชาวบ้านมีอาหารและรายได้
“ผมห้ามไม่ได้หรอกครับ ไม่มีสิทธิอะไรไปหวงห้าม ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ แต่ผมก็ดีใจนะ ที่ทำตรงนี้แล้วปูเยอะขึ้น ชาวบ้านได้มีกินมีใช้ จับได้ก็จับไป จับให้ทันผมปล่อยก็แล้วกัน” ลุงบรรเลงพูดเสริมอย่างอารมณ์ดี

ลุงบรรเลงเล่าถึงความสำเร็จของธนาคารปูม้า ที่ส่งผลต่อประมงพาณิชย์ว่า ไต๋เรือ เองก็เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ว่า ช่วงก่อนที่จะมีธนาคารปู การจับปูม้าในแต่ละวันมักไม่คุ้มทุน แต่ตอนนี้ปูมีจำนวนมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องออกเรือไปไกล ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำไร
“พอเขาได้ปูไข่นอกกระดองมา 2-3 ตัว ก็เอามาให้ธนาคารปู เราก็จะเขียนลายลักษณ์อักษรไว้แม่ปูจากนายก. 2 ตัว นายข. 4 ตัว ประมงพาณิชย์เอามาให้เยอะมาก บางลำก็ 50 ตัว 40 ตัว”
ทำอยู่ทุกวัน ๆ นี่ก็คิดดูว่าการปล่อยแม่ปูวันละ 40-100 ตัว แม่ปูหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ประมาณ 3 แสนถึง 7 แสนฟอง ถึงจะมีอัตราการรอดได้เพียง 1% แต่จำนวนลูกปูที่ปล่อยกลับสู่ทะเลในแต่ละวันก็ยังมีจำนวนมาก เมื่อคำนวณจากแม่ปูที่ปล่อยในแต่ละวัน ลองคิดดูจะเป็นลูกปูที่เพิ่มขึ้นในทะเลมากแค่ไหน
ความยั่งยืนที่เริ่มจากใจ
โครงการธนาคารปูม้าถูกริเริ่มโดยกลุ่มเกษตรกรทำประมงบางเสร่ โดยไม่ได้พึ่งงบประมาณจากหน่วยงานภายนอกในช่วงแรก ทุกอย่างเริ่มต้นจากเงินส่วนตัวของทีมงานและการสนับสนุนจากผู้ริเริ่ม เช่น นายสำราญ ก้องเสนาะ ประธานกลุ่มประมงตำบลบางเสร่ และนางสาวอัญชิสา พรหมศิริ จนกระทั่งในปีต่อ ๆ มาหน่วยงานรัฐ เช่น กรมประมง เริ่มเข้ามาช่วยสนับสนุน

ลุงบุญยัง นักร้อง เล่าถึงช่วงเริ่มต้นของโครงการว่า “ช่วงที่ก่อนพวกผมจะมาทำกัน คือก่อนปี 2562 ประมงก็หาปูได้น้อยมาก แล้วก็เห็นแม่ค้าขายปู นำปูใส่กล่องโดยเอามาจากต่างประเทศ เอาปูอัดกล่องน็อคน้ำแข็งมาขาย เพราะร้านค้าร้านอาหารบ้านเรามีความต้องการมาก ผมก็เห็นว่ามันวิกฤตแล้วละ เราก็มาคิดกันว่าจะดำเนินโครงการ เพราะเราเห็นว่ารัฐบาลก็ส่งเสริมเรื่องนี้มาตลอด แต่ก็ยังขาดความต่อเนื่อง เราก็เลยมาทำด้วยความคิดของพวกเรากันเอง”
“แรกๆ ก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะมาไกลได้ถึงขนาดนี้หรอกครับ ทำเพราะอยากเห็นความสมบูรณ์กลับคืนมาที่บ้าน เรา แต่พอทำไปมันก็มีแนวร่วมเพิ่มมากขึ้น ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็มีความปลื้มใจ ภูมิใจ”
“พวกเราทำมาเกือบ 7 ปีแล้ว แม้จะมีอุปสรรคเรื่องเครื่องมือและงบประมาณ แต่พวกเราก็ทำด้วยใจกันมาอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยและนักวิชาการ ที่เข้ามาช่วยให้คำแนะนำและสนับสนุนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ
ลุงบรรเลง เล่าพร้อม สรุปถึงความสำเร็จของโครงการว่า “สิ่งที่เราทำเป็นการคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ ช่วยให้ทรัพยากรฟื้นตัว และยังสร้างความมั่นคงให้กับวิถีชีวิตชาวประมงในระยะยาว ผมเชื่อว่าถ้าเราร่วมมือกันต่อไป ความยั่งยืนก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม”
จิตสำนึกสีเขียว สร้างอนาคตชุมชน
ผู้ใหญ่อ้อ ม.4 ตำบลบางเสร่ หนึ่งในแรงผลักดันสำคัญของโครงการ เล่าถึงปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จว่า อยู่ที่การ “ปลูกจิตสำนึก” ให้กับทุกคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง เจ้าของเรือ โรงเรียน หรือหน่วยงานราชการ

“เมื่อเราประชาสัมพันธ์โครงการออกไป เราพบว่าหน่วยงานต่าง ๆ และคนในชุมชนเริ่มตระหนักว่าสิ่งที่พวกเขาทำ ไม่ใช่แค่หน้าที่ แต่กลายเป็นจิตสำนึกในฐานะลูกหลานของที่นี่มากกว่า” ผู้ใหญ่อ้อกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
“อันดับแรก เป็นเรื่องของการทำยังไง ให้คนเห็นปัญหาเหมือนกัน แล้วรู้สึกว่าอยากจะเข้ามาแก้ไข มีส่วนร่วมไปด้วยกัน
นี่เป็นความท้าทาย ทำยังไงให้พี่น้องชาวประมงเห็นปัญหาในทิศทางเดียวกัน ให้เขารู้สึกว่าการที่เราลุกขึ้นมาทำธนาคารปูไข่นอกกระดอง หรือการอนุบาลแม่พันธุ์ปู ปลุกจิตสำนึกว่า ถ้าจับได้ปูไข่นอกกระดอง อย่านำไปขาย การสร้างการรับรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราก็ยังคงพูดอยู่ว่า พยายามอย่าคิดว่าเป็นหน้าที่ แต่ให้คิดว่ามันเพื่อบ้านของเรา”
ชุมชนแห่งนี้ได้ร่วมมือกันสร้าง “ธนาคารปูม้า” เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของคนในพื้นที่ โดยชาวบ้านและอาสาสมัครร่วมกันดูแล และปล่อยลูกปูกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าจากที่เราทำเรื่องกลุ่มวิถีชุมชนในด้านการพัฒนา และขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์หมู่บ้าน เราจึงดึงอัตลักษณ์ของชาวประมงพื้นบ้านมาเป็นจุดขายในด้านการท่องเที่ยว

“ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือหน่วยงานใดที่มาเยี่ยมชม เราจะใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์เรื่องราวของเรา ทำให้ทุกคนรู้จักหมู่บ้านบางเสร่มากขึ้น”
ด้วยแนวคิดนี้ และการสื่อสารที่ต่อเนื่องทุกครั้งที่มีหน่วยงานหรือองค์กรเข้ามาเยี่ยมชมชุมชน ทำให้เรื่องราวของธนาคารปูม้าและทะเลบางเสร่เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่สนใจวิถีชีวิตชุมชน พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมปล่อยลูกปู ซึ่งไม่เพียงสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของระบบนิเวศ แต่ยังช่วยสร้างรายได้และความยั่งยืนให้กับชุมชนอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบางเสร่จาก “ชุมชนประมง” ไปสู่ “จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว” ก็นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ น้ำเสีย และการจราจรที่ติดขัด
เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ชุมชนจึงให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ ผ่านกิจกรรมจิตอาสา เช่น การเก็บขยะชายหาด และรณรงค์การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แนวทางดังกล่าวไม่เพียงช่วยลดผลกระทบด้านลบ แต่ยังรักษาความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติไว้สำหรับอนาคต
ผู้ใหญ่อ้อได้กล่าวปิดท้ายอย่างน่าคิดว่า การส่งต่อแนวคิดด้านการอนุรักษ์และคุณค่าของชุมชนไปสู่คนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องที่เธอให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แม้จะมีความกังวลจากแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานของเยาวชนเพื่อหางานในเมืองหรือพื้นที่อื่น ๆ เธอเน้นว่าการปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ และบทบาทของพวกเขาในชุมชนเป็นสิ่งจำเป็น
“ความท้าทายนี้ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสานต่อวัฒนธรรม วิถีชีวิต และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน”
ผู้ใหญ่อ้อกล่าว พร้อมยกตัวอย่างความสำเร็จของโครงการธนาคารปูม้าและการทำงานร่วมกันของคนในชุมชนบางเสร่เป็นแบบอย่างที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่

ทรัพยากรแห่งเศรษฐกิจและระบบนิเวศ
อาจารย์สาโรจน์ เริ่มดำริห์ กล่าวถึงความสำคัญของปูม้า ในหลากหลายมิติ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในระบบนิเวศ ทำหน้าที่สำคัญในห่วงโซ่อาหารทะเล และเป็นนักล่าในระบบนิเวศ มีหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น หอย กุ้ง และลูกปลา
“การลดลงของปูม้าจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมดุลของทะเล”
ในแง่เศรษฐกิจ ปูม้าสร้างรายได้ให้กับชุมชนชายฝั่งทะเลไทย และเป็นสินค้าสำคัญที่มีการแปรรูปเพื่อการส่งออก (ม.ค.-ธ.ค. 2564 ไทยส่งออกเนื้อปูปริมาณ 7,216 ตันมูลค่า 2,087 ล้านบาท ปริมาณ และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 และ 52 ตามลำดับ ) ราคาปูที่เพิ่มขึ้นในตลาดสะท้อนความต้องการที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การจับปูในปริมาณมากเกินไปในช่วงปี 2540-2547 “ส่งผลให้ประชากรปูลดลงอย่างน่าใจหาย”
ธนาคารปูม้า ถือเป็นแนวคิดเชิงอนุรักษ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะในชุมชนบางเสร่ที่ริเริ่มโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรม

อาจารย์สาโรจน์กล่าวว่า “สิ่งที่ลุงบรรเลงทำนั้นเห็นผลชัดเจน เราเพียงเข้ามาเติมความรู้ในเชิงวิชาการ เพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารปูสามารถวัดผลและปรับปรุงได้ในระยะยาว”
“ต้องพูดว่าที่บางเสร่ทำ คือความยั่งยืน คุณลุงปล่อยปูทุกวันนะครับ ปูเข้ามาจากเรือเล็ก และเรือพาณิชย์ ซึ่งเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็จะมีแม่ปูค่อนข้างมาก เรียกว่าน่าชื่นชมในหลาย ๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างเรือพาณิชย์เองก็มีจิตใจในการอนุรักษ์ เอาแม่ปูมาให้ธนาคาร
ส่วนของธนาคารคือคุณลุงเองก็ทำด้วยความเสียสละ ทำอย่างต่อเนื่อง ในภาพรวมก็จะนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนของชุมชนครับ”
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเหมาะสมกับบริบทของชุมชน ธนาคารปูบางเสร่ ยังได้ปรับรูปแบบการอนุบาลปูจากการใช้ “คอนโดปู” หรือ “ตะกร้า” ใต้ทะเล มาเป็นระบบการอนุบาลในถังบนบกที่สะดวกต่อการจัดการมากขึ้น วิธีนี้ช่วยให้สามารถนำแม่ปูที่มีไข่แก่มาฝากไว้ในธนาคารจนกระทั่งไข่ฟักออกมาเป็นลูกปู ก่อนจะปล่อยคืนสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“แม่ปู 1 ตัว สามารถให้ลูกปูได้ถึง 1 ล้านตัว แม้อัตราการรอดจะอยู่ที่เพียง 1% แต่ก็ยังหมายถึงการคืนลูกปูถึง 10,000 ตัวให้กับทะเล”
อาจารย์สาโรจน์กล่าวเสริม พร้อมเน้นย้ำถึงผลกระทบที่สำคัญของโครงการนี้ต่อการฟื้นฟูประชากรปูม้าและระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน
ทุกแม่ปูที่รอดนำความอุดมสมบูรณ์กลับมา
โครงการธนาคารปูม้าบางเสร่ ไม่ได้ช่วยเพียงเพิ่มจำนวนปูในทะเล แต่ยังสร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับชุมชนเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์
“ทุกแม่ปูที่รอดคืออนาคตของทะเลไทย” คำกล่าวของอาจารย์สาโรจน์สะท้อนความหวังที่โครงการนี้จะนำมาซึ่งการฟื้นฟูทะเลไทยให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์

ความหลากหลายทางชีวภาพรากฐานแห่งความยั่งยืน
อาจารย์สาโรจน์ กล่าวว่า ทะเลบางเสร่ยังคงมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ โดยการให้ความรู้แก่ชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นเกี่ยวกับการจับปูอย่างถูกวิธี เช่น การหลีกเลี่ยงการจับแม่ปูที่มีไข่นอกกระดอง และการส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์
โครงการธนาคารปูม้าบางเสร่เป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือระหว่างชุมชน นักวิจัย และภาครัฐ ที่ไม่เพียงช่วยเพิ่มจำนวนปูม้า แต่ยังส่งเสริมการอนุรักษ์ระบบนิเวศของทะเลไทย
เมื่อทุกคนมีส่วนร่วม ความยั่งยืนก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม และอนาคตในวันข่างหน้าของทะเลไทย จะเป็น “คลังอาหาร” ที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป
จากวิกฤตสู่การฟื้นตัว สถิติเผยจำนวนลดฮวบในอดีต
พลิกกลับเพิ่มต่อเนื่องด้วยธนาคารปูม้า
สถิติปริมาณและมูลค่าการจับปูม้า โดยกลุ่มสถิติการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่า การประมงไทยในพื้นที่อ่าวไทยและฝั่งอันดามันกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตปูม้าอย่างหนักหน่วง
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเรื่อง “การขยายผลธนาคารปูม้า” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยมุ่งหมายที่จะ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ผ่านการขยายผลโครงการไปยังชุมชนชายฝั่งจำนวน 500 ชุมชนภายในระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หลังจากดำเนินโครงการปีแรก ธนาคารปูม้าสามารถสร้างผลลัพธ์ที่น่าพอใจ โดยพบว่าประชากรปูม้าในทะเลไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี และยังคงแสดงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เรื่องและภาพ : ชนิตา งามเหมือน