fbpx
News update

TECHNOVISION: 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2024

จากในปี 2023 Generative AI เป็นศูนย์กลางในความสนใจของธุรกิจทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่เพิ่มความคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะสามารถกระตุ้นความก้าวหน้าในธุรกิจและสังคมได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรื่องนี้จะยังคงเป็นหัวข้อที่มีการพูดคุยกันอย่างมากในปีหน้า แต่เทคโนโลยีอื่นๆก็มีความสำคัญ และจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน ให้กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ถึงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี Generative AI ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่ใช่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น” Pascal Brier ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรมของ Capgemini และสมาชิกของคณะกรรมการบริหารกลุ่มอธิบาย

“ทุกๆ วัน ทีมงานของ Capgemini กำลังสำรวจภูมิทัศน์ของเทคโนโลยี เพื่อควบคุมพลังของนวัตกรรมสำหรับลูกค้าของเรา และคาดการณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญในอนาคต

โดยนอกเหนือจาก Generative AI แล้ว พื้นที่ที่น่าจับตามองในปี 2024 ยังรวมไปถึงวิวัฒนาการในเซมิคอนดักเตอร์ การเข้ารหัสหลังควอนตัม เทคโนโลยีแบตเตอรี่ และการสำรวจอวกาศในพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดการกับความท้าทายของเศรษฐกิจ ชุมชน และระบบนิเวศของเรา”

เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2024

1. Generative AI ความเติบโตที่น่าจับตามอง

Generative AI ได้เข้ามาสู่เส้นทางเทคโนโลยีระดับโลก และสร้างตัวตนในทางธุรกิจเมื่อปลายปี 2022 และ 2023 โดยคาดว่าจะมีผลกระทบทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2024 แล้วเทคโนโลยีนี้จะยิ่งใหญ่สมกับกระแสที่มาแรงจริงหรือไม่?

คำตอบสั้น ๆ คือใช่อย่างแน่นอน โดย ‘โมเดลของภาษา’ ในสเกลใหญ่ของปัจจุบันจะยังคงเจริญเติบโตต่อไป แต่ก็ยังมีความต้องการเทคโนโลยีนี้ในโมเดลที่เล็กลงและคุ้มค่ามากขึ้นเช่นกัน

การใช้โมเดลเหล่านี้จะมีขนาดเล็กลง โดยสามารถทำงานบนการติดตั้งที่ใช้พื้นที่น้อยและมีความสามารถจำกัดในการประมวลผล รวมถึงการทำงานในสถาปัตยกรรมขององค์กรขนาดเล็ก ในปี 2024 แพลตฟอร์ม AI ใหม่จะเข้ามาต่อสู้อย่างหนักขึ้น โดยการรวมโมเดล AI ทั่วไปเข้ากับข้อมูลคุณภาพสูงจากแผนภูมิความรู้ [1]

เพื่อสนับสนุนความสามารถดังกล่าว แพลตฟอร์มต่างๆจะเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดหาเครื่องมือสำหรับองค์กรให้ใช้ประโยชน์จาก AI ในเชิงสร้างสรรค์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคในเชิงลึก สิ่งเหล่านี้ จะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันในระยะยาวของแบบจำลอง ที่ได้รับการออกแบบและปรับแต่งสำหรับงานเฉพาะด้าน และพัฒนาระบบนิเวศที่สร้างจากหลายปัจจัย

ความสำคัญของแนวโน้มคือ การพัฒนาใน Generative AI เหล่านี้ จะแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการไปสู่เทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ หลากหลาย และคุ้มค่ามากขึ้น นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถขยายการใช้งาน AI ในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างรวดเร็ว และขณะเดียวกันก็ได้รับคุณค่าในระยะยาวจากเทคโนโลยี

2. เทคโนโลยีควอนตัม เมื่อไซเบอร์มาพบกับควอนตัม

การแข่งขันด้านอาวุธไซเบอร์ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยที่ความก้าวหน้าในพลังการประมวลผลจะต้องได้รับการตอบสนองด้วยกลไกการป้องกันทางดิจิทัล ตัวอย่างเช่น AI และ Machine Learning (ML) ถูกนำมาใช้มากขึ้นในการตรวจจับภัยคุกคาม ในขณะที่โมเดลการรักษาความปลอดภัยแบบ Zero Trust อาจกลายเป็นมาตรฐานระดับโลก

อย่างไรก็ตามภัยคุกคามใหม่ก็กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแรงหนุนจากการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัม ซึ่งอาจทำให้มาตรฐานการเข้ารหัสในปัจจุบัน เช่น RSA และ ECC ล้าสมัยไปแล้ว

การพัฒนาอัลกอริธึมต้านทานควอนตัมจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลในอนาคต ในสหรัฐอเมริกา มาตรฐานสำหรับ “post-quantum cryptography” (PQC)2024 เช่น อัลกอริธึมการเข้ารหัสที่เชื่อว่าทนทานต่อการโจมตีควอนตัม ที่จะออกมาในปี 2024 โดย National Institute of Standards and Technology [2]

เนื่องจากแนวทางปฏิบัติการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วยคอมพิวเตอร์ควอนตัม กำหนดให้องค์กรภาครัฐและเอกชนที่เป็นหน่วยจัดหาของรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องมีความพร้อมที่จะ migrate ไปยัง PQC ภายในหนึ่งปีหลังจากประกาศมาตรฐาน NIST หัวข้อนี้จึงมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่การหารือของสหรัฐอเมริกาในปี 2024

ความสำคัญของแนวโน้มคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้สร้างพันธะสัญญาว่าจะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ของทั่วโลก ผู้นำธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทั้งหมด จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ในขณะที่องค์กรต่างๆ จำนวนมากจะเริ่มการเปลี่ยนผ่านทางควอนตัม

3. เซมิคอนดักเตอร์ กฎของมัวร์ (กฎที่อธิบายแนวโน้มของการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ในระยะยาว) ยังไม่ตาย แต่มันกำลังเปลี่ยนแปลงไป

เซมิคอนดักเตอร์เป็นสินค้าที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก (แซงหน้าน้ำมันดิบและยานยนต์)[3] ดังนั้นเซมิคอนดักเตอร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล กฎของมัวร์ระบุว่าพลังการประมวลผลของไมโครชิปเพิ่มขึ้นสองเท่าทุก ๆ สองปี ในขณะที่ต้นทุนลดลงครึ่งหนึ่ง แต่ทฤษฎีนี้ถึงขีดจำกัดทางกายภาพและทางเศรษฐกิจแล้วหรือไม่

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จวนจะเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยมีปัจจัยหลายประการมาบรรจบกันเพื่อกำหนดทิศทางใหม่ในปี 2024 ชิปมีขนาดเล็กลงถึง 2 นาโนเมตร เข้าใกล้ขนาดอะตอมเพียงไม่กี่อะตอม และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นความท้าทายของโรงงานใหญ่ๆ ผู้ผลิตชิป ในปี 2024 คาดว่าน่าจะเห็นวิวัฒนาการของกฎของมัวร์ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่

แม้ว่าชิปจะย่อขนาดทางกายภาพจนใกล้ถึงขีดจำกัดแล้ว แต่เราจะได้เป็นความก้าวหน้าของ chiplets [4] ในการซ้อนชิป 3 มิติ นวัตกรรมด้านวัสดุศาสตร์ และ lithography (การกัดลายวงจร) รูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มพลังแห่งการประมวลผล

ความสำคัญของแนวโน้มคือ คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมต่างๆ และขับเคลื่อนด้วยวัตถุที่เชื่อมต่อที่ทรงพลังยิ่งขึ้น ตั้งแต่อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน ยานยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงศูนย์ข้อมูลและระบบโทรคมนาคม

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ จะสะท้อนให้เห็นในการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งในโรงงานขนาดใหญ่ ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ โมเดลทางธุรกิจ และบริการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024

4. แบตเตอรี่ ขุมพลังของเคมี

การปรับปรุงประสิทธิภาพและการลดต้นทุนของแบตเตอรี่ เป็นจุดสนใจหลักของทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ เนื่องจากแต่ละประเทศมีความเสี่ยงทางอุตสาหกรรมสูง จุดมุ่งหมายหลักของทุกประเทศจึงเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบการขนส่ง และเร่งพัฒนาการจัดเก็บพลังงานในระยะยาว ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน และเร่งความเร็วของโครงข่ายอัจฉริยะ

ในขณะที่ LFP (lithium ferro-phosphate) และ NMC (nickel manganese cobalt) กำลังกลายเป็นมาตรฐานสำหรับการใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็มีการสำรวจเทคโนโลยีหลายอย่างที่มีคุณสมบัติทางเคมีของแบตเตอรี่ เช่น แบตเตอรี่ที่ปราศจากโคบอลต์ (sodium-ion) หรือ solid-state batteries (แบตเตอรี่ที่ใช้อิเล็กโทรไลต์แข็ง)

โดยมีแนวโน้มว่าจะมีความคืบหน้าในปี 2024 ทางเลือกที่ว่านี้ จะทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีความหนาแน่นของพลังงานสูงกว่า (เช่น ความจุของการจัดเก็บ) ในราคาที่ต่ำกว่าแบตเตอรี่แบบเดิมๆ

นอกจากนี้ยังลดการพึ่งพาวัสดุบางชนิด เช่น ลิเธียม นิกเกิล โคบอลต์ แร่ธาตุหายากอื่นๆ และกราไฟต์ ขณะเดียวกันก็รับประกันอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นและความปลอดภัยที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ความสำคัญของแนวโน้มคือ ในโลกธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้อาจเสนอทางเลือกที่มากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และการใช้วัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้น

5. เทคโนโลยีอวกาศ: จัดการกับความท้าทายของโลกจากอวกาศ

ในปี 2024 มนุษยชาติจะเตรียมกลับไปสู่ดวงจันทร์ ความสนใจใหม่ในเทคโนโลยีอวกาศนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อขับเคลื่อนการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และช่วยแก้ปัญหาความท้าทายที่สำคัญที่สุดของโลก

รวมถึงการติดตามความเสี่ยงและภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศ การเข้าถึงระบบโทรคมนาคมที่ดีขึ้น ตลอดจนการป้องกันและการรักษาอธิปไตย ยุคอวกาศใหม่ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แต่ยังขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ตั้งแต่สตาร์ทอัพไปจนถึงองค์กรต่างๆ และยังได้รับการสนับสนุนจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G ระบบดาวเทียมขั้นสูง บิ๊กดาต้า คอมพิวเตอร์ควอนตัม เป็นต้น

ในปี 2024 สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การเร่งสร้างนวัตกรรมและ การสนับสนุนโครงการเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มในด้านการขับเคลื่อนยานอวกาศที่ยั่งยืน (ทั้งด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือนิวเคลียร์) และกลุ่มดาวใหม่ๆที่มีวงโคจรต่ำเพื่อการสื่อสารที่ราบรื่นไร้รอยต่อ และการเข้ารหัสควอนตัม

ความสำคัญของแนวโน้มคือ การไล่ลาแข่งขันทางอวกาศครั้งสุดท้าย ได้ปฏิวัติโลกด้วยการเร่งสร้างนวัตกรรมที่ล้ำสมัย เช่น เทคโนโลยีดาวเทียม, GPS, Integrated circuits (IC) พลังงานแสงอาทิตย์ และวัสดุคอมโพสิตต่างๆ การกลับมาสู่ความรู้จากดวงดาวครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิวัติที่คล้ายกันกับในสาขาคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และการสังเกตโลก

ล้ำหน้าข้ามปี 2024 – เทคโนโลยีที่จะกำหนดทิศทางในอีก 5 ปีข้างหน้า

1. ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ สู่ทางเลือกที่น่าเชื่อถือแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล

ไฮโดรเจนได้รับการขนานนามมาอย่างยาวนานว่าเป็นทางเลือกเชื้อเพลิงสะอาด เนื่องจากไฮโดรเจนจะผลิตน้ำได้ก็เฉพาะเมื่อถูกเผาไหม้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฮโดรเจนแบบดั้งเดิมนั้นต้องใช้พลังงานมหาศาลและมักอาศัยเชื้อเพลิงจากฟอสซิล แนวโน้มของไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำในอนาคตที่จะจัดการข้อจำกัดนี้ คือการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานนิวเคลียร์เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการ electrolysis ของน้ำ แยกออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนโดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ความก้าวหน้าในเทคโนโลยี electrolyzer รวมถึงการพัฒนาเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (PEM) และอิเล็กโตรไลเซอร์โซลิดออกไซด์ อยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพและการลดต้นทุน

อย่างไรก็ตาม ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำยังไม่อยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันได้ ทั้งในเรื่องของความเสถียรและความท้าทายในการปรับสเกล ประเทศและบริษัทต่างๆ ทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงของการลงทุนมหาศาลให้กับการผลิตไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนในอนาคตอันใกล้นี้

2. การดักจับคาร์บอน เร่งลดการปล่อยคาร์บอนของกระบวนการที่สร้างคาร์บอนจำนวนมาก

ในขณะที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนยังคงมีความสำคัญสูงสุด ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส อุตสาหกรรมที่ยากต่อการบรรเทาหลายแห่ง จะต้องลงทุนในเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (โดยเฉพาะที่แหล่งกำเนิด เช่น โรงงานปูนซีเมนต์หรือเหล็ก) เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์

วิธีการใหม่ในการดักจับ CO2 กำลังมีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้พลังงานน้อยลง โดยได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนสาธารณะที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

นวัตกรรมเหล่านี้ ประกอบด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีตัวทำละลายขั้นสูงที่ใช้พลังงานน้อยลงในการดักจับ การใช้ และจัดเก็บ CO2 รวมถึงตัวดูดซับที่เป็นของแข็งซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและมีความสามารถในการคัดแยก CO2 ที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ การกรอง CO2 จากก๊าซอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีเมมเบรนกำลังได้รับการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการปรับแต่งสเกล แต่การดักจับคาร์บอนก็ยังคงเผชิญกับความท้าทายเฉพาะเรื่อง เช่น ต้นทุน การจัดเก็บ หรือการแปรสภาพในกระบวนการทางอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับการกำจัด CO2 ออกจากชั้นบรรยากาศ ผ่านการดักจับอากาศโดยตรง (DAC) แม้ว่าการใช้งานผ่านโซลูชั่นนี้ยังคงมีราคาแพงเมื่อเทียบกับโซลูชันดักจับคาร์บอนในทางเลือกอื่นๆ

3. ชีววิทยาสังเคราะห์ การควบคุมพลังแห่งธรรมชาติ

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ความสำคัญของชีววิทยาสังเคราะห์ในการปกป้องสุขภาพของประชาชนวิ่งมาอยู่ในลำดับต้นๆ อย่างศักยภาพอันมหาศาลของนวัตกรรม เช่น mRNA สังเคราะห์ ในการพัฒนาวัคซีนด้วยความเร็วที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2023 เป้าหมายสำคัญได้บรรลุถึงความสำเร็จ เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของประเทศอังกฤษอนุมัติการบำบัดโรคโดยใช้เครื่องมือแก้ไขยีน CRISPR-Cas9 เพื่อรักษาโรค Sickle Cell Disease (SCD) (โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เม็ดเลือดมีอายุสั้นและแตกสลายได้ง่าย) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์

แต่ชีววิทยาสังเคราะห์ยังไปไกลกว่านั้นอีกมาก เพราะเป็นสาขาสหวิทยาการที่ผสมผสานชีววิทยา วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้เกิดการประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิวัติที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งการแพทย์ เกษตรกรรม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม  

ด้วยจุดบรรจบกันของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และความต้องการที่สำคัญระดับโลก เทคโนโลยีนี้จึงพร้อมที่จะเป็นประเด็นร้อนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นวัตกรรมที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ การตั้งโปรแกรมเซลล์และจุลินทรีย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยาใหม่ สารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวัสดุที่ยั่งยืน รวมถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขยีนที่มีศักยภาพในการรักษาความผิดปกติทางพันธุกรรม

ที่มา : www.capgemini.com/technovision


[1] A knowledge graph คือการแสดงข้อมูลอย่างมีโครงสร้างและการเชื่อมโยงของข้อมูล

[2] https://www.nist.gov/news-events/news/2023/08/nist-standardize-encryption-algorithms-can-resist-attack-quantum-computers

[3] https://www.wto.org/english/blogs_e/data_blog_e/blog_dta_14jul23_e.htm

[4] Chiplets เป็นองค์ประกอบย่อยของชิปที่แบ่งออกเป็นบล็อกการทำงาน