Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

เศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง ไตรมาสแรกปี 2567 จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลทะลุ 2.5 หมื่นราย

ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อความศรัทธาหรือธุรกิจสายมูน่าจับตามองอย่างยิ่ง นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาโดดเข้าร่วมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด ไม่เพียงแต่เฉพาะคนไทยที่ตื่นตัว แต่ชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะชาวเอเชีย) ที่เดินทางเข้าไทยส่วนหนึ่งเน้นรูปแบบการท่องเที่ยวสายมู หลายจังหวัดใช้กระแสความเชื่อความศรัทธาเป็นไฮไลท์ท่องเที่ยวดึงรายได้เข้าท้องถิ่น ส่งผลเกิดการกระจายรายได้สู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตตาม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ไตรมาสแรกของปี 2567 (มกราคม – มีนาคม) เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นช่วงเวลาที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ด้วยเป็นปีที่เริ่มเข้าสู่การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามสภาวะปกติ หลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยกรมฯ ขอฉายภาพเศรษฐกิจที่เติบโตผ่านตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 25,003 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 67,940.55 ล้านบาท ทั้งนี้ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,957 ราย ทุน 4,193.26 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,907 ราย ทุน 8,093.65 ล้านบาท 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 1,093 ราย ทุน 2,302.26 ล้านบาท

โดยทั้ง 3 ประเภทธุรกิจคิดเป็น 7.83% , 7.63% และ 4.37% ของการจดทะเบียนรวมทั้งประเทศตามลำดับ ทั้งนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งรวมกันของ 3 ธุรกิจในไตรมาส 1/2567 มี จำนวน 4,957 ราย คิดเป็น 19.83% ของจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งทั้งหมดในไตรมาส 1/2567 และมีทุนจดทะเบียน 14,589.17ล้านบาท คิดเป็น 21.47% ของจำนวนทุนจดทะเบียนทั้งหมดในไตรมาส 1/2567

ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบรายไตรมาส พบว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจรวมลดลง 1,179 ราย หรือ 4.50% เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสแรกของปี 2566 และทุนจดทะเบียนลดลง 271,645.88 ล้านบาท หรือ 79.99% เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสแรกของปี 2566 (ไตรมาสแรกปี 2566 จัดตั้งธุรกิจ 26,182 ราย ทุนจดทะเบียน 339,595.43 ล้านบาท)

อย่างไรก็ดี จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในไตรมาส 1/2567 ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557 – 2566) โดยเป็นรองเพียงยอดจดทะเบียนในไตรมาส 1/2566 เท่านั้น (ไตรมาส 1/2566 จดทะเบียน 26,182 ราย)

ข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจสะสมแบ่งตามภาคธุรกิจ ไตรมาส 1/2567 เป็นธุรกิจ ภาคบริการ 14,257 ราย ภาคขายส่ง/ขายปลีก 8,288 ราย ภาคการผลิต 2,458 ราย คิดเป็น 57.02% 33.15% และ 9.83% ของการจดทะเบียนรวม ทั้งประเทศตามลำดับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) ภาคบริการ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,957 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,907 ราย
และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 1,093 ราย คิดเป็นสัดส่วน 13.73% , 13.37% และ 7.67% ของการจดทะเบียนรวมภาคบริการ ตามลำดับ

2) ภาคการผลิต ได้แก่ ธุรกิจปลูกพืชอื่นๆ ประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค 135 ราย ธุรกิจผลิตเครื่องหอม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ 115 ราย และ ธุรกิจการติดตั้งเครื่องจักรอุตสาหกรรม
และอุปกรณ์ 78 ราย คิดเป็นสัดส่วน 5.49% , 4.68% และ 3.17% ของการจดทะเบียนรวมภาคการผลิต ตามลำดับ

3) ภาคขายส่ง/ขายปลีก ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต 643 ราย ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่นๆ ในร้านค้าทั่วไป 465 ราย และ ธุรกิจขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่นๆ 347 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7.76% , 5.61% และ 4.19% ของการจดทะเบียนรวมภาคขายส่ง/ปลีก ตามลำดับ

สำหรับสถิติของเดือนมีนาคม 2567 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จำนวน 7,733 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 22,146.14 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 มีอัตราการจัดตั้งลดลง 1,446 ราย หรือ ลดลง 15.75% และทุนจดทะเบียนลดลง 277,462.39 ล้านบาท หรือ ลดลง 92.61% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 (มีนาคม 2566 จดทะเบียนจัดตั้ง 9,179 ราย ทุนจดทะเบียน 299,608.53 ล้านบาท)

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกข้อมูลตามพื้นที่จัดตั้ง พบว่า ไตรมาส 1/2567 มีการกระจายตัวของการเติบโตธุรกิจอยู่ทุกพื้นที่ โดยมีการจัดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 7,296 ราย คิดเป็น 29.18% ของการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งประเทศ และจัดตั้งในพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 17,707 ราย คิดเป็น 70.82% ของการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งประเทศ โดยจังหวัด

ในส่วนภูมิภาคที่มีการจัดตั้งธุรกิจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ชลบุรี 2,211 ราย ทุน 9,874.49 ล้านบาท 2) นนทบุรี 1,420 ราย ทุน 2,918.91 ล้านบาท และ 3) สมุทรปราการ 1,340 ราย ทุน 3,573.47 ล้านบาท

ไตรมาส 1/2567 ธุรกิจเลิกประกอบธุรกิจ จำนวน 2,809 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 11,943.57 ล้านบาท มีการเลิกประกอบธุรกิจลดลง 459 ราย หรือลดลง 14.05% และทุนจดทะเบียนเลิกลดลง 17,949.05 ล้านบาท หรือลดลง 60.05% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566 ธุรกิจเลิกประกอบธุรกิจ จำนวน 3,268 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 29,892.62 ล้านบาท)

ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเลิกสะสมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 296 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 154 ราย และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 107 ราย คิดเป็น 10.54% , 5.48% และ 3.81% ของการจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจรวมในไตรมาสที่ 1/2567 ตามลำดับ

สำหรับสถิติของเดือนมีนาคม 2567 มีธุรกิจจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจจำนวน 911 ราย ทุนจดทะเบียน 5,582.28 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 มีจำนวนการจดทะเบียนเลิกลดลง 191 ราย หรือลดลง 17.33% และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนลดลง 17,102.68 ล้านบาท หรือลดลง 75.39% (มีนาคม 2566 จดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจ 1,102 ราย ทุน 22,684.96 ล้านบาท)

ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเลิกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 104 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 54 ราย และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 36 ราย คิดเป็น 11.42% , 5.93% และ 3.95% ของการจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจรวมทั้งประเทศในเดือนมีนาคม 2567 ตามลำดับ

ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 การจดทะเบียนธุรกิจมีจำนวนทั้งสิ้น 1,902,239 ราย ทุนจดทะเบียน 29.83 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 912,297 ราย ทุน 22.10 ล้านล้านบาท

แบ่งออกเป็น บริษัทจำกัด 709,556 ราย ทุน 15.88 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 201,283 ราย ทุน 0.48 ล้านล้านบาท และ บริษัทมหาชนจำกัด 1,458 ราย ทุน 5.74 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77.78% , 22.06% และ 0.16% ของนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ ตามลำดับ

 1) กิจกรรมด้านความบันเทิง เช่น กิจกรรมดนตรี งานศิลปะ มีการเติบโตของการจัดตั้งอยู่ที่ 64.00% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566) เนื่องจากการขยายตัวของการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อความบันเทิง และกิจกรรมการตลาดออนไลน์ในปัจจุบันที่เน้นความบันเทิง (Shoppertainment) เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อขายสินค้าให้กับผู้บริโภคสำหรับอัตราการเติบโตของมูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 777.23% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

2) ธุรกิจขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ มีการเติบโตของการจัดตั้งอยู่ที่ 57.78% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566) เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติที่ชอบความประณีต และไทยยังมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบ เช่น ไม้ หวาย และยางพารา เป็นต้น

ประกอบกับแรงงานไทยมีความประณีตและเชี่ยวชาญในการประดิษฐ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สำหรับอัตราการเติบโตของมูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 46.83% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

3) ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ มีการเติบโตของการจัดตั้งอยู่ที่ 47.62%
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566) ซึ่งจะเติบโตตามปริมาณการจดทะเบียนยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น ที่มีการตกแต่งอุปกรณ์เสริมต่างๆให้กับยานยนต์ เพื่อความสวยงามและการใช้งาน อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนทำให้ผู้บริโภค เลือกซ่อมแซมยานยนต์เดิม รวมทั้งการทดแทนอะไหล่หรือชิ้นส่วนยานยนต์ที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน แทนการซื้อยานยนต์ใหม่

4) กิจกรรมสปา มีอัตราการเติบโตของจำนวนอยู่ที่ 35.59% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566) เนื่องจากไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุต้องการกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ประกอบกับต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ชื่นชอบกิจกรรมสปาและสมุนไพรไทย สำหรับอัตราการเติบโตของมูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 30.29% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

5) ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด โดยมีอัตราการเติบโตของจำนวนอยู่ที่ 37.75% เมื่อเทียบกับ ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566) โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) กว่า 99.00% เนื่องจาก
การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ จากอุปสงค์การท่องเที่ยวทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมาตรการท่องเที่ยวของภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ ส่งผลให้จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเป็นไปในทิศทางบวก โดยไตรมาส 1/2567 มีการจัดตั้งธุรกิจเป็น 9 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการเลิกประกอบกิจการ (ไตรมาส 1/2566 มีการจัดตั้งธุรกิจเพียง 8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการเลิกประกอบกิจการ)

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดว่า การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลครึ่งปีแรก 2567 มีแนวโน้มทิศทางบวก โดยคาดการณ์จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 46,000 – 50,000 ราย

ในไตรมาสแรกของปี 2567 นอกจากธุรกิจด้านความบันเทิง ซึ่งเกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรมของไทย เช่น ละครเวที นาฏศิลป์ การแสดงชนิดต่างๆ รวมทั้ง ดนตรีและมหรสพ จะมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจแล้ว

ส่วนหนึ่งของ Soft Power ด้านศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวและมีความนิยมสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ยังมีความเชื่อมโยงกับ “ธุรกิจความเชื่อและความศรัทธา” หรือ “ธุรกิจสายมู” ซึ่งเป็นอีก 1 ธุรกิจ ที่เติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

โดยธุรกิจได้เปลี่ยน ‘ความเชื่อความศรัทธา’ ให้เป็นสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม โดยนำศาสตร์สายมูมาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด (Muketing : MU + Marketing) ทั้งการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการ

โดยจัดแคมเปญให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มมากขึ้น ผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ (Influencer) ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ความเชื่อ หรือ ผู้มีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์/ความรู้สึกกับผู้บริโภค เช่น *วอลเปเปอร์หน้าจอโทรศัพท์มือถือ ที่มีรูป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือรูปไพ่ต่างๆ

*เครื่องแต่งกาย กระเป๋า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าปูที่นอนที่นำสีมงคลตามวันเกิดเดือนเกิดและปีเกิดเข้ามาเป็นจุดขายทางการตลาด *เครื่องประดับต่างๆ สร้อยข้อมือ สร้อยคอ ที่มีการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพิฆเนศ ท้าวเวสสุวรรณ หินมงคลต่างๆ มาออกแบบดีไซน์ในรูปแบบแฟชั่น

*เครื่องสำอาง ที่นำทองคำปลุกเสกหรือว่านที่มีความเชื่อว่าเสริมศิริมงคลต่างๆ มาเป็นส่วนผสม *หมายเลขโทรศัพท์มงคล ที่มีกลุ่มตัวเลขมงคลที่ผู้ใช้มีความเชื่อว่าจะส่งพลังในด้านต่างๆ ให้กับผู้ใช้งาน รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ได้นำศาสตร์ความเชื่อความศรัทธามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การออกแบบให้ตรงตามหลักฮวงจุ้ย การปรับเปลี่ยนสีของตัวบ้านและห้องต่างๆ ให้ถูกโฉลกกับผู้ซื้อ หรือ การตกแต่งบ้านที่ตรงกับดวงชะตาของผู้บริโภค เป็นต้น 

ปี 2562 – 2566 ธุรกิจด้านความเชื่อและความศรัทธามีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบในแต่ละปี โดยปี 2562 จดทะเบียนจัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียน 15.4 ล้านบาท ปี 2563 จัดตั้ง 11 ราย ทุน 7.59 ล้านบาท (ลดลง 7.81 ล้านบาท หรือ 50.71%)

ปี 2564 จัดตั้ง 20 ราย (เพิ่มขึ้น 9 ราย หรือ 81.81%) ทุน 13.41 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5.82 ล้านบาท หรือ 76.70%) ปี 2565 จัดตั้ง 24 ราย (เพิ่มขึ้น 4 ราย หรือ 20.00%) ทุน 27.45 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.04 ล้านบาท หรือ 104.70%) และ ปี 2566 จัดตั้ง 33 ราย (เพิ่มขึ้น 9 ราย หรือ 37.50%) ทุน 26.88 ล้านบาท (ลดลง 0.57 ล้านบาท หรือ 2.08%) ขณะที่ เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จัดตั้ง 12 ราย ทุน 7.51 ล้านบาท

ผลประกอบการของธุรกิจ รายได้รวมของธุรกิจเปรียบเทียบในแต่ละปี โดยปี 2562 อยู่ที่ 24.28 ล้านบาท สินทรัพย์ 49.54 ล้านบาท กำไร 1.12 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 28.76 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.47 ล้านบาท หรือ 18.43%) สินทรัพย์ 47.31 ล้านบาท (ลดลง 2.23 ล้านบาท หรือ 4.50%) กำไร 1.52 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.40 ล้านบาท หรือ 35.71%)

และ ปี 2564 รายได้รวม 61.28 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 32.52 ล้านบาท หรือ 113.07%) สินทรัพย์ 71.07
ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 23.76 ล้านบาท หรือ 50.23%) ขาดทุน 1.86 ล้านบาท (ลดลง 3.38 ล้านบาท หรือ 222.37%)

และ ปี 2565 รายได้รวม 148.99 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 87.71 ล้านบาท หรือ 143.13%) สินทรัพย์ 103.32 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 32.25 ล้านบาท หรือ 45.38%) ขาดทุน 1.7 แสนบาท (ขาดทุนลดลง 1.69 ล้านบาท หรือ 90.86%)  

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567) ธุรกิจความเชื่อความศรัทธามีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 135.89 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ทั้งหมด แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 108 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 26 ราย

คิดเป็นสัดส่วน 80.60% และ 19.40% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ ตามลำดับ ในขณะที่ทุนจดทะเบียนรวมแบ่งเป็น บริษัทจำกัด 116.64 ล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 19.25 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 85.83% และ 14.17% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ ตามลำดับ โดยทั้งหมดเป็นการลงทุนโดยสัญชาติไทย

ทั้งนี้เมื่อแบ่งตามพื้นที่ตั้งธุรกิจ มีธุรกิจตั้งอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 62 ราย คิดเป็น 46.27% ของธุรกิจทั้งประเทศ และมีทุนจดทะเบียน 63.46 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ที่มีธุรกิจตั้งอยู่แบ่งตามภาค ได้แก่ ภาคกลาง 35 ราย ทุน 34.34 ล้านบาท ภาคตะวันออก 13 ราย  ทุน 11.05 ล้านบาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 ราย ทุน 6.55 ล้านบาท ภาคเหนือ 7 ราย ทุน 2.99 ล้านบาท ภาคใต้ 6 ราย ทุน 14.40 ล้านบาท ภาคตะวันตก 4 ราย ทุน 3.10 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26.12% 9.70% 5.22% 5.22% 4.48% 2.99% ของธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ตามลำดับ

นอกจากนี้ หลายจังหวัดใช้กระแสความเชื่อความศรัทธาเป็นไฮไลท์ท่องเที่ยวดึงรายได้เข้าท้องถิ่น เป็นการท่องเที่ยว ‘เชิงศรัทธา’ โดยกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

โดยเฉพาะชาวเอเชีย ที่นิยมมาท่องเที่ยวเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย เนื่องจากมีรากฐานทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาถือเป็นรายได้สำคัญสำหรับไทย สามารถกระจายรายได้สู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าชุมชุม เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นช่วย “กระตุ้นระบบเศรษฐกิจ” โดยรวมของประเทศได้เป็นอย่างดี

ธุรกิจความเชื่อความศรัทธา หรือ ศาสตร์มูเตลู ได้รับความนิยมจากทุกกลุ่มอายุ โดยแต่ละกลุ่มอายุจะมีวิธีการ มูเตลูที่แตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มที่มีความเชื่อค่อนข้างสูงได้แก่ กลุ่ม Gen Z โดยการเข้าถึงข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากสื่อโซเซียลมีเดีย ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Z ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุดกว่าทุกช่วงกลุ่มวัย หากธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้า และส่งเสริมการตลาดได้ตรงกลุ่ม ย่อมส่งผลต่อโอกาสในการขายสินค้าและบริการได้สูงขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อความศรัทธามีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบปริมาณของผู้ประกอบธุรกิจด้านความเชื่อในตลาด ส่วนใหญ่นิยมประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดา
จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจ

หากต้องการให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือหรือขยายธุรกิจสู่การให้บริการอื่นๆ การจดทะเบียนนิติบุคคลจะมีส่วนช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือและต่อยอดทางธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

Exit mobile version