Onlinenewstime.com : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สามของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 – 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2566
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่สองของปี 2566 (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส ที่สามของปี 2566 ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2566 ร้อยละ 0.8 (%QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.9
ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกสินค้า การอุปโภคของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 8.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส ตามการขยายตัวดีขึ้นของการใช้จ่าย ในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 15.5 ต่อเนื่องจากร้อยละ 13.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส ตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการใช้จ่าย ในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มบริการทางการเงินร้อยละ 36.9 และร้อยละ 10.6 ตามลำดับ
การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 4.2 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการใช้จ่าย กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ การใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อเนื่องจากร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า
ส่วนการใช้จ่าย ในหมวดสินค้าคงทนทรงตัว เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และการลดลงของยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 51.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับความเชื่อมั่นที่สูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ลดลงร้อยละ 4.9 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ตามการลดลงของรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดร้อยละ 38.6 ขณะที่ค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) และค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ
อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำอยู่ที่ร้อยละ 20.5 เทียบกับร้อยละ 24.3 ในไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 21.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือนแรก ของปี 2566 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.3 ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภครัฐบาลลดลงร้อยละ 5.2
การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 1.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งขึ้นของ การลงทุนภาคเอกชนร้อยละ 3.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า
โดยการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือขยายตัวร้อยละ 3.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อเนื่องจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 2.6
เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น และการลงทุนรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 3.4 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ
อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 20.9 เทียบกับร้อยละ 19.0 ในไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 21.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.2 ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 70,405 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 3.1 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1
กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น น้ำตาล (ลดลงร้อยละ 3.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 2.7) ผลิตภัณฑ์โลหะ (ลดลงร้อยละ 3.9) อาหาร (ลดลงร้อยละ 6.2) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 33.8) เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี (ลดลงร้อยละ 12.7) และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลงร้อยละ 32.7) เป็นต้น
กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 40.6) ทุเรียน (ร้อยละ 87.8) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 16.4) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 20.9) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ (ร้อยละ 6.3) และรถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 14.0) เป็นต้น
เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 1.8 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 5.3
ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 65,012 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 10.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการผลิตสาขาอุตสาหกรรมและการส่งออก โดยปริมาณและราคานำเข้าลดลงร้อยละ 10.4 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (191.8 พันล้านบาท)
รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 210,473 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 4.1 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 199,982 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 4.8 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 10.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (371.3 พันล้านบาท)
ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวในเกณฑ์สูง สาขาเกษตรกรรม สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ และสาขาการก่อสร้างขยายตัว ส่วนสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง
สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวร้อยละ 0.9 ชะลอลงจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวเปลือก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ขณะเดียวกันผลผลิตหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 5.6) สุกร (ร้อยละ 10.3) และกุ้งขาวแวนนาไม (ร้อยละ 4.6) เป็นต้น ส่วนดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 16.8) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 22.9) และข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 3.2) เป็นต้น
ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 1.8 ตามการลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เช่น สุกร (ลดลงร้อยละ 32.4) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 14.6) ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 13.2) และไก่เนื้อ (ลดลงร้อยละ 8.3) เป็นต้น อย่ำงไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ หลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 21.6) และราคากลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 4.4) เป็นต้น
การลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 0.9 รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 4.0 ต่อเนื่องจากร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของ ทุกกลุ่มการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 6.2
โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ร้อยละ 14.7 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 6.5
และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่า ร้อยละ 30) ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 1.0 สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 58.01 สูงกว่าร้อยละ 57.64 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 62.76 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ลดลงร้อยละ 29.0) ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงร้อยละ 14.9) และยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 5.1) เป็นต้น
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 36.6) สายไฟฟ้าและเคเบิลสำหรับ งานไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ (ร้อยละ 22.3) และพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น (ร้อยละ 3.2) เป็นต้น
รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 สาขาการผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.4 เทียบกับการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.83 เทียบกับร้อยละ 63.57 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 14.9 ต่อเนื่องจากร้อยละ 15.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 7.1 ล้านคน ส่งผลให้มูลค่าบริการรับด้านการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ที่ 2.48 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 ร้อยละ 76.8
ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 59.44 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ร้อยละ 18.2 สร้างรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งสิ้น 1.89 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ร้อยละ 19.9
ส่งผลให้รายรับรวมจากการท่องเที่ยว อยู่ที่ 4.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.7 สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 66.16 ต่ำกว่าร้อยละ 66.93 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าร้อยละ 49.96 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวร้อยละ 21.0 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 20.0 ล้านคน และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.78
สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 10 ร้อยละ 3.3 ต่อเนื่องจากร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคบริการด้านการท่องเที่ยว
รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การผลิตสาขา การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ร้อยละ 6.8 แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวร้อยละ 8.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.99 ต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส และ ต่ำกว่าร้อยละ 1.06 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 1.23 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.8
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (118.5 พันล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 2.1 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2566
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2567
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7 (ค่ากลางของ การประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 3.2) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก (1) การกลับมาขยายตัวของการส่งออก (2) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
และ (3) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 และ ร้อยละ 2.8 ตามลำดับ มูลค่ำการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 3.8 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ GDP
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.0 ในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้าน เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ
และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.2 จากการลดลงร้อยละ 4.2 ในปี 2566 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 2,762,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากกรอบวงเงิน 2,569,219 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566
2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในปี 2566 โดย (1) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในปี 2566 ตามแนวโน้ม
การฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของมูลค่าโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนและออกบัตรส่งเสริมการลงทุน
และ (2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.8 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.8 ในปี 2566 เนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะส่งผลให้การเบิกจ่ายมีความล่าช้า
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.0 ในปี 2566 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 3.1 ในปี 2566 และราคาส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0 – 1.0 เทียบกับร้อยละ 1.1 ในปี 2566 เมื่อรวมกับการส่งออกบริการคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2567 จะขยายตัวร้อยละ 6.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในปี 2566
ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 และในปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ ในเกณฑ์สูงและแรงกดดันทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
โดยควรให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (Policy space) ให้มีความเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป
(2) การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจาก การขยายตัวของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้ความสำคัญต่อมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลำงในปัจจุบันที่ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งด้านแรงงาน ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และต้นทุนภาคเกษตร
(3) การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าให้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดย (i) การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี และการสร้างตลาดใหม่ (ii) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก (iii) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี
(iv) การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก (v) การป้องกันและแก้ไขปัญหากีดกันทางการค้าโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (vi) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
(vii) การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของการผลิตสินค้า และ (viii) การเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศ
(4) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สำมารถกลับมาขยายตัว (ii) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการได้รับอนุมัติ และออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564 – 2566 ลงทุนจริง และเร่งอนุมัติโครงการที่เสนอขอรับ การส่งเสริมการลงทุน
(iii) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ให้เริ่มประกอบกิจการได้เร็วขึ้น (iv) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่สำคัญต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ (v) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกผ่านยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี
(vi) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และ (vii) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด
(5) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดย (i) การจัดกิจกรรมส่งเสริม การท่องเที่ยวและสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ LTR (ii) การประเมินผลมาตรการการยกเว้นการตรวจลงตรานักท่องเที่ยว (iii) การกระจำยตลาดนักท่องเที่ยวให้สมดุล
(iv) การส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น (v) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และ (vi) การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง
(6) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดย (i) การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง (ii) การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านระบบประกันภัยพืชผล (iii) การเพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย (iv) การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับมูลค่ำเพิ่มและผลิตภาพในการผลิต และ (v) การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยและวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ
และ (7) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดย (i) การเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ (ii) การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 (iii) การเตรียมโครงการให้มีความพร้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายได้โดยเร็ว และ (iv) การติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
20 พฤศจิกายน 2566