
Onlinenewstime.com : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สี่ของปี 2567 ทั้งปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2567
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสที่สามของปี 2567 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2567 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2567 ร้อยละ 0.4 (%QoQ_SA)
ด้านการใช้จ่าย การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวเร่งขึ้น การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการอุปโภคภาครัฐบาลชะลอตัว และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อเนื่องจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของรัฐสอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น โดยการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อเนื่องจากร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร การบริการด้านสุขภาพ และการบริการขนส่ง
การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งขึ้นของการใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และการใช้จ่ายกลุ่มไฟฟ้า ก๊าซ และเชื้อเพลิงอื่น ๆ การใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อเนื่องจากร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า และการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 9.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 9.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 50.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.1 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 5.4 ชะลอตัวจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าตอบแทนแรงงานขยายตัวร้อยละ 2.8 ค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 10.6
ส่วนรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดขยายตัวร้อยละ 13.1 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 36.7 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 19.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 30.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) รวมทั้งปี 2567 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับร้อยละ 6.9 ในปี 2566 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.7 ในปี 2566
การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อเนื่องจากร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สามร้อยละ 2.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อน ตามการลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือที่ลดลงร้อยละ 1.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า
โดยเป็นผลจากการลดลงต่อเนื่องของการลงทุนในหมวดยานยนต์ สอดคล้องกับยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ที่ลดลงร้อยละ 18.6 ขณะที่การลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือประเภทอื่นขยายตัวสอดคล้องกับการเร่งขึ้นของการนำเข้าสินค้าทุน ส่วนการลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 7.8 ขณะที่การก่อสร้างอาคารโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัว
การลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 39.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 25.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการเร่งขึ้นทั้งการลงทุนก่อสร้างและเครื่องจักรเครื่องมือ สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 13.4 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 37.5 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าร้อยละ 6.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) รวมทั้งปี 2567 การลงทุนรวมทรงตัว เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 1.2 ในปี 2566 โดยการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ในปี 2566 ขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.2 ในปี 2566
ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 76,660 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 10.6 สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส เร่งขึ้นจากร้อยละ 8.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร
ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าประมงกลับมาขยายตัว ส่วนราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกขยายตัว เช่น ยางพารา (ร้อยละ 30.8) คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 118.9) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 52.6) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 45.7) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 23.9) เป็นต้น
กลุ่มสินค้า ที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น ข้าว (ลดลงร้อยละ 7.3) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ลดลงร้อยละ 32.5) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 23.5) และรถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 13.0) เป็นต้น ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 71,309 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อเนื่องจากร้อยละ 11.3 ในไตรมาสก่อน ตามการนำเข้าที่ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศ
โดยปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9.1 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (182.3 พันล้านบาท) ต่ำกว่าการเกินดุล 5.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (198.5 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อน
รวมทั้งปี 2567 การส่งออกมีมูลค่า 297,049 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 277,775 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 19.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (678.2 พันล้านบาท)

ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรมฯ กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งและการขายปลีกฯ และสาขาการก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง
สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวร้อยละ 1.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 4.7) อ้อย (ร้อยละ 16.9) และข้าวเปลือก (ร้อยละ 1.1) กุ้งขาวแวนนาไม (ร้อยละ 15.4) และไก่เนื้อ (ร้อยละ 0.9) ตามลำดับ
ในขณะที่ดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรบางรายการปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 24.6) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 0.3) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 0.2) ตามลำดับ ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ต่อเนื่องจากร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เช่น ยางพารา (ร้อยละ 42.8) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 40.0) สุกร (ร้อยละ 8.7) อ้อย (ร้อยละ 12.2) และกุ้งขาวแวนนาไม (ร้อยละ 20.3) ตามลำดับ
ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ที่ราคาปรับตัวลดลง เช่น มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 31.1) ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 4.7) และโคเนื้อ (ลดลงร้อยละ 12.0) ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 6 ร้อยละ 8.4 รวมทั้งปี 2567 สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงลดลงร้อยละ 1.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2566
สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 21.2) การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (ร้อยละ 11.4) และการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกำย (ร้อยละ 28.9) ตามลำดับ
ส่วนการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวลดลง เช่น การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ลดลง ร้อยละ 23.9) การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 20.7) การทอผ้า (ลดลงร้อยละ 9.9) และการผลิตจักรยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 6.2) ตามลำดับ สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 57.27 ต่ำกว่าร้อยละ 58.32 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 57.36 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งปี 2567 สาขาการผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.7 ในปี 2566
สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวร้อยละ 10.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย มีจำนวน 9.457 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 96.32 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงก่อนเกิด การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19)
ส่งผลให้มูลค่าบริการรับด้านการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ที่ 4.103 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.8 ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทย (ไทยเที่ยวไทย) ขยายตัวร้อยละ 5.9 สร้างรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 2.72 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7
ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 6.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 73.74 สูงกว่าร้อยละ 68.60 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่า ร้อยละ 73.55 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งปี 2567 สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวร้อยละ 9.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 19.3 ในปี 2566
สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 9.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกประเภท ประกอบด้วย บริการขนส่งทางอากาศ (ร้อยละ 29.0) บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง (ร้อยละ 5.8) และบริการขนส่งทางน้ำ (ร้อยละ 3.0) สำหรับบริการสนับสนุนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 และบริการไปรษณีย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 รวมทั้งปี 2567 สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวร้อยละ 9.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.8 ในปี 2566
สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของดัชนีรวมการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ รวมทั้งปี 2567 สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2566
สาขาก่อสร้าง ขยายตัวละ 18.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 15.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 40.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 31.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของการก่อสร้างของรัฐบาลร้อยละ 67.9 และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 3.9
สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (ร้อยละ 5.8) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา (ร้อยละ 2.8) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต (ร้อยละ 1.3) หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (ร้อยละ 1.5) เป็นสำคัญ รวมทั้งปี 2567 สาขาการก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.6 ในปี 2566
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.88 ต่ำกว่าร้อยละ 1.02 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าร้อยละ 0.81 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (192.1 พันล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 237.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11.85 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.9 ของ GDP
เศรษฐกิจไทยปี 2567
เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2566 ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการอุปโภคภาครัฐบาลขยายตัวร้อยละ 4.4 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.8 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.6 ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 5.8
ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการ ด้านอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาก่อสร้างขยายตัว ร้อยละ 9.5 ร้อยละ 9.0 ร้อยละ 3.8 และร้อยละ 1.3 ตามลำดับ ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ลดลงร้อยละ 0.5 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ
รวมทั้งปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 18.58 ล้านล้านบาท (5.26 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) เพิ่มขึ้นจาก 17.95 ล้านล้านบาท (5.15 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) ในปี 2566 และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 264,607.7 บาทต่อคนต่อปี (7,496.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี)
เพิ่มขึ้นจาก 256,345.4 บาทต่อคนต่อปี (7,363.3 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี) ในปี 2566 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.4 และ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.3 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2568
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 – 3.3 (ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 2.8) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพำะรายจ่ายลงทุน (2) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนและการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน
(3) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง และ (4) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า
ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 3.5 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.5 ของ GDP
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2568 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อเนื่องจากร้อยละ 4.4 ในปี 2567 และเป็นการปรับเพิ่มจาก การประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอลงจากร้อยละ 2.5 ในปี 2567 และลดลงจากร้อยละ 2.1 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับสมมติฐานที่เปลี่ยนกรอบการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2568 ในส่วนของงบกลำง รายการค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ไปใช้สำหรับการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงการปรับลดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569
2. การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบกับร้อยละ 0.0 โดย (1) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ฟื้นตัวจากการลดลงร้อยละ 1.6 และเป็นการปรับเพิ่มจากประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 2.8 สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า และการขยายตัวต่อเนื่องของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง ปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่ (2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อเนื่องจากร้อยละ 4.8 ในปี 2567 และเป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 6.5 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับสมมติฐานที่เปลี่ยนกรอบการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2568 ในส่วนของงบกลำง รายการค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ไปใช้สำหรับการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อเนื่องจากร้อยละ 5.8 ในปี 2567 ตามแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของปริมาณการค้าโลกและการฟื้นตัวของ ภาคการส่งออกสินค้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
ขณะที่ราคาส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.0 – 1.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ (-0.2) – 0.8 ชะลอลงจากร้อยละ 1.4 ในปี 2567 เมื่อรวมกับการส่งออกบริการ ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 5.3 เทียบกับร้อยละ 7.8 ในปีก่อนหน้า และปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.2 ในการประมาณการครั้งก่อน
ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2568
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2568 ควรให้ความสำคัญกับ
1. การเตรียมการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า ที่สำคัญ โดย (1) การให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้า (2) การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มี ความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น การยกระดับมาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศ
และการติดตามเร่งรัดกระบวนการไต่สวนการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (AD/CVD/AC) รวมทั้งการดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ
(3) การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ และ (4) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
2. การเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาขยายตัว โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบของกิจการร่วมค้ำ (Joint venture)
เพื่อสร้างโอกาสในการส่งเสริมการสร้างธุรกิจเกี่ยวเนื่องของไทยในช่วงของการย้ายฐานการลงทุนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตขยายการผลิตในประเทศไทย (2) การเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565 – 2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่มีศักยภาพ
(3) การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพำะการปรับลดอุปสรรคด้านขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหำการขำดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและภาคบริการเป้ำหมาย และ
(4) การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าไทยที่มีศักยภาพและ มีมูลค่าสูงขึ้นที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลำงในประเทศให้มีความพร้อมและสำมารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลกมากขึ้น
3. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่ให้ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของกรอบงบลงทุนรวม โดยมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการที่สำคัญทั้งโครงการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งโครงการลงทุนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อวางรากฐานปัจจัยการผลิตและเพิ่มขีดความสำมารถในการบริหำรจัดการน้ำระดับพื้นที่ให้กระจายไปสู่ชุมชน
4. การสร้างการตระหนักรู้ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้และสำมารถชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ
5. การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว
รวมถึงการเตรียม ความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการบริหำรจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
17 กุมภาพันธ์ 2568


