Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยโอกาส ‘อาหารไทย’ เติบโตได้ดีในตลาดโลก สถาบันนานาชาติด้านอาหาร เช่น Tasteatlas Awards, Michelin Guide ฯลฯ จัดอันดับให้อาหารไทยเป็นอาหารที่ดีที่สุดในโลก
โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยานำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ทำให้อาหารไทยได้รับการยกย่องเป็น ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ สอดคล้องเทรนด์รับประทานอาหารโลกที่ให้ความสำคัญทั้งสุขภาพและรสชาติ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจที่มีความโดดเด่นและมีโอกาสเติบโตได้ดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต พบว่า ‘ธุรกิจร้านอาหารไทย’ เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งด้านการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและผลประกอบการแต่ละปี
โดยการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) มีจำนวนเฉลี่ย 2,559 ราย / ปี แบ่งเป็น ปี 2562 จัดตั้ง 2,123 ราย ทุน 4,291.63 ล้านบาท ปี 2563 จัดตั้ง 1,732 ราย (ลดลง 391 ราย หรือ 18.42%) ทุน 3,478.49 ล้านบาท (ลดลง 813.14 ล้านบาท หรือ 18.95%)
ปี 2564 จัดตั้ง 1,901 ราย (เพิ่มขึ้น 169 ราย หรือ 9.76%) ทุน 3,355.55 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 122.94 ล้านบาท หรือ 3.54%) ปี 2565 จัดตั้ง 3,021 ราย (เพิ่มขึ้น 1,120 ราย หรือ 58.92%) ทุน 6,588.34 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3,232.79 ล้านบาท หรือ 96.35%)
ปี 2566 จัดตั้ง 4,017 ราย (เพิ่มขึ้น 996 ราย หรือ 32.97%) ทุน 8,078.63 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,490.29 ล้านบาท หรือ 22.62%) ปี 2567 มกราคม – สิงหาคม จัดตั้ง 2,847 ราย ทุน 5,826.03 ล้านบาท
รายได้รวมของธุรกิจร้านอาหาร 3 ปีย้อนหลัง (2564 – 2566) พบว่า ปี 2564 รายได้รวม 179,645.68 ล้านบาท ปี 2565 รายได้รวม 244,412.99 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 64,767.31 ล้านบาท หรือ 36.06%) ปี 2566 รายได้รวม 306,618.54 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 62,205.55 ล้านบาท หรือ 25.45%)
ขณะที่ผลประกอบการด้านกำไรขาดทุนรวมของธุรกิจ ปี 2564 ขาดทุน 9,621.06 ล้านบาท ปี 2565 กำไร 3,379.18 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13,000.4 ล้านบาท หรือ 135.13%) ปี 2566 กำไร 9,700.52 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6,321.34 ล้านบาท หรือ 187.07%)
มูลค่าการลงทุนของต่างชาติที่ลงทุนในธุรกิจร้านอาหารนิติบุคคลไทย จำนวนรวม 29,071.35 ล้านบาท โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อเมริกา 6,075.23 ล้านบาท (20.90%) 2) ญี่ปุ่น 3,162.49 ล้านบาท (10.88%) 3) จีน 2,326.24 บาท (8.01%) 4) อินเดีย 2,168.02 ล้านบาท (7.46%) 5) ฝรั่งเศส 1,607.03 ล้านบาท (5.53%)
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567) มีนิติบุคคลร้านอาหารที่ดำเนินกิจการอยู่ 44,508 ราย ทุนรวม 220,916.70 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) จำนวน 43,874 ราย (98.58%) ขนาดกลาง (M) 521 ราย (1.17%) และ ขนาดใหญ่ (L) 113 ราย (0.25%)
ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด 36,522 ราย (82.06%) ทุน 192,736.44 ล้านบาท (87.25%) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 7,977 ราย (17.92%) ทุน 20,921.97 ล้านบาท (9.47%) และ บริษัทมหาชนจำกัด 9 ราย (0.02%) ทุน 7,258.29 ล้านบาท (3.29%)
นิติบุคคลส่วนใหญ่ตั้งอยู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร 19,329 ราย (43.43%) (3 อันดับแรกตั้งอยู่ เขตวัฒนา เขตบางรัก และเขตคลองเตย) รองลงมา ภาคใต้ 7,966 ราย (17.90%) (3 อันดับแรกตั้งอยู่ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่)
ภาคตะวันออก 6,137 ราย (13.79%) (3 อันดับแรกตั้งอยู่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ตราด) ภาคกลาง 4,343 ราย (9.76%) ภาคเหนือ 3,772 ราย (8.48%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,971 ราย (4.43%) ภาคตะวันตก 990 ราย (2.23%)
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า อาหารไทยเป็น ‘ซอฟท์พาวเวอร์’ อันดับ 1 ของประเทศไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ทั้งรสชาติ การตกแต่ง ความสวยงาม จนได้รับจัดอันดับให้อาหารไทยเป็นอาหารที่ดีที่สุดในโลกสถาบันนานาชาติด้านอาหาร เช่น Tasteatlas Awards 2024 ประกาศให้อาหารไทย ติดอันดับที่ 17 จาก 100 อันดับอาหารที่ดีที่สุดในโลก
และเป็นอันดับ 5 อาหารที่ดีที่สุดในเอเชีย และในปี 2566 ประเทศไทยมีร้านอาหารที่ได้รางวัล MICHELIN Guide แล้ว 441 ร้าน เป็นต้น
จากการวิเคราะห์จุดแข็งและโอกาสของอาหารไทย พบว่า จุดแข็งของอาหารไทย คือ เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ชื่นชอบทั้งในและต่างประเทศ อาหารไทยมีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบสำคัญ ทำให้อาหารไทยได้รับการยกย่องเป็น ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’
นอกจากนี้ อาหารไทยมีความหลากหลายตามภูมิภาค ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มเช่นเดียวกัน
ขณะที่ โอกาสของอาหารไทยมีการเติบโตตามกระแสการรักสุขภาพ ตอบโจทย์เทรนด์รับประทานอาหารโลกที่ให้ความสำคัญทั้งสุขภาพและรสชาติ ภาครัฐให้การสนับสนุนและผลักดันธุรกิจอาหารไทยผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึง การเติบโตของตลาดออนไลน์ที่สามารถสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ซึ่งการตลาดออนไลน์ทำให้ร้านอาหารไทยเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยต้องมีการปรับตัวให้รับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และแนวโน้มการประกอบธุรกิจที่ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน เช่น
ด้านเทคโนโลยี ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจ เช่น ระบบการสั่งอาหารออนไลน์ ระบบการชำระเงิน มีการใช้โซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์ในช่วยในการทำการตลาดและเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ด้านผลิตภัณฑ์ ต้องใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สดใหม่ ปลอดภัย เช่น ผักออแกนิก เพื่อสร้างความโดดเด่นให้ร้าน มีการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ให้เข้ากับเทรนด์การบริโภค เช่น เมนูสุขภาพ เมนูฟิวชั่น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม
ด้านสถานที่และการบริการ โดยมีการสร้างบรรยากาศร้านให้น่าสนใจมีความแตกต่างเพื่อสร้างการจดจำและดึงดูดลูกค้า รวมถึงการใส่ใจบริการเพื่อให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาใช้บริการซ้ำ สถานที่ต้องมีความสวยงามเพื่อให้ลูกค้าถ่ายภาพและนำไปโพสต์หรือแชร์ลงในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านไปในตัว
นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญต่อการ สร้างแบรนด์ ให้ร้านเป็นที่จดจำและไม่เหมือนใคร ซึ่งจะช่วยให้ร้านอาหารประสบความสำเร็จและยืนยันอยู่ในวงการร้านอาหารอย่างยั่งยืนยาวนาน
ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยยังมีพื้นที่จำนวนมากให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจประกอบธุรกิจเข้ามาทำการตลาด โดยคาดว่าธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากอาหารไทยมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครจึงยากที่จะเลียนแบบ
ประกอบกับคนไทยมีศักยภาพในการประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยจะเห็นได้ว่ามีร้านอาหารไทยตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ เกือบทุกประเทศในโลก และได้รับความนิยมจากประชากรของประเทศนั้นๆ เป็นอย่างมาก ร้านอาหารไทยจึงเป็น ‘โอกาสทางธุรกิจ’ ที่พร้อมสยายปีกไปสร้างความเติบโตในต่างประเทศได้อย่างไม่ยาก
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้แข่งขันและเติบโตอย่างมีศักยภาพ มีทั้งโครงการฝึกอบรม การส่งเสริมการตลาด เช่น โครงการยกระดับร้านอาหารไทยในประเทศสู่ระดับสากล ผ่านการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้แก่ร้านอาหาร
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับร้านอาหารไทย สร้างโอกาสและขยายช่องทางการตลาด กระจายรายได้และสร้างความเข้มแข็งแก่ท้องถิ่น กระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าถึงร้านอาหารที่มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทย
โดยปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในประเทศไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT แล้ว จำนวน 496 ร้าน แบ่งเป็น *Thai SELECT SIGNATURE 19 ร้าน *Thai SELECT CLASSIC 446 ร้าน และ *Thai SELECT UNIQUE 31 ร้าน โดยมีการทำการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารที่ได้ตราสัญลักษณ์ภายใต้แคมเปญ ‘เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT’
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้สนับสนุนการขยายสาขาแบบแฟรนไชส์ ทั้งผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจและเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ผลักดันให้เกิดธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ ยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐาน และการบริหารจัดการธุรกิจ
ปัจจุบัน มีธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทร้านอาหารที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้การส่งเสริมสนับสนุนและผ่านการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแล้ว จำนวน 248 ราย และสนับสนุนแฟรนไชส์ไทยสู่สากลแล้วจำนวน 27 ราย ใน 31 ประเทศทั่วโลก อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย