Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

‘สมุนไพรไทย’ โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการรายเล็ก

กำไรรวม 2.75 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก 17,224 ราย หรือ 93.90% ‘ธุรกิจสมุนไพร’ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการรายเล็กของไทยสามารถเข้าแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด และมีโอกาสทำกำไรได้มาก อนาคตกระแสรักสุขภาพของผู้คนทั่วโลกยังคงได้รับความนิยม ส่งผลให้ตลาดและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเติบโตตามขึ้นไปด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน ธุรกิจสมุนไพร ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อย/รายย่อมของไทยในการเข้าทำธุรกิจ เป็นการเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นในครอบครัวสู่ผู้เล่นในตลาดอุตสาหกรรม

โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกปี 2022 มีมูลค่าสูงถึง 199.07 พันล้านเหรียญสหรัฐ (6,796,249,800,000 บาท) และคาดการณ์ว่าปี 2033 มูลค่าจะอยู่ที่ 417.99 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (14,270,178,600,000 บาท) (อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 34.14 บาท)

โดยธุรกิจสมุนไพรเติบโตตามกระแสการรักสุขภาพของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ตลาดสมุนไพรเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก รวมทั้งกระแสความนิยมในการบริโภค/อุปโภคผลิตภัณฑ์ ‘ออร์แกนิค’ ยิ่งตอกย้ำตลาดสมุนไพรให้ขยายวงกว้างและมีกลุ่มผู้บริโภคหลายหลากมากขึ้น

ซึ่งไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์และสมุนไพรในการกําจัดศัตรูพืชเกิดขึ้นอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็น “โอกาส” ที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยในการเข้าทำธุรกิจในช่วงเวลานี้เป็นอย่างมาก

จากข้อมูลในระบบ DBD DataWarehouse+ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ‘ธุรกิจสมุนไพร’ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2566) คือ ช่วงก่อน – ระหว่าง – หลัง การระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีและมีทิศทางการประกอบธุรกิจที่เป็นบวก

โดย ปี 2562 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 1,303 ราย ทุน 2,178.55 ล้านบาท ปี 2563 จัดตั้ง 1,547 ราย (เพิ่มขึ้น 244 ราย หรือ 18.73%) ทุน 5,344.15 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3,165.60 ล้านบาท หรือ 145.31%) ปี 2564 จัดตั้ง 2,343 ราย (เพิ่มขึ้น 796 ราย หรือ 51.46%) ทุน 4,424.56 ล้านบาท (ลดลง 919.59ล้านบาท หรือ 17.21%)

ปี 2565 จัดตั้ง 2,571 ราย (เพิ่มขึ้น 228 ราย หรือ 9.74%) ทุน 5,957.21 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,532.65 ล้านบาท หรือ 34.64%) ปี 2566 จัดตั้ง 2,534 ราย (ลดลง 37 ราย หรือ 1.44%) ทุน 5,855.62 ล้านบาท (ลดลง 101.59 ล้านบาท หรือ 1.71%) และ ปี 2567 มกราคม – กรกฎาคม จัดตั้ง 1,452 ราย ทุน 3,128398 ล้านบาท

ขณะที่ ธุรกิจสมุนไพร ปี 2564 รายได้ 867,531.41 ล้านบาท กำไร 38,760.99 ล้านบาท ปี 2565 รายได้ 905,960.10 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 38,428.69 ล้านบาท หรือ 4.43%) กำไร 33,311.40 ล้านบาท (ลดลง 5,449.59 ล้านบาท หรือ 14.06%)

และ ปี 2566 รายได้ 872,466.83 ล้านบาท (ลดลง 33,493.27 ล้านบาท หรือ 3.70%) กำไร 27,497.70 ล้านบาท (ลดลง 5,813.70 ล้านบาท หรือ 17.46%) ถึงแม้ว่า ช่วงปี 2565-2566 ผลประกอบการจะลดลงเล็กน้อย แต่ในระยะยาวคาดว่าผลประกอบจะกลับมาเติบโตจากกระแสการนําสมุนไพรมารักษาโรคและเทรนด์รักสุขภาพ โดยการนําเอาสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า การลงทุนของชาวต่างชาติในธุรกิจสมุนไพรไทย มีมูลค่าทั้งสิ้น 38,707.25 ล้านบาท หรือ 26.23% ของการลงทุนทั้งธุรกิจสมุนไพร (ผู้ประกอบการไทยลงทุน 108,873.59 ล้านบาท หรือ 73.77%)

โดยชาวต่างชาติที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อเมริกัน 11,809.12 ล้านบาท (30.51%) ญี่ปุ่น 5,082.04 ล้านบาท (13.13%) สิงคโปร์ 3,274.73 ล้านบาท (8.46%) และ อื่นๆ 18,541.36 ล้านบาท (47.90%) ส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติ ทั้งในกลุ่มเพาะปลูก กลุ่มผลิต/แปรรูป และกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นต้น

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567) มีธุรกิจสมุนไพรมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 18,342 ราย ทุนรวม 147,580.84 ล้านบาท 

แบ่งเป็น กลุ่มเพาะปลูก 1,504 ราย (8.20%) ทุน 6,265.44 ล้านบาท (4.25%) กลุ่มผลิต/แปรรูป 1,778 ราย (9.70%) ทุน 16,523.04 ล้านบาท (11.20%) และ กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง 15,060 ราย (82.10%) ทุน 124,792.36 ล้านบาท (84.56%)

แบ่งตามขนาดธุรกิจ ขนาดเล็ก (S) จำนวนทั้งสิ้น 17,224 ราย (93.90%) ทุน 67,854.75 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มเพาะปลูก 1,503 ราย กลุ่มผลิต/แปรรูป 1,728 ราย กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง 13,993 ราย

ขนาดกลาง (M) จำนวนทั้งสิ้น 806 ราย (4.40%) แบ่งเป็น กลุ่มเพาะปลูก 1 ราย กลุ่มผลิต/แปรรูป 37 ราย กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง 768 ราย และ ขนาดใหญ่ (L) จำนวนทั้งสิ้น 312 ราย (1.70%) กลุ่มเพาะปลูก 0 ราย กลุ่มผลิต/แปรรูป 13 ราย กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง 299 ราย

ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจในรูป บริษัทจำกัด 15,654 ราย ทุน 136,176.99 ล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 2,669 ราย ทุน 3,110.87 ล้านบาท และ บริษัทจำกัดมหาชน 19 ราย ทุน 8,292.98 ล้านบาท

ธุรกิจส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 7,873 ราย (42.93%) รองลงมาคือ ภาคกลาง 4,077 ราย (22.23%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,737 ราย (9.47%) ภาคเหนือ 1,644 ราย (8.97%) ภาคตะวันออก 1,285 ราย (7.00%) ภาคใต้ 1,311 ราย (7.14%) และ ภาคตะวันตก 415 ราย (2.26%)

1. กลุ่มเพาะปลูก ถือเป็นกลุ่มต้นน้ำที่มีการผลิตวัตถุดิบ เพาะปลูกพืชพันธุ์ โดยกลุ่มธุรกิจนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของการทำเกษตรท้องถิ่น บางพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบของกลุ่มเกษตรกร โดยจุดแข็งของประเทศไทยคือมีลักษณะภูมิอากาศที่เหมาะสมทำให้พืชพันธุ์สมุนไพรสามารถเจริญเติบโตด้วยดี

ความชํานาญในการเพาะปลูกมาจากประสบการณ์และสืบทอดส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น แต่ยังคงมีการใช้สารเคมีในการกําจัดและรักษาโรคและศัตรูพืช หากต้องการอยู่ในตลาดที่สามารถแข่งขันได้ กลุ่มเพาะปลูกต้องปรับเปลี่ยนสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ ซึ่งอาจต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐในการให้ความรู้ และส่งเสริมการทำเกษตรที่ปลอดภัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบ

2. กลุ่มผลิตและแปรรูป เป็นกลุ่มที่นําวัตถุดิบที่ได้จากการเพาะปลูกมาแปรรูปและบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งต่อไปยังผู้จําหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบกลุ่มอุตสาหกรรมครอบครัว สูตรตํารับยาต่างๆ ยังคงเป็นการถ่ายทอดกันในครอบครัว

ซึ่งยังสามารถพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของสินค้า การเก็บรักษา ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมได้ ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่จากภาครัฐและหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษา และการขนส่งสินค้า ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลุ่มผลิตและแปรรูป

3. กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นกลุ่มที่ส่งตรงสินค้าที่ได้จากการผลิตสู่มือผู้บริโภค ทั้งรูปแบบการขายผ่าน หน้าร้าน การขายออนไลน์ เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องเน้นที่การตลาดและสร้างการรับรู้ให้ผู้ซื้อสินค้า เทคนิค และ ช่องทางที่ช่วยสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าในที่สุด สำหรับกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง จะให้ความสำคัญกับการตลาดเป็นหลัก และการขยายช่องทางการตลาดให้กว้างขวางเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย

โดยทั้ง 3 กลุ่มจำเป็นต้องอาศัยการตลาดที่ดีเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการตลาด และการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการธุรกิจ การหาพันธมิตรและสร้างเครือข่ายทางการค้า โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเข้ามาขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตและเดินต่อไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง

ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนําพากลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจนี้ไปยังตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลก และสร้างการรับรู้สมุนไพรไทยแก่กลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญการหวาดกลัว ความเชื่อของผู้คนบางส่วนในการใช้วัคซีนและยาสังเคราะห์จะส่งผลต่อร่างกายในอนาคต

ผู้คนจึงเริ่มมองหาตัวเลือกในการดูแล บําบัด บรรเทาอาการ และ การรักษาสุขภาพระยะยาว ‘สมุนไพร’ จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ในการดูแลสุขภาพของหลายๆ คน เนื่องจากสมุนไพรเป็นวัตถุที่ได้จากธรรมชาติ พืชพันธุ์ อวัยวะ สัตว์ และแร่ธาตุ ส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งเชื่อมั่นในการนำมาใช้

จากข้อมูลพบว่า ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ตลาดเครื่องสําอาง อาหารเสริม และ ยาสมุนไพร เติบโตประมาณ 6 – 8% แต่ช่วงหลังโควิด-19 เติบโตถึง 12 – 14% ชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นความต้องการใช้สมุนไพร

นอกจากนี้ เทรนด์การรักสุขภาพที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี เป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่ตลาดทั่วโลกต้องการเป็นอย่างมาก

นอกจากสมุนไพรแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นด้วยขั้นตอนที่ปลอดสารพิษ หรือ ‘ออร์แกนิค’ ยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการยอมรับ และสามารถสร้างมูลค่าสินค้าได้สูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยขั้นตอนปกติ ‘สมุนไพร’ จึงมีการขยายกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ‘ธุรกิจสมุนไพร’ จึงเป็น ‘โอกาส’ สำคัญที่ผู้ประกอบการรายเล็กควรรีบคว้าไว้

คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมี รองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นฝ่ายเลขานุการ

โดยมีแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายสร้างภาพลักษณ์และส่งเสริมการตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตลอดจนขยายตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้นำผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 20 ราย  เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร (THAIFEX-ANUGA ASIA 2024) ในช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด THINK WELLNESS THINK THAI HERB

สามารถเจรจาจับคู่ธุรกิจ 1,024 คู่ และสร้างมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 194.280 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการเจรจามากที่สุด ได้แก่ ขิงแปรรูป ผักอบกรอบ น้ำนมงาดำ ไข่ผำ และดาวเรืองอบแห้ง ตามลำดับ

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการเชื่อมโยงและสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ จังหวัดน่าน เมืองสมุนไพร ลำดับที่ 16 เป็นการพัฒนาทักษะด้านการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร “Uplift Marketing Skills : ต่อยอดตลาด สร้างโอกาสเมืองสมุนไพร” พร้อมสร้างการรับรู้เผยแพร่เรื่องราวสมุนไพรในจังหวัดน่าน “กระซิบรัก ฮักสมุนไพร”เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน จังหวัดน่าน

ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยในปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 56.94 พันล้านบาท สำหรับมูลค่าการส่งออกปี 2566 พืชสมุนไพร มีมูลค่า 483.73 ล้านบาท และสารสกัดสมุนไพร มีมูลค่า 382.16 ล้านบาท” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

Exit mobile version