Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ธุรกิจของเล่นไทย ไม่ใช่เล่นๆ ผลิตและขาย 1,093 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 5.7 พันล้านบาท

ไทยเนื้อหอมดึง นักลงทุนฮ่องกง จีน และญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน ในทางกลับกันธุรกิจของเล่นไทยสามารถผลิตและส่งออกไปขายครองตลาดประเทศได้ด้วยคุณภาพและฝีมือที่ยอดเยี่ยมของคนไทย

รวมถึงในการขายยังมีปัจจัยบวกเสริมจากการเกิด Kidult ในอุตสาหกรรมของเล่น กลุ่มผู้ใหญ่ที่รักในการสะสมของเล่นช่วยเพิ่มแรงซื้อให้ธุรกิจขยายวงกว้าง และธุรกิจ Art Toy ที่มีคนไทยเป็นดีไซน์เนอร์ยังเป็นการนำศิลปะมาสร้างของเล่นจนเกิดมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และกระเพื่อมเศรษฐกิจได้ในระดับโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์ธุรกิจที่น่าสนใจประจำเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ‘ธุรกิจของเล่น’ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง

โดยแบ่งธุรกิจนี้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผลิต อาทิ การผลิตของเล่นที่มีล้อ การผลิตตุ๊กตา และเกมต่างๆ และกลุ่มขายส่ง/ขายปลีก

โดยประเทศไทยมีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นในรูปแบบนิติบุคคลจำนวน 1,093 ราย (ผลิต 238 ราย และขาย 855 ราย) มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท (ผลิต 2,909.61 ล้านบาท และขาย 2,782.60 ล้านบาท)

แบ่งเป็น บริษัทจำกัดจำนวน 935 ราย (ผลิต 209 ราย และ ขาย 726 ราย) มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,517.15 ล้านบาท (ผลิต 2,843.11 ล้านบาท และขาย 2,674.04 ล้านบาท) และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 158 ราย (ผลิต 29 ราย และขาย 129 ราย) มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 175.06 ล้านบาท (ผลิต 66.50 ล้านบาท และขาย 108.56 ล้านบาท)

อธิบดี กล่าวต่อว่า “ข้อมูลที่น่าสังเกตคือ ธุรกิจขนาดเล็ก (S) เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งธุรกิจมากที่สุด จำนวน 1,024 ราย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของ SME ในธุรกิจของเล่นที่ยังเปิดกว้างให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้ามาลงทุนช่วงชิงตลาด

โดยจำนวนนี้เป็นกลุ่มขายมากถึง 804 ราย และผลิต 220 ราย สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะเห็นได้ว่าตลาดของเล่นมีการซื้อขายอย่างคึกคักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  

การจัดตั้งธุรกิจของเล่นปี 2567 ช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) มีจำนวน 57 ราย (ผลิต 50 ราย และขาย 7 ราย) โดยทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 67 ล้านบาท (ผลิต 56 ล้านบาท และขาย 11 ล้านบาท)

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี ระหว่างปี 2565-2566 พบว่า ในปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นจำนวน 120 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 49 ราย คิดเป็น 69.01% มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,736.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 40.90 ล้านบาท คิดเป็น 31.52%

โดยตลอดปี 2566 ธุรกิจของเล่นสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท พร้อมเติบโตแบบก้าวกระโดดและทำกำไรอยู่ที่ 467.62 ล้านบาท โดยกลุ่มขายสามารถพลิกฟื้นธุรกิจพร้อมสร้างกำไรได้อย่างโดดเด่นในปี 2566 มูลค่า 175.07 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีกำไรอยู่ที่ 83.58 ล้านบาท และขาดทุน -42.25 ล้านบาท ในปี 2564

ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจของเล่น มีมูลค่าการลงทุนในไทยทั้งหมด 10,068.04 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับ คือ ฮ่องกง มูลค่าการลงทุน 989.37 ล้านบาท จีน มูลค่าการลงทุน 784.16 ล้านบาท และญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 541.81 ล้านบาท

ธุรกิจของเล่นก่อนหน้านี้ประสบปัญหาเช่นเดียวกับหลายธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ขณะนี้กลับมาพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน อาทิ ด้านการผลิต ชาวต่างชาตินิยมสั่งซื้อของเล่นจากผู้ผลิตไทยเพราะมีคุณภาพที่ดีเยี่ยม

จนในปี 2566 สามารถส่งออกไปสู่ต่างประเทศได้หลายประเทศ สร้างมูลค่าการส่งออกได้มากถึง 8,776.24 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบด้านความสมบูรณ์และคุณภาพของวัตถุดิบอย่างไม้และยางพาราที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตของเล่น

ด้านการขาย ปัจจุบันของเล่นไม่ได้อยู่คู่กับเด็กเท่านั้น หากแต่เกิดกลุ่มที่ชื่อว่า ‘Kidult’ ขึ้นมาในอุตสาหกรรมของเล่น ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างคำว่า Kid (เด็ก) และ Adult (ผู้ใหญ่) แน่นอนว่าหากเราพิจารณาดีๆ การจะจ่ายเงินซื้อของเล่นสักหนึ่งชิ้น ไม่ว่าในเวลาต่อมาเจ้าของของเล่นชิ้นนั้นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม แต่การตัดสินใจส่วนใหญ่จะเป็นของผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการซื้อ

รวมถึงความนิยมของเล่นในกลุ่ม Art Toy ได้สร้างกระแสสำคัญในวงการของเล่นทั่วโลก โดยในประเทศไทยเกิดการแข่งขันสูงในการซื้อขาย Art Toy ผ่านรูปแบบต่างๆ ทั้งขายทางหน้าร้าน ขายผ่านออนไลน์ หรือแม้อาชีพนักหิ้ว ก็ยังสร้างได้ไปกับการซื้อขาย Art Toy ด้วย

ประกอบกับความน่าสนใจของ Art Toy เป็นการนำเอาศิลปะจากดีไซเนอร์นักวาดรูปมาผสมกับการตลาดยุคใหม่อย่างการจำกัดจำนวนการผลิตในแต่ละรุ่นเพื่อสร้างคุณค่าให้สินค้าเป็นที่ต้องการ การบรรจุสินค้าอยู่ในกล่องสุ่มที่ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้ตัวหายากหรือ Secret หรือไม่

ซึ่งดีไซเนอร์นักวาดการ์ตูนของไทยก็ได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการสร้าง Art Toy ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยและสากล จนกลายเป็นที่ต้องการของ Kidult ในระดับโลกด้วย กระบวนการเหล่านี้จะสร้างการมีส่วนร่วมและความจงรักภักดีแก่ผู้ซื้อให้เป็นส่วนหนึ่งในแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

รวมถึงการกระตุ้นความน่าสนใจด้วย Influencer ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความต้องการครอบครองสินค้าและกลายเป็นกระแสนิยมในตลาดเกิดนักสะสมรุ่นใหม่และเก่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าตลอดระยะเวลาที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน และทั้งหมดนี้นำไปสู่วงจรการเติบโตอย่างเข้มแข็งในธุรกิจของเล่นในประเทศไทย” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

Exit mobile version