Onlinenewstime.com : นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ร่วมกันผลักดันการยกระดับและปรับปรุงถนนหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก-จุดผ่านแดนนาเพ้า
เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทย สปป.ลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) และสาธารณรัฐประชาชนจีน(เมืองหนานหนิง มณฑลกวางสี) ผ่านโครงข่ายระบบคมนาคมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นประตูการค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ไปสู่เวียดนามและจีน
ทั้งนี้ เส้นทางดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับถนนหมายเลข 8 (R8) และถนนหมายเลข 9 (R9) พบว่ามีระยะทางสั้นที่สุด สามารถเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อันเป็นโอกาสให้สามารถพัฒนาต่อเนื่องเข้ามาอยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East–West Economic Corridor : EWEC) ร่วมกับถนน R9 ของไทย
ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของไทยในการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาค และเพิ่มโอกาสในการขยายการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน
นอกจากนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าถนน R12 มีบทบาทที่สำคัญในอนาคตต่อโครงข่ายคมนาคมและการขนส่งในอนุภูมิภาคซึ่งปัจจุบันถนน R12 ได้บรรจุเป็นหนึ่งในแนวเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศในพิธีสาร 1 ของความตกลง
การขนส่งข้ามพรมแดน (Greater Mekong Sub-region Cross–Border Transport Agreement: CBTA) แล้ว
การดำเนินความร่วมมือภายใต้โครงการ R12 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยโครงการจะสนับสนุนประเทศไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีนให้สามารถเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
อีกทั้งยังสามารถประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้าและพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศได้และ โครงการ R12 ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพการค้าของประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)
โดยสามารถสนับสนุนในมิติการพัฒนาภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้า การลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาคและยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สปป.ลาว ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2564–2568 ทั้งด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศด้านการค้าเสรีในรูปแบบการรวมกลุ่ม
ทางภูมิภาคด้วย
โครงการ R12 คาดว่าจะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาวผ่านด่านศุลกากรนครพนมได้มากขึ้น ทั้งนี้ สถิติมูลค่าการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ระหว่างปีงบประมาณพ.ศ. 2562-2566 ผ่านด่านศุลกากรนครพนมสามารถแสดงได้ดังนี้
หน่วย: ล้านบาท
รายการ | 2562 | 2563 | 2564 | 2565 | 2566 |
มูลค่ารวม | 89,774.17 | 74,311.00 | 118,388.00 | 83,816.71 | 122,382.79 |
มูลค่านำเข้า | 22,919.80 | 12,716.14 | 19,241.23 | 28,105.82 | 33,098.59 |
มูลค่าส่งออก | 66,854.37 | 61,594.86 | 99,146.77 | 55,710.89 | 89,284.20 |
ดุลการค้า | 43,934.57 | 48,878.72 | 79,905.54 | 27,605.07 | 56,185.61 |
ที่มา: สรุปภาวะการค้าชายแดนจังหวัดนครพนมประจำเดือนกันยายน 2566, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม
การยกระดับถนน R12 ส่งเสริมความร่วมมือของผู้ประกอบการระหว่างไทยกับ สปป.ลาวโดยชาวไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียงจะได้รับประโยชน์ทางตรงจากการปรับปรุงถนน R12 โดยสามารถขนส่งสินค้าและเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆในการดำรงชีวิตได้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ตลอดจนได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากการมีโอกาสในการประกอบอาชีพจากการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะได้รับส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โครงการ R12 จะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจตลอดอายุของโครงการในแง่ของการประหยัดเวลาในการขนส่งและพิธีการทางศุลกากร เนื่องจากโครงการ R12 ได้บรรจุเป็นเส้นทางหนึ่งใน GMS CBTA จะสามารถลดเวลาการขนส่งจากเดิม 10 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง
นอกจากนี้ การพัฒนาจุดผ่านแดนนาเพ้าซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) จะสามารถรองรับการปฏิบัติงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ไทย และ สปป.ลาว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้า (Customs, Immigrations & Quarantines: CIQ) ให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าได้ในอนาคต
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว สพพ. จะสนับสนุนเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อไปใช้เป็นค่าก่อสร้างในวงเงิน 1,833.747 ล้านบาท โดยกำหนดให้มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายใต้โครงการจากไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ รวมทั้งใช้ผู้ประกอบการงานก่อสร้างและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างจากไทยเป็นหลักในการดำเนินโครงการ โครงการมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ภายในปี พ.ศ. 2567 และแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2570