Onlinenewstime.com : “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค” ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตการเกษตรได้
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า
“ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตการเกษตรได้” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 83.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในภาคบริการ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อันเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องจากหลายภาคส่วน
ซึ่งรวมถึงมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน จากอุปสงค์สินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของภาครัฐที่ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในจังหวัดมากขึ้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่าอยู่ที่ระดับ 86.3 โดยได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในพื้นที่อุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของจังหวัด
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 76.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม จากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป และภาคบริการ เนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 74.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ ตามแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และภาคอุตสาหกรรม จากคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 74.7 สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 72.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จากการฟื้นตัวของการบริโภคและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ให้เพียงพอต่อความต้องการ และภาคบริการ อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา
รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐ อาทิ มาตรการ Easy E-Receipt และ Visa Exemption อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญและสภาพอากาศที่แปรปรวนที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในการทำเกษตรกรรม
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 71.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและภาคการบริการ จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการ Easy E-Receipt และการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเมืองรอง อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 66.4 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและการลงทุน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ