
Onlinenewstime.com : “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่ยังส่งสัญญาณบวกในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันตก ตามแนวโน้มการขยายตัวในภาคบริการและภาคเกษตร
โดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความผันผวนของสภาพอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและปริมาณผลผลิตเกษตร รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคพบว่า
“ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่ยังส่งสัญญาณบวกในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันตก ตามแนวโน้มการขยายตัวในภาคบริการและภาคเกษตร
โดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความผันผวนของสภาพอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและปริมาณผลผลิตเกษตร รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก
อยู่ที่ระดับ 77.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยมีแรงสนับสนุนจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ อันเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
รวมถึงมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นในภาคเกษตร ตามอุปสงค์สินค้าเกษตรที่ยังเพิ่มขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ระดับ 78.1
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้
อยู่ที่ระดับ 75.0 สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคบริการที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูการท่องเที่ยว และเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ และตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อีกทั้ง มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรม โดยคาดว่า อุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก
อยู่ที่ระดับ 74.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวได้ดี โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ขณะที่อุปสงค์สินค้าเกษตรยังเพิ่มต่อเนื่อง
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ
อยู่ที่ระดับ 74.1 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะในภาคบริการเมื่อเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวและมีวันหยุดยาว ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหลังเกิดอุทกภัย และความต้องการวัสดุก่อสร้างและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 72.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดี
โดยมีแรงสนับสนุนจากความเชื่อมั่นในภาคเกษตรและภาคบริการ จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ อาทิ การปรับลดราคาปัจจัยการผลิต การควบคุมราคาผลผลิต และปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้ง รวมถึงมีการจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังให้ความสำคัญกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อยู่ที่ระดับ 71.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ การส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและภาคเอกชน การบริโภคที่จะเร่งขึ้นในช่วงวันหยุดยาว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นในภาคเกษตรกรรมได้รับแรงสนับสนุนจากราคาผลผลิตที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามอุปสงค์สินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนภาคเกษตรของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อราคาต้นทุนวัตถุดิบและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง
และสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล
อยู่ที่ระดับ 68.0 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดี จากความเชื่อมั่นในภาคบริการและภาคการลงทุน โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่ปรับตัวดี ทั้งนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจภายในประเทศในระยะถัดไป
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3254