fbpx
News update

กรมวิทย์ฯ ตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ ฟลูอัลปราโซแลม ในของกลางยาเม็ดอีริมิน 5

Onlinenewstime.com : เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  เภสัชกรสมศักดิ์ สุนทรพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด และดร.วราพร ชลอำไพ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา แถลงข่าวประเด็น “ตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ (ฟลูอัลปราโซแลม)”

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ได้รับของกลางเพื่อตรวจวิเคราะห์ มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งพิมพ์เลข “5” อีกด้านหนึ่ง พิมพ์สัญลักษณ์บนแผงพิมพ์คำว่า อีริมิน 5 “Erimin 5”

ตรวจพบตัวยาฟลูอัลปราโซแลม (Flualprazolam) ซึ่งเป็นยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ (benzodiazepines) ชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยตรวจพบมาก่อน ในประเทศไทย จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 

ยาเม็ดอีริมิน 5 โดยปกติมีส่วนประกอบของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ชื่อไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) มีขนาดยา 5 มิลลิกรัม จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 2 ปัจจุบันไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย

มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและพบระบาดมากใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ระยะหลังพบการระบาดของยาอีริมินปลอมเพิ่มมากขึ้น

โดยการใส่หรือผสมยาหรือวัตถุออกฤทธิ์ตัวอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย จากรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง Erimin 5 ตั้งแต่ปี 2556 ตรวจพบ Nimetazepam, Nitrazepam, Phenazepam, Diazepam, Clozapine และ Etizolam

ดังนั้นการตรวจพบตัวยาฟลูอัลปราโซแลม จึงเป็นการตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย มีการตรวจพบ ตั้งแต่ปี 2564 

ห้องปฏิบัติการยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวยาฟลูอัลปราโซแลมในของกลางยาเม็ด Erimin 5 ด้วยเทคนิค Liquid chromatography mass spectrometry (LCMS), Gas chromatography mass spectrometry (GCMS), Thin Layer Chromatography (TLC) และUV-Vis spectrophotometry โดยเปรียบเทียบตัวอย่างกับสารมาตรฐานฟลูอัลปราโซแลม


นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ฟลูอัลปราโซแลม เป็นยากลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น (Synthetic benzodiazepines) มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับอัลปราโซแลม (alprazolam) แตกต่างกันที่ฟลูอัลปราโซแลมมีอะตอมของฟลูออรีนอยู่ในโครงสร้าง

ทั้งนี้ ฟลูอัลปราโซแลม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 มีการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับตัวอื่นในกลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ โดยออกฤทธิ์คลายความวิตกกังวล และทำให้ง่วงนอน เนื่องจากฟลูอัลปราโซแลม ไม่มีการใช้เป็นยาในมนุษย์ จึงไม่พบการศึกษาวิจัยทางคลินิกของตัวยา

แต่จากโครงสร้างทางเคมี คาดว่าฟลูอัลปราโซแลมออกฤทธิ์ภายใน 10 – 30 นาที หลังการรับประทาน และออกฤทธิ์นาน 6 – 14 ชั่วโมง เนื่องจากไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจน ดังนั้นการใช้หรือเสพตัวยาฟลูอัลปราโซแลม จึงเป็นความเสี่ยงต่อผู้เสพที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และควบคุมการแพร่ระบาดของยาดังกล่าวต่อไป