Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

สธ. อัพสกิลบุคลากร เสริมทักษะรับมือผู้ป่วยมีพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง

Helping hand

เพื่อรับมือสถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยยาเสพติด และผู้ป่วยภาวะถอนพิษสุรา ที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงได้อย่างเหมาะสม เป็นไปตามมาตรฐานและการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม

วันนี้ (12 ธันวาคม 2567) ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ร่วมงานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการการจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วยรุนแรง สำหรับพยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และบุคลากรทางการแพทย์

โดยมีการจำลองสถานการณ์ผู้ป่วยที่ก่อความรุนแรงและการรับมือเหตุการณ์ ซึ่งมีบุคลากรสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 6 ร่วมประชุมผ่านระบบออนไซต์ และออนไลน์ ประมาณ 300 คน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจรซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานหลักในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ได้พัฒนาศักยภาพหน่วยบริการให้สามารถจัดบริการส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างครอบคลุม

ซึ่งในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดนั้น สามารถเกิดอันตรายขึ้นได้หากไม่มีการบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเหมาะสม

โดยในปี 2560 -2567 พบมีเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล ทั้งการทะเลาะวิวาท ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายทรัพย์สิน และก่อความไม่สงบ รวม 99 เหตุการณ์

ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนได้รับบาดเจ็บ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของสถานพยาบาลและขวัญกำลังใจของบุคลากร ซึ่งในช่วงปี 2563 – 2567 พบว่ามีบุคลากรได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานรวม 252 คน

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดให้บุคลากรได้มีการทบทวนทักษะและแนวทางในการรับมือกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรง ทั้งผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยยาเสพติด และผู้ป่วยภาวะถอนพิษสุรา ที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม

สำหรับการประชุมวันนี้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยง สาเหตุความรุนแรงในผู้ป่วย และฝึกการปฏิบัติในสถานการณ์วิกฤติทั้งทักษะการสื่อสาร การจัดสถานการณ์ฉุกเฉิน การทำงานเป็นทีม ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรการแพทย์ทำงานได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้ป่วย ช่วยยกระดับความเชื่อมั่นให้ทุกโรงพยาบาลเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับบุคลากรผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการต่อไป

ด้านพญ.ดุษฏี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบสุขภาพจิต และโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมรุนแรง ว่า จะมีการดูแลตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ซึ่งมียุทธวิธีการในดูแลจำกัดพฤติกรรม เมื่อผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

โดยหลักการมี 3 รูปแบบ คือ 1.การพูดคุยเพื่อสงบความรุนแรงและอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว 2.หากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงพฤติกรรมรุนแรง จะใช้การจำกัดพฤติกรรมทางกายโดยใช้เตียงและผ้าในการผูกยึดข้อมือ ข้อเท้าซึ่งต้องมีการขออนุญาตจากญาติตั้งแต่เข้ารับการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยสงบ และ 3.การใช้ยา โดยแพทย์สั่งจ่ายยาเพื่อสงบพฤติกรรมรุนแรงและก้าวร้าว

สำหรับในทุกกระบวนการจะดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความชำนาญ ใช้เทคนิคที่เหมาะสม และสามารถประเมินสถานการณ์ได้ เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงาน

Exit mobile version