Onlinenewstime.com : ผลการศึกษาล่าสุดโดย Vero Advocacy และ Kadence International ชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ ไทยมากกว่า 4 ใน 5 คน (89%) มองอนาคตของประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้าในแง่บวก อย่างไรก็ตาม ความหวังนี้มาพร้อมกับความท้าทายสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อผลักดันความฝันของพวกเขาให้กลายเป็นจริง
Vero Advocacy บริษัทที่ปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ และ Kadence International บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก มีเป้าหมายในการศึกษามุมมองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีร่วมกันในภูมิภาค และสำรวจความหวัง ความใฝ่ฝัน และความท้าทายของพวกเขาต่ออนาคต
การศึกษาครั้งนี้ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่ม Gen Z และ Millennials กว่า 2,700 คนจาก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศไทย 452 คน การศึกษาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การวางแนวทางให้ภาครัฐและเอกชนสามารถพัฒนานโยบายและโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของปัจจุบัน เพื่อผลักดันไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
หมายเหตุ: Gen Z คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2540 – 2555 หรือ ค.ศ. 1997 – 2012 ในขณะที่ Millennials หรือ Generation Y คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2523 – 2540 หรือ ค.ศ. 1981 – 1996
ผลการสำรวจพบว่า 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่ม Gen Z คาดหวังว่าชีวิตในอนาคตจะ “ดีขึ้นมาก” และอีก 47% คาดว่าชีวิตของพวกเขาจะ “ดีขึ้น” ซึ่งสูงกว่าคำตอบในประเด็นเดียวกันของกลุ่ม Millennials ที่รวมอยู่ที่ 85% ในขณะเดียวกัน ค่าเฉลี่ยของผู้ตอบ Gen Z จากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคก็แสดงให้เห็นถึงความหวังในแง่บวกที่แตกต่างกันไป ได้แก่ อินโดนีเซีย (87%) มาเลเซีย (85%) ฟิลิปปินส์ (85%) สิงคโปร์ (74%) และเวียดนาม (90%)
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Gen Z และ Millennials ในประเทศไทยต่างระบุว่า โอกาสในการทำงานและคุณภาพการศึกษาเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุด รวมไปถึงความกังวลในด้านการเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่เหมาะสม ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในทุกประเทศที่ทำการสำรวจ นอกจากนี้ ยังพบความกังวลในประเด็นอื่น ๆ อาทิ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และการจัดการระบบภาษีและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ
การขาดแคลนโอกาสในการจ้างงานอาจสร้างความไม่แน่นอนในอนาคต
เยาวชนไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในการประกอบอาชีพ ผลสำรวจพบว่า 63% ของกลุ่ม Gen Z และ 69% ของกลุ่ม Millennials ยกประเด็นการจ้างงานเป็นความท้าทายอันดับหนึ่ง เช่นเดียวกับความพึงพอใจต่อนโยบายด้านการจ้างงานที่ได้รับคะแนนต่ำที่สุดในบรรดานโยบายทุกด้าน
คนรุ่นใหม่ทั้งสองกลุ่ม มองว่าโอกาสในการทำงานที่มีจำกัดและการแข่งขันที่สูงเป็นอุปสรรคสำคัญ พวกเขายังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน
สำหรับคนรุ่นใหม่ การเข้าถึงงานที่มั่นคงเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การมีชีวิตที่มั่นคง เนื่องจากเป็นปัจจัยที่เอื้อให้สามารถเข้าถึงบริการจำเป็นพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และการศึกษา พวกเขาเรียกร้องให้มีการพัฒนาบริการด้านการจ้างงานที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อาทิ การให้คำปรึกษาด้านการประกอบอาชีพ การจัดโครงการจัดหาและย้ายสายงานแบบครบวงจร
ตลอดจนการเพิ่มการสนับสนุนด้านการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ พวกเขายังยังเรียกร้องให้มีการริเริ่มโครงการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมพนักงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนในระยะยาว
คุณภาพการศึกษา: ความท้าทายไปไกลกว่าเรื่องค่าใช้จ่าย
แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายเรียนฟรีตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษาแบบครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการอุดหนุนค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน และค่าชุดนักเรียน แต่ผลสำรวจกลับพบว่า 69% ของกลุ่ม Gen Z และ 66% ของกลุ่ม Millennials ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาอยู่
กระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงถึง 328,000 ล้านบาทในปี 2567 และจากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI พบว่านโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จในการลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างพื้นที่ชนบทและเมืองได้จริง
อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนความพึงพอใจต่อนโยบายการศึกษาในประเทศไทยเพียง 54% เท่านั้น แม้จะเป็นคะแนนที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้ปรับปรุงและพัฒนาอีกมาก ข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อโอกาสของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาทักษะและความสามารถที่จำเป็นต่อการแข่งขันในตลาดแรงงาน
ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต ผู้ตอบแบบสอบถามให้ข้อเสนอแนะว่า การปรับปรุงระบบการศึกษาควรดำเนินการในหลายมิติ เช่น การทบทวนและปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาและเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในองค์รวม และเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถรับมือกับความท้าทายของโลกการทำงานยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความท้าทายของเจนเนอเร ‘เช่า’ ในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย
45% ของกลุ่ม Gen Z และ Millennials มองประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้เป็นความท้าทายลำดับต้น ๆ แม้ว่าผลสำรวจจะแสดงให้เห็นว่า 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยพึงพอใจกับนโยบายที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นอัตราความพึงพอใจที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ในประเทศที่มีการสำรวจทั้งหมด
แต่ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในทำเลที่เข้าถึงได้ยังคงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ปัญหานี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากการมีที่อยู่อาศัยในทำเลที่เหมาะสมนั้นเชื่อมโยงโดยตรงกับการเข้าถึงโอกาสในการทำงาน การศึกษา การเข้ารับบริการด้านสุขภาพ และบริการพื้นฐานที่จำเป็น อื่น ๆ
จากรายงานของสำนักข่าวเดอะเนชั่นระบุว่า ผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาเช่าแทนการซื้อที่อยู่อาศัย และมีแนวโน้มขยับแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘Generation Rent’ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยถูกลดความสำคัญลงในหมู่คนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก
ผู้ตอบแบบสอบถามได้เสนอแนะให้เร่งผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อเพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้ให้มากยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนของที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่รอบนอกเมือง และนำไปสู่การออกแบบมาตรการเงินอุดหนุนที่ตรงกลุ่มเป้าหมายสำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ทั้งการซื้อและการเช่าที่อยู่อาศัยเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่
“การจ้างงาน การศึกษา และที่อยู่อาศัยคือความท้าทายเร่งด่วนของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนความมั่นคงในชีวิต แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมโดยรวม”
พงศ์ศิริ ภูรินธนโชติ หนึ่งในหุ้นส่วนผู้จัดการของ Vero Advocacy อธิบาย “คนรุ่นใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของภูมิภาค การแก้ไขความท้าทายเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปลดล็อกศักยภาพของพวกเขาและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั้งยั่งยืนและครอบคลุม”
ด้วยความเชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Vero Advocacy ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมประสานระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ กับภาคเอกชน และภาครัฐ Vero Advocacy ได้ตระหนักถึงความกังวลของคนรุ่นใหม่ และพร้อมผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมและการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพจากทั้งสองภาคส่วน เพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายและโครงการที่ยั่งยืนและตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
ข้อเสนอแนะ
ออกแบบนโยบายที่มุ่งเน้นคนรุ่นใหม่เป็นศูนย์กลาง
ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการผลักดันโครงการที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างโอกาสในการจ้างงาน และพัฒนาระบบที่อยู่อาศัยให้มีราคาที่เข้าถึงได้ การให้ความสำคัญกับประเด็นพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศทางสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพและความก้าวหน้าในชีวิตของคนรุ่นใหม่
สร้างการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
การเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการเสวนาเชิงนโยบายและกระบวนการตัดสินใจถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแสวงหาและให้ความสำคัญกับมุมมองและความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ในการกำหนดนโยบายที่จะส่งผลต่ออนาคตของพวกเขาโดยตรง
สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่
การจัดให้มีเวทีหรือพื้นที่เฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเป็นสิ่งจำเป็น พื้นที่เหล่านี้ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และเปิดกว้าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
ส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ภาคเอกชนควรพัฒนาโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่พวกเขามีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและองค์ความรู้จะช่วยบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางธุรกิจ อันจะนำไปสู่การสร้างผู้นำและนวัตกรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ
ผนวกการพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้ากับพันธกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
องค์กรภาคเอกชนควรบูรณาการแนวคิดการพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยมุ่งเน้นการริเริ่มโครงการที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและแก้ไขประเด็นทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่โดยตรง แนวทางนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาสังคมที่ครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้อย่างตรงจุด
“การศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญที่กลุ่ม Gen Z และ Millennials กำลังเผชิญ และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของคนรุ่นใหม่ การแก้ไขความท้าทายเหล่านี้อย่างทั่วถึงจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคนรุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งวางรากฐานอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับคนทุกช่วงวัย” Ashutosh Awasthi, ผู้อำนวยการ Kadence International กล่าว
ด้าน ณัฐพร บัวมหะกุล หนึ่งในหุ้นส่วนผู้จัดการของ Vero Advocacy กล่าวเสริมว่า “กลุ่มคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาค จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องเข้าใจและตอบสนองต่อความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้พวกเขาอย่างเต็มที่ เพราะอนาคตของพวกเราทุกคนล้วนขึ้นอยู่กับการเสริมสร้างศักยภาพของคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น”
ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ฟรีที่เว็บไซต์ของ Vero