Onlinenewstime.com : ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย โดยมีมูลค่ารวมกว่า 45,000 ล้านบาทต่อปี มีผู้ประกอบอาชีพที่เป็นทั้งเจ้าของกิจการและแรงงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยจำนวน 39,097 คน ผู้ผ่านการฝึกอบรมด้านการนวดแผนไทยกว่า 400,000 คน มีโรงงานผลิตยาแผนไทยของภาครัฐจำนวน 71 แห่ง โรงงานผลิตยาแผนไทยภาคเอกชน 947 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทยกว่า 2,000 แห่ง และมีผู้ประกอบการร้านขายยาแผนไทยกว่า 9,000 ราย
ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการมาตรฐานให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมสมุนไพรรวมถึงแรงงานที่มีอยู่หลากหลายในอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีคุณภาพและได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ถือเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจของ SMEs ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย
“กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักและให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกราย พัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้า
โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ มอก.เอสเพื่อให้การรับรองคุณภาพสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ SMEs หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ก่อนที่จะพัฒนาต่อยอดสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อการแข่งขันในตลาดต่างประเทศต่อไป” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐาน มอก.เอส ทั้งหมด 246 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 120 มาตรฐาน และมาตรฐานด้านการบริการ 126 มาตรฐาน มีผู้ประกอบการ SMEs ยื่นคำขอรับการรับรองรวมทั้งสิ้น 1,115 ราย ได้รับใบรับรองไปแล้ว522 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการ 593 ราย
ซึ่งขณะนี้มีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสมุนไพร มีจำนวน 10 มาตรฐาน เช่น แชมพูสมุนไพร สบู่เหลวสมุนไพร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวผสมสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าผสมสมุนไพรผลิตภัณฑ์บำรุงริมฝีปากผสมสมุนไพร แป้งน้ำและแป้งฝุ่นผสมสมุนไพร และมาตรฐาน มอก.เอส การบริการนวดและสปา เป็นต้น
เลขาธิการ สมอ. กล่าวต่อว่า “การกำหนดมาตรฐานของ สมอ. ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้บริโภคหรือผู้ใช้ และนักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาชีพจะมาร่วมกำหนดมาตรฐาน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งปัจจุบัน สมอ. มีหน่วยงานร่วมเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organizations : SDOs) จำนวน 43 หน่วยงาน ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน มอก. แต่ยังไม่มี SDOs หน่วยงานใดกำหนดมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะ สมอ. จึงได้จับมือกับสภาการแพทย์แผนไทยมาร่วมกำหนดมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
โดยเฉพาะด้านมาตรฐานสมุนไพรไทย เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรที่มีองค์ความรู้และความสามารถเฉพาะทางด้านการแพทย์แผนไทย และจะเป็นหน่วยงานแรกที่เป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานสำหรับ SMEs
โดย สมอ. ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับสภาการแพทย์แผนไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐานและการให้รับรองมาตรฐานการแพทย์แผนไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
หลังจากนี้สภาการแพทย์แผนไทยจะสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกเพื่อจัดทำแผนการกำหนดมาตรฐาน มอก.เอส ต่อ สมอ. ภายในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ และจะเริ่มกำหนดมาตรฐานมอก.เอส ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการบริการนวดแผนไทย การบริการนวดเพื่อสุขภาพ (Wellness) และจะพัฒนาต่อยอดไปจนถึงขั้นกำหนดมาตรฐาน มอก. สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรในระดับอุตสาหกรรมต่อไป
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการ SMEs ต้องการยื่นคำขอรับการรับรองสามารถยื่นคำขอออนไลน์ได้ที่ https://service.tisi.go.th/e-sdo/web/request/create และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองกำกับองค์กรด้านการมาตรฐาน สมอ. โทร 0 2430 6826 ในวันและเวลาราชการ”