fbpx
News update

10 ประเทศที่มีจำนวน “ประชากรมากที่สุดในโลก” ปี 2022

Onlinenewstime.com : ปี 2022 เป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายจากวิกฤตโควิด-19 ที่สาหัสมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แทบทุกประเทศเริ่มทยอยเปิดประเทศ และยกเลิกมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ตัวเลขของอัตราการเสียชีวิตเริ่มลดลง และความหวาดกลัวเริ่มจางหายไป

ชวนมาดูสถานการณ์ประชากรโลก ว่ามีอัตราการเติบโต และแนวโน้มว่าจะไปในทิศทางใดกันบ้างจะดีกว่า เว็บไซต์ข่าว ออนไลน์นิวส์ไทม์ ได้จัดทำแผนภูมิ และตารางแสดงจำนวนประชากรโลกในปี 2022 อ้างอิงข้อมูลจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่รายงานข้อมูลประชากรโลกไว้ดังนี้

ประชากรแบ่งตามภูมิภาค

เริ่มจากทวีปเอเชีย ที่เป็นภูมิภาคซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุด โดยมีสัดส่วน 59% ของจำนวนประชากรโลก คือประมาณ 4,580 ล้านคน ตามมาด้วย ทวีปแอฟริกา ที่มีสัดส่วนประชากร 18% หรือประมาณ 1,380 ล้านคน ทวีปอเมริกา ประชากรโดยรวมคือ 1,020 ล้านคน คิดเป็น 13% ของประชากรโลก

ทวีปยุโรป มีจำนวนประชากร 9% ของจำนวนประชากรโลก คือประมาณ 701 ล้านคน ที่สัดส่วน 10%  และอันดับสุดท้ายคือทวีปโอเชียเนีย (Oceania) มีสัดส่วนประชากรประมาณ 1% ของประชากรโลก คือประมาณ 43 ล้านคน

เปรียบเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรแต่ละทวีปจากปี 2021 พบว่า

ทวีปเอเชีย มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโดยรวมเพียง 0.72% ทวีปแอฟริกา เพิ่มขึ้น 2.41% ทวีปอเมริกา เพิ่มขึ้น 1.66% ในขณะที่ทวีปยุโรป จำนวนประชากรลดลงจากปี 2021 ถึง -5.41%  และโอเชียเนีย เพิ่มขึ้น 1.06%

ความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

10 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

ประเทศจีนยังคงเป็นมหาอำนาจที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนประชากรในปี 2022  1,412.55 ล้านคน  คิดเป็น 18.30% ของประชากรโลก

อันดับ 2 เป็นประเทศอินเดีย มีจำนวนประชากรทั้งหมดที่ 1,406.63 ล้านคน (18.22% ของประชากรโลก)

อันดับ 3 คือประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนประชากรประมาณ 333 ล้านคน (4.31% ของประชากรโลก)

อันดับ 4 คือ อินโดนีเซีย จำนวนประชากร 274.86 ล้านคน (3.56% ของประชากรโลก)

อันดับ 5 คือปากีสถาน ที่แซงหน้าบราซิลจากปี 2021ด้วยจำนวนประชากร  222.59 ล้านคน คิดเป็น 2.94%  ของประชากรโลก

และประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับที่ 6-10 ได้แก่, ไนจีเรีย, บราซิล, บังคลาเทศ, รัสเซีย และเม็กซิโกตามลำดับ

ผลกระทบจากโควิด ทำให้เห็นความชะงักงันของอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรในทุกทวีปทั่วโลก ยกตัวอย่างประเทศที่มีอัตราการเติบโตลดลง ในทวีปเอเชีย ประเทศจีนมีอัตราการเติบโตของจำนวนประชากร ติดลบ 0.0035% จากอัตราบวกที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอด 10 ปี หรือที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเคยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 1% ลดลงเหลือ 0.95%

ขณะเดียวกันในทวีปยุโรป ประเทศรัสเซีย ก็มีอัตราการลดลงของประชากรอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2020 ที่ติดลบ 0.4% โดยเฉลี่ย และที่ประเทศอังกฤษ มีอัตราการเติบโตลดลงจากเฉลี่ย 0.5% เป็น 0.35% หรือแม้แต่ในทวีปอเมริกา ที่สหรัฐอเมริกา จากอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่ 0.6% คงเหลือ 0.25% ในปี 2022 ทั้งหมดนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกครั้งสำคัญหลังวิกฤตที่ยาวนานของโควิด-19