Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดผลวิเคราะห์ธุรกิจโรงแรมและที่พัก 7 เดือนแรกปี 2566 จัดตั้งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 จำนวน 184 ราย พบ บริษัทขนาดเล็กที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้าน ครองตลาด 95.04% สะท้อนศักยภาพธุรกิจของคนตัวเล็กที่มีพลัง 3 ปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ว่าธุรกิจโรงแรมฯ กลับมาบูม ได้แก่
1) จำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจและการคลี่คลายของโควิด-19 2) การออกกฎหมายที่สามารถนำอาคาร ห้องแถว โฮมสเตย์มาให้บริการได้ และ 3) งบการเงินชี้ธุรกิจมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น และขาดทุนลดลงจากปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมและที่พักเป็นโอกาสทองของเศรษฐกิจไทย มองเห็นสัญญาณผู้ประกอบธุรกิจเร่งสร้างตัว ปรับมาตรฐานการให้บริการที่สอดรับสากล พร้อมนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างตลาดและให้บริการที่สะดวก สบาย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กว่า 3 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 การปิดประเทศและชะลอการเดินทางส่งผลกระทบอย่างมากกับการดำเนินธุรกิจ หลายธุรกิจต้องหยุดชะงักลงโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและที่พักได้รับผลกระทบโดยตรง
ซึ่งในปี 2566 สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการแบบ วิถีปกติใหม่ (New Normal) ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อนำมากำหนดแนวทางพัฒนาและอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง พบว่า ‘ธุรกิจโรงแรมและที่พัก’ มีสัญญาณ การฟื้นตัวเด่นชัด
อัตราการเติบโตของธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดใน 7 เดือนแรก โดยตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม 2566 มีนิติบุคคลตั้งใหม่จำนวน 546 ราย เพิ่มขึ้นถึง 184 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นถึง 51%
อธิบดี กล่าวต่อว่า “ธุรกิจโรงแรมและที่พักในประเทศไทยที่จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลมีจำนวน 12,826 ราย คิดเป็น 1.45% ของธุรกิจทั้งหมด มีมูลค่าทุน 608,777 ล้านบาท คิดเป็น 2.86% ของธุรกิจทั้งหมด หรือ 21.47 ล้านล้านบาท
ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจรูปแบบบริษัทจำกัดจำนวน 11,359 รายคิดเป็น 88.56% มูลค่าทุนจำนวน 574,720 ล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากถึง 12,190 ราย คิดเป็น 95.04% นอกนั้นเป็นธุรกิจขนาดกลาง (M) จำนวน 514 ราย คิดเป็น 4.01% และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) จำนวน 122 ราย คิดเป็น 0.95% จากตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของธุรกิจรายย่อยที่สามารถพลิกฟื้นวิกฤตธุรกิจโรงแรมและที่พักให้กลับมาเติบโตได้”
“จากปัจจัยที่ธุรกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เริ่ม ‘ฟื้นตัว’ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางในประเทศมากขึ้นมีผู้เข้าพักสูงถึง 71 ล้านคน รวมถึงโรงแรมและที่พักในพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวสูงสุดคือ กรุงเทพฯ จำนวน 15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 120.9% และพื้นที่ในภาคใต้ จำนวน 13 ล้านคน เพิ่มขึ้น 97.7% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565
ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศกว่า 12.9 ล้านคน มากไปกว่านั้นปัจจัย ‘ด้านกฎหมายที่มีผลบังใช้’ ซึ่งเอื้ออำนวยให้ธุรกิจสามารถนำอาคาร ห้องแถว ตึกแถว หรือโฮมสเตย์มาใช้ประกอบกิจการโรงแรมได้ ทำให้เกิดนักธุรกิจหน้าใหม่ที่ให้บริการโรงแรมและที่พักมีจำนวนมากขึ้น ราคาที่พักมีความหลากหลาย และยังเกิดรูปแบบใหม่ในการให้บริการที่เป็นเอกลักษณ์ของที่พักในแต่ละท้องถิ่น จะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาใช้บริการมากขึ้นสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ”
“หากวิเคราะห์ลึกไปถึง ‘ข้อมูลงบการเงิน’ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ระบุได้ว่าธุรกิจโรงแรมฯ สามารถปรับตัวเดินต่อได้เพราะรายได้รวมในปีงบการเงิน 2565 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 103,491 ล้านบาท คิดเป็น 1.07 เท่าจากปีก่อนหน้า
และเมื่อพิจารณาถึงกำไรขาดทุน พบว่า ยังมีการขาดทุนจำนวน 24,162 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยปกติที่มีผลจากการเผชิญวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา แต่ประเด็นสำคัญคือ การขาดทุนที่ลดลงกว่า 60.47% จากปีก่อนหน้าเป็นสัญญาณที่ดีบ่งบอกถึงการเติบโตของธุรกิจโรงแรมและที่พักในประเทศไทย”
“ธุรกิจโรงแรมและที่พักยังเป็นธุรกิจแห่งโอกาสของประเทศไทย การที่ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดจะส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจโรงแรมฯ ตามมา อีกทั้ง การปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจในการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่มุ่งเน้นมาตรฐานตามหลักสากล การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการนำเสนอธุรกิจที่อยู่ในท้องถิ่นให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ หรือการจองที่พักที่สะดวกสบายง่ายขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจโรงแรมฯ เติบโตอย่างมั่นคงได้” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย