Onlinenewstime.com : สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย และพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในขณะนี้ เป็นสัญญาณชัดเจนที่สะท้อนถึงภาวะโลกรวน ซึ่งส่งผลให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับฝนตกหนักและสภาพอากาศที่แปรปรวน
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเหตุการณ์ธรรมชาติปกติ แต่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงและความถี่ขึ้น
สอดคล้องกับรายงานองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่ชี้ว่าโลกรวนทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเจอกับสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงที่สุดในปี 2023 เช่น ฝนตกหนัก ระดับน้ำของแม่น้ำโขงลดลง
ขณะที่รายงานแห่งชาติ (NC4) ชี้ว่า ภาคอีสานและภาคเหนือเสี่ยงภัยพิบัติหนัก โดยเฉพาะ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงรายนั้น เผชิญกับน้ำท่วม ในภาคการตั้งถิ่นฐานและความปลอดภัยของมนุษย์ ซึ่งเป็น 1 ในภัยพิบัติ 3 ประเภท ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย คือ ภัยแล้ง น้ำท่วม และความร้อน
ซึ่งสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ การเก็บเกี่ยวผลผลิตล้มเหลว กระทบปากท้องเกษตรกร สัตว์สูญพันธุ์ จนถึงน้ำปนเปื้อนที่นำไปสู่โรคระบาด (*รายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 ปี 2565 (NC4) จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ UNDP สนับสนุนโดยกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF))
รายงานของ UNDP หรือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) ยังระบุอีกว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากภาวะโลกรวน โดยหนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรไทยกว่า 12 ล้านคน ที่คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 6 ของคนไทย
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของประเทศไทยนั้น เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า “แผนการรับมือกับภาวะโลกรวน” เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องแก้ปัญหาผ่านหลายแนวทาง เช่น งบประมาณที่ต้องบูรณาการเรื่องโลกรวนเพื่อให้เราตั้งรับได้
นโยบายของทุกภาคส่วน ตั้งแต่มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมองเรื่องโลกรวนเข้าไปเป็นหนึ่งในปัจจัย ไม่มองแยกขาดจากกัน
การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนน หนทางที่ประเมินความเสี่ยงเรื่องโลกรวน จนถึงปรับแนวทางภาคเกษตรให้สอดรับและยืดหยุ่นกับผลกระทบและความเสี่ยง
นับว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน เป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะโลกรวน ที่ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกต่อไป แต่เป็นวิกฤติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและกะทันหัน ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน
ดังนั้นการวางแผนรับมือกับวิกฤตนี้ต้องถูกบูรณาการอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับงบประมาณ นโยบาย หรือการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างอนาคตที่ปลอดภัยและยั่งยืนให้กับทุกคน