fbpx
News update

วันวาเลนไทน์ 2025 สมรสเท่าเทียม-ความหมายที่กว้างกว่าคำว่า “รัก”

Onlinenewstime.com : วาเลนไทน์ปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีการรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ และเรียกได้ว่า เป็นเพียงก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลง แต่ที่ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะ“สมรสเท่าเทียม” ไม่ใช่แค่เรื่องของ “ความรัก” เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของ “สิทธิ” “การยอมรับ” และ “การเปลี่ยนผ่านของสังคม”

 “เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ นิวส์ไทม์” ได้สัมภาษณ์พิเศษ ผู้อยู่เบื้องหลังและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ กล่าวถึงความหมายของการสมรสเท่าเทียม ที่มีความหมายที่กว้างกว่าคำว่า “รัก” และมากกว่าความสำคัญของการแต่งงานของคนสองคน

“กฎหมายสมรสไม่ได้มีไว้เพื่อพิสูจน์ความรัก แต่เป็นมาตรฐานที่กำหนดกรอบของครอบครัว และสร้างหลักประกันในชีวิตคู่ให้เกิดความมั่นคง ทั้งในเรื่องสิทธิ สวัสดิการ และความรับผิดชอบต่อกันและกัน”

อัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอัญจารี ในปี 2529 ซึ่งเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของหญิงรักหญิง ได้ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ นิวส์ไทม์ ถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ “การที่มีกฎหมาย จดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในวันที่ 23 มกราคม 2568 เป็นวันที่สำคัญ ของประวัติศาสตร์ไทย”

นี่ไม่ใช่เพียงแค่ชัยชนะของคู่รักเพศเดียวกัน แต่ยังเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยในการยอมรับความหลากหลายทางครอบครัว และความสัมพันธ์ที่มีความหมายมากๆ สำหรับความเท่าเทียมระหว่างผู้คนในสังคม พร้อมชี้ให้เห็นว่าการสมรสไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสองคน แต่ยังเชื่อมโยงถึงเครือญาติและสังคมโดยรวม

ถ้ามองแบบง่ายๆ บางคนอาจจะคิดว่า กฎหมายนี้เพื่อคู่รักเพศเดียวกันจะได้รับการรับรองทางกฎหมายแล้ว ที่เท่าเทียมกับคู่ต่างเพศ มองด้านนั้นก็ได้ แต่ว่านั่นเป็นด้านแคบ เพราะว่าจริงๆแล้ว คู่ที่รักเป็นเพศเดียวกัน ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีพ่อมีแม่เป็นส่วนหนึ่งของเครือญาติ ที่ไม่ได้เป็นคนรักเพศเดียวกัน

เพราะฉะนั้นในสังคมเราจึงคนที่มีความรักหลากหลายรูปแบบ แล้วก็เกี่ยวโยงกันด้วยกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายสมรส คือ การที่รัฐรับรองการเป็นคู่ของคน 2 คน และคน 2 คนนั้น เมื่อเป็นคู่สมรสกันแล้ว ก็มีสถานะ และมีความเกี่ยวโยงกับญาติพี่น้องคนอื่นๆ ของเค้าด้วย เป็นเรื่องของการดองกัน การเข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกันที่มันกว้างกว่าเฉพาะเรื่องของคน 2 คน เพราะไม่มีหรอกสังคมไหนที่คบกันแค่ 2 คน หรือ 1 คู่จะอยู่กันเอง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ชีวิตเราต้องเกี่ยวข้องกับทุกๆคน

ดังนั้นการที่มีกฎหมายทำให้เกิดความชัดเจน เกิดความสุข สงบ เกิดความมั่นใจ ทั้งในแง่ของคู่คนรักเพศเดียวกันและกับญาติพี่น้องที่เกี่ยวโยงด้วย ก็จะมีความชัดเจนไปด้วยกันทุกคน

พร้อมอธิบายว่ากฎหมายสมรสเพศเดียวกันช่วยให้คู่รักสามารถสร้างครอบครัวที่มั่นคงได้อย่างเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลกันในยามเจ็บป่วย การจัดการทรัพย์สิน และสิทธิทางกฎหมายอื่นๆ รวมถึงการได้รับสวัสดิการจากรัฐและภาคเอกชนในฐานะคู่สมรส

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการรับรองบุตรของคู่สมรสเพศเดียวกัน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในเชิงนโยบายและกฎหมาย

“ในทางปฏิบัติ คู่สมรสต่างเพศสามารถรับรองบุตรของอีกฝ่ายได้ เช่น กรณีที่ผู้หญิงมีลูกติดมาก่อนแล้วแต่งงานใหม่ สามีก็สามารถรับรองบุตรเป็นของตนได้ เราหวังว่ากฎหมายจะสามารถครอบคลุมสิทธิในส่วนนี้ให้กับคู่สมรสเพศเดียวกันอย่างเท่าเทียม”

เธอยังเน้นย้ำว่าขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสในช่วงแรกอาจมีอุปสรรคที่ต้องปรับปรุง และขอให้ทุกคนช่วยกันติดตามเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างราบรื่น

ภาพปี 2556 ชวินโรจน์ และ อัญชนา เข้าร่วมชี้แจง และเสนอข้อเสนอแก้ไขปพพ. แต่ถูกปฏิเสธ

“เราต้องร่วมกันสังเกตและรายงานว่ามีจุดใดที่ยังไม่เป็นธรรม หรือมีอุปสรรคในการปฏิบัติ เพื่อให้รัฐสามารถปรับปรุงและทำให้กฎหมายนี้เป็นจริงได้อย่างแท้จริง”

แม้ว่ากฎหมายสมรสเพศเดียวกันจะไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่างในทันที แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยในการเดินหน้าไปสู่ความเท่าเทียม และสร้างอนาคตที่ทุกคู่สมรสสามารถมีสิทธิและความมั่นคงในชีวิตได้อย่างเสมอภาคกัน

ทลาย 8 กำแพง ก้าวข้ามอุปสรรคที่เคยขวางทาง

ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร หรือคุณอ๋อง ทนายความและนักวิชาการกฎหมายสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ ออนไลน์ นิวส์ไทม์ ว่าสาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) โดยเปลี่ยนถ้อยคำจาก “ชายหญิง” เป็น “บุคคลทั้งสอง” และจาก “สามีภริยา” เป็น “คู่สมรส” เพื่อให้ครอบคลุมถึงคู่รักเพศเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มอายุขั้นต่ำของการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กฎหมายนี้ยังระบุว่ากฎหมายหรือบทบัญญัติใด ๆ ที่ให้สิทธิแก่ “สามีภริยา” หรือ “ชายหญิง” ให้รวมถึง “คู่สมรส” ตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วย

พร้อมกล่าวอีกว่าสิ่งที่เป็นไฮไลท์ ความหมายที่ลึกซึ้งกว่าความรัก ของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความสำคัญของการยอมรับทางสังคมและกฎหมาย สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย นั่นคือ การทลายกำแพงทั้ง 8 ประการที่เคยเป็นอุปสรรคใหญ่ของความรักในอดีต  

หากย้อนไปในตอนที่ทำวิจัยทำให้เรารับรู้ว่าคู่รัก LGBTQ+ หรือคู่รักบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น พบว่า มี 8 ข้อที่เป็นปัญหาจากการที่เขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมานาน คือ

ข้อที่ 1 การตัดสินใจในการรักษาพยาบาลและการจัดการศพ

ข้อที่ 2  เรื่องของการจะมีบุตรและการปกครองบุตรร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการรับบุตรบุญธรรม การปกครองบุตรที่ติดมากับอีกฝ่าย หรือการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยี

ข้อที่ 3  การให้และรับมรดก คู่สมรสมีสิทธิในการรับมรดกซึ่งกันและกัน

ข้อที่ 4 การทำนิติกรรมและการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน

 ข้อที่ 5 มีสิทธิในสวัสดิการของคู่สมรส เช่นกรณีคู่สมรสอีกฝ่ายรับราชการก็ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการได้

ข้อที่ 6 มีสิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน ทั้งที่เป็นตัวสินสมรส และการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน

ข้อที่ 7 การที่เขาจะได้รับศักดิ์ศรีการยอมรับในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายและมีศักดิ์ศรี ตามกฎหมาย ทั้งในปพพ.เอง และในกฎหมายอื่นๆ

ข้อที่ 8 สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทุกคนที่จะมีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ไม่ต้องไปออกกฎหมายใหม่

ตรงนี้ คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในอดีตที่ผ่านมานั้นยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะฉะนั้นกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็เข้ามาแก้ไขปัญหาใน 8 ประการ ที่กล่าวมา

ประเด็นสำคัญในกฎหมายฉบับใหม่ที่ต้องแก้ไขก่อนกรกฎาคมนี้

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วก็ตาม แต่ คุณอ๋อง ก็แสดงความกังวลถึงข้อจำกัดและประเด็นที่ต้องพัฒนาต่อไป คือ การแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากไม่มีการแก้ไข ในวันข้างหน้าจะเกิดอุปสรรคในการใช้สิทธิในหลาย ๆ ด้าน

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่แม้ว่าจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ซึ่งเป็นกฎหมายหลักแล้ว แต่ยังมีกฎหมายลำดับรองอื่นที่เกี่ยวข้องที่ยังมีคำว่า “สามีภริยา” หรือ “ชายหญิง” ดังนั้นกฎหมายที่จะต้องมีการแก้ไข

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (พรบ.ตั้งครรภ์แทน): กฎหมายนี้ยังจำกัดสิทธิเฉพาะ “สามีภริยา”  ทำให้คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้ การแก้ไขกฎหมายนี้มีความสำคัญเพื่อให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคม กำลังดำเนินการร่างแก้ไขอยู่ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการแก้ไขเมื่อใด

การตีความ “บุพการี” ในการแก้ไขกฎหมายเดิมมีการเสนอให้เปลี่ยนคำว่า “บิดามารดา” เป็น “บุพการี” เพื่อให้ครอบคลุมความหลากหลายทางเพศ แต่สุดท้ายข้อเสนอนี้ถูกตัดออกไป ทำให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังคงใช้คำว่า “บิดามารดา” ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงคู่สมรสเพศเดียวกัน

พระราชบัญญัติสัญชาติ ให้สิทธิพิเศษแก่หญิงต่างชาติที่สมรสกับชายในการขอสัญชาติ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สิทธิสามีในการดำเนินคดีแทนภริยา แต่ไม่ได้กล่าวถึงภริยาในกรณีที่สามีไม่สามารถดำเนินคดีได้

ในด้านของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ไม่ได้รับสิทธิและความเท่าเทียม ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายลำดับรองอื่นเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งหน่วยงานของรัฐมีเวลา 180 วัน หรือประมาณเดือนกรกฎาคม  นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ หน่วยงานของรัฐจะต้องเสนอว่ามีกฎหมายที่ยังมีคำว่า “สามีภริยา” หรือยังมีคำว่า “ชายหญิง” ที่จำเป็นจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมแล้วก็ต้องนำเสนอร่างเข้าสู่คณะรัฐมนตรี”

การบังคับใช้และการติดตาม  แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องเสนอแก้ไขกฎหมายภายในเดือนกรกฎาคม แต่หากหน่วยงานรัฐไม่ดำเนินการแก้ไข ก็ยังไม่มีมาตรการบังคับใช้ที่ชัดเจน ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามและผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง

แนวโน้มการเพิ่มเติมสิทธิที่ยังไม่ครอบคลุมสำหรับคู่สมรสเพศเดียวกันนั้น คุณอ๋อง บอกว่า ยังคงต้องอาศัยการผลักดันและการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชน สำหรับการติดตามการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะทุกภาคส่วน สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาฯ เอกชน และชุมชน LGBTQ+ มีส่วนสำคัญในการติดตามและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน.

ข้อแนะนำสำคัญสำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่ต้องรู้ก่อนจดทะเบียนสมรส

คุณอ๋อง กล่าวว่าสำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่กำลังพิจารณาจะจดทะเบียนสมรส มีคำแนะนำว่า ต้องทำความเข้าใจสิทธิและหน้าที่ การจดทะเบียนสมรสไม่ได้เป็นเพียงแค่การได้รับทะเบียนสมรส แต่เป็นการได้รับสิทธิ หน้าที่ และความผูกพันในสถานะคู่สมรส

ดังนั้นคู่รักควรทำความเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ที่เกิดขึ้นหลังการจดทะเบียน เช่น  การจัดการทรัพย์สินก่อนและหลังสมรส เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เกิดความชัดเจน ควรทำสัญญาก่อนสมรสและยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในวันจดทะเบียนสมรส ทั้งนี้หากไม่มีการทำสัญญา ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนสมรสจะเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินที่ได้มาหลังสมรสจะเป็นสินสมรส ทั้งนี้เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว ทรัพย์สินจะไม่ถูกแบ่งให้คู่สมรสทั้งหมด ในกรณีการจากไปแต่จะถูกแบ่งให้ทายาทด้วย หากต้องการจัดการทรัพย์สินหลังเสียชีวิตตามความประสงค์ ควรทำพินัยกรรมไว้ด้วย

การเตรียมรับมือ แม้ว่าจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว แต่ความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและอคติในสังคมก็ยังไม่หมดไป คู่รักอาจต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติหรือการกระทำความรุนแรง ดังนั้นควรมีภูมิคุ้มกันและตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในสังคม

ระลึกถึงความผูกพัน การจดทะเบียนสมรสเป็นการแสดงความผูกพันต่อกันอย่างเป็นทางการคู่รักควรตระหนักว่า การมีทะเบียนสมรสหมายถึงการไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้อีก  เพราะอาจนำไปสู่การสิ้นสุดการสมรส หรือการเรียกค่าทดแทนได้

เข้าใจข้อจำกัดของกฎหมาย: กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่ครอบคลุมถึงกฎหมายอื่น ๆ ทั้งหมด ยังมีกฎหมายลำดับรองที่ยังใช้คำว่า “สามีภริยา” หรือ “ชายหญิง” ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม ดังนั้นควรติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ต่อไป

ตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดเผยตัวตน: การจดทะเบียนสมรสเป็นการประกาศความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีของ LGBTQ+ เป็นการเปิดเผยตัวตนต่อรัฐและสังคม และเป็นการแสดงว่า LGBTQ+ ก็มีสิทธิและความรู้สึกเช่นเดียวกับคนอื่นการจดทะเบียนสมรสจึงเป็นการประกาศอิสรภาพจากความกลัวและการซ่อนเร้น

คุณอ๋อง ทิ้งท้ายไว้ว่า การจดทะเบียนสมรสเป็นก้าวสำคัญสำหรับคู่รัก LGBTQ+ แต่ก็มีหลายสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในด้านสิทธิ หน้าที่ ทรัพย์สิน และความผูกพัน รวมถึงความเข้าใจในข้อจำกัดของกฎหมายที่ยังคงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในอนาคต การเตรียมตัวและทำความเข้าใจอย่างละเอียด จะช่วยให้คู่รักสามารถใช้สิทธิและมีใช้ชีวิตคู่ได้อย่างมีความสุข

นับว่าการประกาศใช้กฎหมายนี้ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองการสมรส LGBTQ+ และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ซึ่งในวันแรกของการบังคับใช้กฎหมาย มีคู่รัก LGBTQ+ มากกว่า 1,800 คู่จดทะเบียนสมรสทั่วประเทศ การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย