Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

Virtual อีเวนต์ท่องโลกเสมือนจริง Now Normal ที่เบ่งบานในยุคโควิด -19

VR_Event

Onlinenewstime.com : การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเทคโนโลยี 5 G นับว่าเป็น 2 ปัจจัยหลัก สร้างโอกาส Virtual อีเวนต์ การจัดงานในรูปแบบเสมือนจริง ด้วยเทคโนโลยีจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงสามมิติ (Virtual Reality : VR) ที่เคยเป็นเรื่องของอนาคต ให้แจ้งเกิดได้เร็วยิ่งขึ้น และกลายเป็น Now Normal ในปัจจุบัน  

จากจุดเริ่ม 3 ระลอก ที่วันนี้แนวโน้มมาแรง ตั้งแต่การประชุมและสัมมนาออนไลน์ งานแสดงสินค้า ไปจนถึงอีเวนต์วิ่ง และการจัดเวทีคอนเสิร์ตเสมือนจริง

“เอกคณิต จันทร์สว่าง”  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีเว้นท์พาส (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ข่าว ออนไลน์ นิวส์ไทม์ ว่า เทรนด์ Virtual อีเวนต์กำลังมาแรง ในทุกๆมิติ มีทั้ง  Virtual แบบธรรมดาทั่วไป ซึ่งในช่วงตอนต้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เราจะเริ่มเห็นการจัดสัมมนา หรือการประชุมออนไลน์ผ่าน Web conference, Online Meeting กันเป็นจำนวนมาก นั่นถือเป็นระลอกแรก

เสต็ปต่อมาที่เป็นระลอกที่สองคือ เทรดแฟร์ B2B  (Business-to-Business) ที่เป็นการทำการค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจด้วยกัน ซึ่งเริ่มปรับตัวหันมาจัดในรูปแบบ Virtual และในเสต็ปจากนั้นก็คือ อีเวนต์ ออนไลน์ เทรดแฟร์ ของ B2C (Business to Customer) รูปแบบ Virtual อีเวนต์  เช่น งานแสดงสินค้าที่เน้นการช้อปปิ้ง จากผู้ประกอบการถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เข้ามาเป็นระลอกที่สาม

นอกจาก 2 ปัจจัยคือ โควิด-19 และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า จะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ Virtual อีเวนต์ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ด้วยบทบาทของการเป็นอีก 1 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจจัดกิจกรรมทางด้าน Virtual ในเมืองไทย “เอกคณิต” อธิบายว่า ข้อดีของการจัดงาน Virtual นั้น ให้ความหลากหลายและประหยัดกว่า ใช้ต้นทุนน้อยกว่า แต่มีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งในแง่ของคนที่เข้ามาร่วมงาน ที่มาจากทุกที่ในประเทศไทย และทุกแห่งจากทั่วโลก ที่เข้าร่วมงานได้โดยไม่ต้องเดินทาง

ที่สำคัญ  Virtual จะให้ความแตกต่างจากเว็บไซต์ขายสินค้าทั่วไป

ส่วนงาน Virtual Run หรืองานวิ่ง เป็นตัวอย่างหนึ่งในการผูกกิมมิกเข้ากับงาน เพราะอันที่จริงแล้วอีเวนต์ คือ การ Engage คนเข้าด้วยกัน  ดึงคนเข้ามาให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเดียวกัน ซึ่ง Moment ของการวิ่งแบบ Virtual คือ ต่างคนต่างวิ่ง โดยจะมีแอพพลิเคชั่นเข้ามาเป็นเครื่องมือ ทำให้ทุกคนมองเห็นว่า กำลังวิ่งในกระดานเดียวกัน มีระยะเวลาเริ่มต้นพร้อมกัน และจบพร้อมกัน เป็นอารมณ์ร่วม เพราะฉะนั้นคีย์ของการจัดอีเวนต์ คือ ดึงอารมณ์ร่วมของคนในงาน ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องที่เรานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การเจรจาขายสินค้า การเจรจาธุรกิจ  จุดหลักๆ คือ จะสร้าง Engagement ให้คนเข้ามาร่วมกิจกรรมได้มากน้อยแค่ไหน

ตัวอย่างมีมากมาย เช่น คอนเสิร์ต หรือเครื่องสำอาง ที่หันมาใช้ Virtual ด้วย โดยมีความใกล้เคียงระหว่าง Virtual  กับออนไลน์ สำหรับการขายสินค้าออนไลน์ เราคงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะต่างคนต่างขายผ่านแพล็ตฟอร์มต่างๆ  แต่ Virtual อีเวนต์ เป็นสถานที่ออนไลน์ สถานที่หนึ่ง ที่คนมาร่วมกิจกรรม ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่คนขาย และคนมาซื้อ เพราะอาจจะมีกิจกรรม ระหว่างคนมาซื้อกับคนมาซื้อด้วยกัน หรือคนที่ไม่ได้มาขายแต่มาให้ความรู้ในงาน

ดังนั้นความเป็น Virtual อีเวนต์ ที่เราเรียก จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่การขายสินค้าออนไลน์

ธุรกิจอะไรที่เหมาะสมกับการจัดงาน Virtual อีเวนต์

อันที่จริงต้องขอยกตัวอย่างการจัดงาน Jaymart Virtual Mobile Show 2020 ซึ่งเจมาร์ท เป็นแบรนด์ที่มีหน้าร้านอยู่แล้ว เรียกว่ามีออฟไลน์อยู่แล้ว และอยากจัดออนไลน์  ในวงการเราเรียกว่า ไฮบริด คือ เป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ได้ ซึ่งลักษณะของธุรกิจที่มีแบรนด์และสาขาจำนวนมาก จึงเหมาะในการทำ Virtual อีเวนต์เพราะจะมีความได้เปรียบอยู่

จึงอยากเชิญชวนธุรกิจให้หันมาจัด Virtual อีเวนต์ให้มากขึ้น เพราะจะเปิดโอกาสได้มากขึ้น ให้ลองนึกภาพว่าเวลาลูกค้ามาซื้อออนไลน์ หรือไปเดินซื้อออฟไลน์ที่หน้าร้าน แล้วเมื่อกลับไปบ้านเกิดความสงสัย หรืออยากจะซื้อเพิ่มเติม ก็จะไปได้ในทั้ง 2 ช่องทางเลย เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่มีต้นทุนตรงนี้แล้ว จะมีโอกาสมาก

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจัดกิจกรรมทางด้าน Virtual ในวันนี้ จึงมีเพียงไม่กี่แห่ง และเรามั่นใจในจุดแข็งที่มีโซลูชั่นซึ่งครบสมบูรณ์เต็มรูปแบบ และมีลูกค้าที่เป็น reference ในระดับเอเชีย เช่น งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม THAIFEX  และบางกอกเจมส์ เรียกว่า เรารับมือกับงานใหญ่ระดับเอเชียมาแล้ว และในปีหน้าเราจะมีงานโปรเจคใหญ่ ชื่องาน “TRAMS VIRTUAL FESTIVAL” เป็นงานเทศกาลรวม ช้อปปิ้ง และคอนเสิร์ต ที่เราจะจัดขึ้นประมาณเดือนมีนาคม 2564

ในมุมมองอีกด้านของผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ไอที อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง มองว่า Virtual อีเวนต์ ที่กำลังมาแรงในวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าทดแทนงานแบบออฟไลน์ แต่เข้ามาเสริมให้การจัดอีเวนต์มีสีสันมากขึ้น

“ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร” บอกว่า มีความเชื่อว่ามนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ชอบคุยเจอหน้ากันเป็นๆ เพราะฉะนั้นออนไลน์จึงไม่ได้เป็นทุกอย่าง แต่เป็นเรื่องของความสะดวก

สำหรับ Virtual Expo,  Fun Run หรืออะไรต่างๆที่เป็นออนไลน์ ถือเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคในสถานการณ์ที่โควิด-19 ส่งผลกระทบ ทำให้กิจกรรมหลายอย่างต้องหยุดชะงักไป เราจะมาเจอหน้ากันก็ลำบาก วิ่งกันก็ลำบาก จะมาจัดแบบคอนเสิร์ตก็ลำบาก

ดังนั้น Virtual จึงเป็นการตอบโจทย์ในระดับหนึ่ง แต่ท้ายสุดหากมีการจัดกิจกรรมแบบงานแฟร์ที่คนได้พบปะเจอหน้ากัน เชื่อว่าคนก็ยังจะมา

อย่างไรก็ตามงานแฟร์ก็มีข้อเสียเปรียบบางอย่าง เช่น งานแฟร์ที่มีอีเวนต์ขายสินค้า เทียบกับการขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ งานแฟร์จะเสียเปรียบในเรื่องของพื้นที่ซึ่งลงสินค้าได้จำกัด ซึ่งอีคอมเมิร์ซสามารถลงสินค้าได้มากกว่า ในอีกด้านงานแฟร์ก็มีข้อดี คือ คนได้จับต้องสินค้า ในขณะที่ออนไลน์ไม่ได้จับต้อง จึงทำให้มีจุดเด่น จุดด้อย ที่แตกต่างกัน

ออนไลน์ไม่ได้มาทดแทนออฟไลน์ แต่เป็นสิ่งที่เสริมกัน  เพราะฉะนั้นในแง่ของผู้ประกอบการจึงต้องขายทุกแพลตฟอร์ม ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ มีช่องทางที่ไหนก็ขายที่นั่น

การขายสินค้าออนไลน์นั้น มาก่อน แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19เกิดขึ้น จึงทำให้คนหันมาใช้ออนไลน์กันมากขึ้น แต่ท้ายสุดแล้ว ถามว่าหลังโควิด-19คนยังจะออนไลน์ตลอดไปหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าคงไม่

ยกตัวอย่าง ฟู้ดดิลิเวอรี ช่วงโควิด-19 เราสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน ช่วงนี้เมื่อโควิดเริ่มเบาลงเราเริ่มไปนั่งกินที่ร้าน พบปะกัน เพราะการรับประทานอาหารไม่ใช่ที่บ้านหรือที่ออฟฟิศเท่านั้น เราก็ยังอยากได้บรรยากาศการนั่งรับประทานกับเพื่อนๆ จึงเชื่อว่าอย่างไร Virtual Expo ก็ไม่ได้เข้ามาทดแทน 100% แต่เป็นส่วนหนึ่งที่มาเสริมกัน 

ในวันนี้เราได้เห็นหลายอุตสาหกรรมทำ Virtual เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นในตอนนี้ที่ทำอย่างอื่นไม่ได้ จึงต้องทำในลักษณะ Virtual สำหรับมุมมองส่วนตัวแล้ว ถ้าจัดงานให้ผู้ประกอบการมาเจอกันเป็นงานอีเวนต์ เทรดแฟร์ เทียบกับ Virtual Expo  นั้น จะได้อารมณ์ที่ต่างกัน เพราะใน Virtual เราจะเห็นได้ทีละบูธ แต่ถ้าเป็นงานเทรดแฟร์จริงๆ เราเดินเห็นทีเดียวหลายบูธเลยนะ คนมุงสินค้าเยอะแยะ ซึ่งได้อารมณ์และฟิลลิ่งที่ต่างกัน

เป็นการสร้างโอกาสในยุคนี้ ที่จำเป็น และไม่ทำไม่ได้ ซึ่งในที่สุดด้วยเทคโนโลยี 5G ทำให้ Virtual เริ่มเหมือนจริงมากขึ้นๆ หากเราใส่แว่น VR และเดินไปจะเหมือนว่ามีคนอยู่ด้วย แต่ยังเชื่อว่าจะไม่เร็วถึงขนาดนั้น จะต้องเป็นคนอีกรุ่นที่โตมากับเทคโนโลยีนี้ ไม่ใช่คนรุ่นเรา

เหมือนเด็กยุคนี้โตมากับการใช้อินเทอร์เน็ต มือถือเหมือนเป็นอวัยวะที่ 33 ของยุคเขา แต่พวกเราเป็นส่วนที่งอกขึ้นมาใหม่ ซึ่งอนาคตที่ Virtual จะเข้ามาทดแทนได้ คือ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่และจะใช้ระยะเวลาประมาณ 10 ปี ซึ่งไม่เร็วอย่างที่คิด

ดร.อุดมธิปก กล่าวทิ้งท้าย ในบทบาท รองประธานสมาคมสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยและประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี (iSME) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เห็นว่าการที่ SME จะนำ Virtual มาใช้เป็นเครื่องมือในการขายสินค้า ก็น่าจะมีโอกาสที่ดี โดยต้องพยายามก้าวไปทีละสเต็ป เพราะผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจต้องเรียนรู้ก่อน และต้องพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย เหมือนการซื้อของผ่านออนไลน์ มาร์เก็ตเพลซ และโซเชียลมีเดีย ที่ต้องทำความเข้าใจในครั้งแรก หลังจากนั้นจะเรียนรู้เข้าใจแต่ละขั้นตอนได้เป็นเรื่องปกติของชีวิตประจำวัน

วันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ Virtual หรือความจริงเสมือน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องไกลตัว เป็นจินตนาการในภาพยนตร์แนวไซไฟ  ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เราในอนาคต

Exit mobile version