fbpx
News update

ผลวิจัยวีซ่าเผย “นักท่องเที่ยวซ้ำ” จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไทย

อ้างอิงจากผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลก ฉบับล่าสุดประจำปี 2566 ของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study 2023)[1] ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ทำการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและแผนการเดินทางของผู้บริโภคที่ใหญ่และจัดทำมายาวนานที่สุดโดยวีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก พบว่า นักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งในช่วง 12 เดือนต่อจากนี้ คือนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย (42%) สิงคโปร์ (41%) ฟิลิปปินส์ (28%) สาธารณรัฐประชาชนจีน (25%) และเวียดนาม (22%)

แรงจูงใจอันดับต้น ๆ สำหรับการท่องเที่ยวในปีหน้า คือ การผ่อนคลาย ชอปปิง เปิดประสบการณ์ การผจญภัย และการพบปะครอบครัวและเพื่อนฝูง โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมสามอันดับแรกที่นักท่องเที่ยวในภูมิภาคตั้งใจจะไปเยือนมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา ขณะที่หัวหิน เชียงใหม่ และกระบี่ เป็นเมืองยอดนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เราหวังว่าข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้จะช่วยให้พันธมิตรของเราสามารถยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยวพร้อม ๆ ไปกับการส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความพยายามร่วมกันของเรามีจุดหมายเดียวกันเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนให้ภาพรวมของระบบนิเวศการชำระเงินดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกด้วย”

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจในการศึกษาพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล (51%) ตามด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังใช้จ่ายสูง (27%) ครอบครัวที่เดินทางกับเด็กเล็ก (18%) คนโสดวัยหนุ่มสาว (16%) เจน Z (15%) ครอบครัวที่เดินทางกับเด็กโต (14%) และกลุ่มวัยเกษียณ (11%) ตามลำดับ

หากมองลึกลงไปเกี่ยวกับระยะเวลาการท่องเที่ยวจะพบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มวัยเกษียณพำนักอยู่ในประเทศไทยนานที่สุดโดยเฉลี่ยมากถึง 12 คืน เมื่อเทียบกับจำนวนคืนโดยเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวในภาพรวมจะอยู่ที่ 8 คืน

และเมื่อแยกตามเชื้อชาติ พบว่านักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์จะใช้เวลาพำนักนานที่สุดที่ 7 คืน ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวชาวจีน และชาวเวียดนาม ซึ่งใช้เวลาพำนักในประเทศไทยที่ 5 คืน และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและชาวฟิลิปปินส์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 คืน

โดยระหว่างท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น เกือบครึ่งของนักท่องเที่ยว (48%) ใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านบัตรแทนเงินสด โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังใช้จ่ายสูง และครอบครัวที่เดินทางกับเด็ก เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่ใช้บัตรแทนเงินสดในการชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ชอปปิง (39%) รับประทานอาหาร (33%) และกิจกรรมต่าง ๆ (33%) โดยนักท่องเที่ยวเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรแทนเงินสดมากที่สุดในช่วงวางแผนก่อนการเดินทางเพื่อชำระค่าใช้จ่ายในรายการหลัก ๆ อาทิ ค่าที่พัก (81%) และค่าเดินทาง (69%) เป็นต้น

ในส่วนของการเลือกที่พักนั้น มากกว่าแปดในสิบ (83%) เลือกพักในโรงแรม โดยสิ่งสำคัญห้าอันดับแรกที่มีผลต่อการเลือกที่พัก คือ ความปลอดภัย (76%) ความสะอาด (63%) ตำแหน่งที่ตั้ง (54%) ความคุ้มค่า (52%) และสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพัก (41%)

เมื่อพิจารณาตามเชื้อชาติของนักท่องเที่ยว ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงที่สุด (95,000 บาท) ตามมาด้วยสิงคโปร์ (58,000 บาท) ฟิลิปปินส์ (48,000 บาท) เวียดนาม (38,000 บาท) และมาเลเซีย (34,000 บาท)

อย่างไรก็ตามยอดใช้จ่ายทั้งหมดจะแตกต่างกันไปตามระยะเวลาของการเดินทาง โดยผู้ที่ใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยตั้งแต่แปดวันขึ้นไปมีโอกาสจะใช้จ่ายมากกว่า 135,000 บาท ขณะที่นักท่องเที่ยวที่พักอยู่ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ (4-7 วัน) ใช้จ่ายอยู่ที่ราวๆ 65,000 บาท และนักท่องเที่ยวระยะสั้น (ไม่เกินสามคืน) ใช้จ่ายที่ราวๆ 40,000 บาทในระหว่างการท่องเที่ยว

“เป็นเวลากว่าทศวรรษที่การศึกษาได้ช่วยให้วีซ่าและพันธมิตรของเรามีข้อมูลเชิงลึกที่ให้แง่มุมที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับภูมิทัศน์ด้านการท่องเที่ยวและพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการสามารถจ่ายและรับชำระเงินได้อย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพสูงสุด

วีซ่า ในฐานะหนึ่งในสมาชิกที่สำคัญของชุมชนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เรายินดีที่ได้แบ่งปันข้อมูลอันเป็นประโยชน์เพื่อช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเสริมสร้างประสบการณ์อันน่าจดจำให้แก่ผู้บริโภคเมื่อพวกเขาออกเดินทางและใช้จ่ายผ่านวีซ่า” นายปุณณมาศ กล่าวเสริม


[1] ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกประจำปี 2566 ของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study 2023)  จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาความเคลื่อนไหวและความต้องการของผู้เดินทางออกนอกประเทศระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2566 โดยสำรวจเกี่ยวกับแนวโน้มด้านการท่องเที่ยว และพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักเดินทางชาวไทยจำนวน 1,049 รายที่มีการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงความตั้งใจและการวางแผนการเดินทางสำหรับปีหน้า