
Onlinenewstime.com : “วัดคูเต่า” วัดเก่าโบราณอายุกว่า 300 ปี เป็นแหล่งท่องเที่ยว มรดกทางประวัติศาสตร์ ของจังหวัดสงขลา ที่ผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติ ซึ่งคุ้มค่าต่อการสำรวจและเยี่ยมชมอย่างยิ่ง
เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นนักท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์หรือคนที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศที่เงียบสงบและเป็นธรรมชาติงดงามเพราะตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภาก่อนออกสู่ทะเลสาบสงขลา
หากได้มาเยือนวัดคูเต่าแล้วนั้น จึงถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน …..

ความเป็นมาของวัดคูเต่า

วัดคูเต่า เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นด้วยศิลปะที่ละเอียดอ่อน และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน เพราะสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พ.ศ. 2299 และยังเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา
เมื่อพูดถึงชื่อของ “วัดคูเต่า” เรากำลังย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ
วัดนี้เดิมถูกเรียกว่า “วัดสระเต่า” มีที่มาจากที่ตั้งเดิมของวัดนั้น เป็นที่ลุ่มและมีเต่าอาศัยอยู่มากมาย ชาวบ้านจึงตั้งชื่อวัดตามสภาพแวดล้อมนี้
ต่อมาเมื่อชาวจีนเริ่มเข้ามาตั้งรกรากและทำมาหากินบริเวณสองฟากของคลองอู่ตะเภามากขึ้น ก็เกิดเป็นชุมชนริมน้ำขึ้นมา ทำให้ต้องย้ายวัดมายังที่ตั้งในปัจจุบัน เนื่องจากที่ตั้งเดิมไม่สะดวกต่อการสัญจร

ชื่อ “วัดคูเต่า” มีที่มาจากการที่ชาวจีนเข้ามาถางป่า ขุดตอ และทำสวนส้มจุกในบริเวณนี้ ส่งผลให้ป่าไม้ลดลงไปเรื่อย ๆ จนไม่มีไม้จะใช้สอย ด้านทิศตะวันตกของวัดเป็นหมู่บ้านหนองหินที่มีป่าไม้เสม็ดมาก ชาวบ้านจึงร่วมกันขุดคูขึ้นทางทิศเหนือของวัดที่เชื่อมต่อกับลำคลองและขุดยาวไปทางทิศตะวันตก เพื่อให้เรือเล็กสามารถแล่นผ่านได้ในฤดูฝน ในบริเวณคูน้ำนี้มีเต่าอาศัยอยู่มาก ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “คูเต่า” และเรียกวัดสระเต่าเดิมว่า “วัดคูเต่า” แทน
การเปลี่ยนแปลงชื่อวัดจาก “วัดสระเต่า” เป็น “วัดคูเต่า” นอกจากจะสะท้อนถึงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่แล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของการปรับตัวและการพัฒนาในชุมชน
การเดินทางไปเยี่ยมชมวัดคูเต่าไม่เพียงแค่ได้สัมผัสบรรยากาศที่สงบสุขของวัด แต่ยังได้สัมผัสกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกด้วย
การที่วัดนี้ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงทำให้การเดินทางมาที่นี่ วัดคูเต่า จีงเสมือนกับการเดินทางย้อนเวลากลับไปยังอดีต

ความงดงามของสถาปัตยกรรม
เมื่อก้าวเข้าสู่วัดคูเต่า คุณจะได้พบกับสถาปัตยกรรมและศิลปะที่มีความงดงาม
เริ่มจากพระอุโบสถ ที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปางสมาธิ อีกทั้งการเดินชมภาพจิตกรรมฝาผนังเล่าเรื่องประวัติพระเวสสันดรชาดก โดยช่างภูมิปัญญาท้องถิ่นในสมัยนั้น



ภายในบริเวณวัดยังมีโบราณสถานสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ อาทิ ใบเสมา มณฑปบัว ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ หอระฆัง กูมไม้ทรงไทย สะท้อนถึงความเชื่อและความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพุทธ อีกทั้งยังเป็นผลงานศิลปะที่งดงามที่มีคุณค่าต่อการเข้าชม
มรดกโลกจากยูเนสโก
ศาลาวัดคูเต่า ที่ได้รางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปี ค.ศ. 2011 จากยูเนสโก (องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ)

นับว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึง ความสำคัญของ วัดคูเต่า ไม่เพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ แต่ยังเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญของสงขลา การมาเยี่ยมชมที่นี่จะทำให้คุณได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่น่าจดจำและได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
CR : วัดคูเต่า โบราณสถานชาวตำบลแม่ทอม ,วัดคูเต่า (Wat Khutao) – Clib PSU – มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์