Onlinenewstime.com : ศปช. เตือน 13 จ.ภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากช่วง 4 – 6 พ.ย. นี้ พร้อมกับเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้มีน้ำกักเก็บมาก 80 – 100%
วันนี้ (4 พ.ย. 67) เวลา 11.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เตือนสภาพอากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน และฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ ส่งผลกระทบตั้งแต่วันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2567 ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม
ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย โดยคาดการณ์พื้นที่จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้ ภาคใต้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
พร้อมกันนี้ ขอให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมาก (80-100%) ในพื้นที่ภาคใต้ จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมาก ช่วงวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2567 จำนวน 7 แห่ง ดังนี้ 1. อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด อ.เขาพนม จ.กระบี่ 2. อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ.ปลายพระยา กระบี่ 3. อ่างเก็บน้ำคลองหยา อ.ปลายพระยา กระบี่ 4. อ่างเก็บน้ำบางวาด อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต 5. อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 6. อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ อ. เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต และ 7.อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนัง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ ที่ประชุม ศปช. รับทราบการบริหารจัดการน้ำและควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์รวมทั้งต้องสำรองน้ำใช้ให้เพียงพอสำหรับฤดูแล้งด้วย
ซึ่งคาดว่าปีนี้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหรืออีสานใต้ สถานการณ์น้ำค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ต่าง ๆ มีค่อนข้างน้อย ทั้งอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำมูลบน อาจจะส่งผลให้ในหลายอำเภอเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
โดย สทนช. ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำลำแชะ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการผลิตน้ำประปาให้กับสำนักการประปาเทศบาลนครนครราชสีมาและสถานีผลิตน้ำเฉลิมพระเกียรติ (ท่าช้าง) การประปาภูมิภาคสาขานครราชสีมา ที่จะส่งน้ำไปให้ในตัวอำเภอเมืองนครราชสีมา
รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีประชากรอยู่หนาแน่น เพราะเป็นพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนั้น จึงต้องรอบคอบและรัดกุมในการวางแผนบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำลำแชะ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม และน้ำเพื่อภาคการเกษตร เพื่อจัดสรรน้ำให้กับทุกภาคส่วนได้มีน้ำใช้อย่างเท่าเทียมตลอดฤดูแล้งนี้ และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ด้วย