Onlinenewstime.com : ศปช. เตือน 10 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มจากปริมาณฝนที่ตกหนักสะสม ช่วงระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 4 ธ.ค.นี้ เผย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เตือนประชาชนภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ช่วงวันที่ 27 – 30 พฤศจิกายน 2567 ในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ขอให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามัน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันดังกล่าว
และในช่วงวันที่ 27 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2567 ขอให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม รวมถึงน้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ เนื่องจากระบายไม่ทัน ในพื้นที่ 11 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส
พร้อมกับขอให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงล้นอ่างฯ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา กรมชลประทานเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่องรวมถึงบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
“ศปช. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และอิทธิพลของการขึ้น-ลงของน้ำทะเล
โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์” นายจิรายุ กล่าว