fbpx
News update

WMO ส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลทั่วโลก ให้เตรียมรับมือเอลนีโญ “อุณหภูมิสูงขึ้นทำลายสถิติ” มีความเป็นไปได้ในช่วงครึ่งปีหลังถึง 90%

Onlinenewstime.com : องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม 2566 ว่า มีปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและรูปแบบพายุในส่วนต่างๆ ของโลก

การเตือนภัยล่วงหน้าและการดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์สภาพอากาศนี้ “มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันการสูญเสีย และการดำรงชีวิตของทุกคนบนโลก”

สภาวะเอลนีโญได้ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอุณหภูมิโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และสภาพอากาศ รวมทั้งรูปแบบภูมิอากาศที่แปรปรวน

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศล่าสุด โดยคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ถึง 90% ที่ปรากฏการณ์เอลนีโญจะดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 และคาดว่าจะมีผลกระทบปานกลางเป็นอย่างน้อย WMO จึงได้รวมการคาดการณ์และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก

“การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ มีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่จะทำลายสถิติอุณหภูมิเดิม และกระตุ้นให้เกิดความร้อนสูงมากขึ้นในหลายส่วนของโลกและในมหาสมุทร” Prof. Petteri Taalas, WMO Secretary-General กล่าว

“การประกาศปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นการส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลทั่วโลก เพื่อระดมเตรียมการจำกัดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพระบบนิเวศ และเศรษฐกิจของเรา” เขากล่าว 

“การเตือนภัยและการเตรียมการล่วงหน้า เพื่อพร้อมรับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์สภาพอากาศนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันการสูญเสีย และการดำรงชีวิตของทุกคนบนโลก”

ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุกๆ 2-7 ปี และมีระยะเวลาที่ประมาณ 9-12 เดือน ถือเป็นรูปแบบภูมิอากาศที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิของพื้นผิวมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออก และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์

รายงานของ WMO ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม คาดการณ์ว่ามีความเป็นไปถึง 98% ที่อย่างน้อยหนึ่งในห้าปีข้างหน้า หรือระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าโดยรวม จะมีอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และทำลายสถิติที่เคยเกิดขึ้นในปี 2016 ที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงเป็นพิเศษ

รายงานของ WMO ในเดือนพฤษภาคม ดำเนินการโดย Met Office ของประเทศอังกฤษร่วมกับพันธมิตรทั่วโลก ระบุว่า มีโอกาสถึง 66% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยใกล้พื้นผิวโลกประจำปี ระหว่างปี 2023-2027 จะสูงขึ้น 1.5°C จาก ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิ (ที่เรียกว่า pre-industrial levels  ซึ่งมีการวัดค่าเฉลี่ยเมื่อปี ค.ศ. 1750 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านของโลกไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม) โดยอุณหภูมิที่คาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นนั้นจะกินระยะเวลายาวนานอย่างน้อยหนึ่งปี 

“นี่ไม่ได้หมายความว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะไปถึงระดับ 1.5°C จากที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส เพราะข้อตกลงนั้นหมายถึงภาวะโลกร้อนที่ครอบคลุมในระยะยาวเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนภัย หรือการเตือนล่วงหน้าว่า เรายังไม่ได้ดำเนินการในทิศทางที่ถูกต้อง ในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ภายในเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามข้อตกลงปารีสในปี 2015 ซึ่งได้รับการออกแบบมา เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”  Prof. Chris Hewitt, Director of Climate Services WMO กล่าว

ตามรายงานสถานะของสภาพภูมิอากาศโลกของ WMO ปี 2016 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากมี “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ที่ทรงพลังมาก และภาวะโลกร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ก่อขึ้น ผลกระทบต่ออุณหภูมิโลกมักจะเกิดขึ้นในปีหลังจากมีการพัฒนาของโลก และมีแนวโน้มที่จะชัดเจนที่สุดในปี 2024

อุณหภูมิโลกเฉลี่ยในปี 2022 สูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 1850 – 1900 ประมาณ 1.15 °C เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีซ้อน

ผลกระทบทั่วไป 

ปรากฏการณ์เอลนีโญ มักเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในบางส่วนของอเมริกาใต้ตอนใต้ สหรัฐอเมริกาตอนใต้ แอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียกลาง

ในทางตรงกันข้าม เอลนีโญยังสามารถทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บางส่วนของเอเชียใต้ อเมริกากลาง และตอนเหนือของอเมริกาใต้

น้ำที่มีอุณหภูมิอุ่นขึ้นจากเอลนีโญ จะเป็นปัจจัยเสริมให้กับพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง และตะวันออก ในขณะที่ก็เป็นปัจจัยขัดขวางการก่อตัวของพายุเฮอริเคนในแอตแลนติก

โดยทั่วไปแล้ว เอลนีโญจะมีผลตรงกันข้ามกับลานีญาที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด ซึ่งจบไปเมื่อต้นปี 2023

สถานการณ์และแนวโน้มในปัจจุบัน

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 ความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยรายเดือนในแถบเส้นศูนย์สูตรทางตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจากระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบครึ่งองศาเซลเซียส (-0.44 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023) เป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณครึ่งองศาเซลเซียส (+0.47 ในเดือนพฤษภาคม 2023) และในสัปดาห์ของวันที่ 14 มิถุนายน 2023 อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลยังคงผิดปกติและอุ่นเพิ่มขึ้นถึง +0.9 องศาเซลเซียส

หลักฐานโดยรวมจากการสังเกตทั้งมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจากผลกระทบและความสัมพันธ์กันระหว่างมหาสมุทรกับชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการขยายตัวและการเกิดเอลนีโญที่ยาวนานขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นในอีกประมาณหนึ่งเดือนนับจากนี้

สภาพภูมิอากาศตามฤดูกาลทั่วโลก

เอลนีโญและลานีญาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักปัจจัยเดียวที่ขับเคลื่อนระบบภูมิอากาศของโลก

นอกเหนือจาก ENSO Update ที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว ปัจจุบัน WMO ยังได้มีการออก  Global Seasonal Climate Updates (GSCU) เป็นประจำ ซึ่งรวมเอาอิทธิพลของปัจจัยขับเคลื่อนสภาพอากาศที่สำคัญอื่นๆ เช่น North Atlantic Oscillation, Arctic Oscillation และ Indian Ocean Dipole

“เนื่องจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่อุ่นกว่าปกติ มักถูกใช้คาดการณ์ในบริเวณมหาสมุทร อุณหภูมิเหล่านี้จึงมีส่วนช่วยให้คาดการณ์ได้อย่างกว้างขวางถึงอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติทั่วพื้นที่บนบก จึงคาดได้ว่าจะเกิดความผิดปกติของอุณหภูมิที่สูงขึ้นทั่วทุกพื้นที่ในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้” จากการคาดการณ์ล่าสุด สำหรับ เดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2023

สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีความคล้ายคลึงกับผลกระทบของปริมาณน้ำฝนจากเอลนีโญ

WMO ENSO และ Global Seasonal Climate Updates อิงตามการคาดการณ์จาก WMO Global Producing Centers of Long-Range Forecasts และพร้อมให้บริการเพื่อสนับสนุนรัฐบาล สหประชาชาติ ผู้มีอำนาจตัดสินใจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพื่อระดมการเตรียมการและดูแลทุกชีวิตบนโลก

กรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาแห่งชาติ (NMHSs) จะติดตามวิวัฒนาการของสภาวะเอลนีโญอย่างใกล้ชิด และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น WMO จะให้มุมมองที่อัปเดตในช่วงเดือนต่อๆ ไปตามความจำเป็น

Source

เผยแพร่ 7/7/23