fbpx
News update

YSL Beauty ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สานต่อโครงการระดับโลก ‘Abuse is Not Love’ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนของความรุนแรง

Onlinenewstime.com : อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (YSL Beauty) แบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำภายใต้ ลอรีอัล ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ ‘Abuse is Not Love’  

โดยร่วมมือกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนของความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Partner Violence) ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาความรุนแรงในคู่รักในประเทศไทยต่อไป

ปัญหาความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Partner Violence – IPV) ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของความรุนแรงที่พบเจอได้ง่ายที่สุดผ่านพฤติกรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางร่างกาย วาจา จิตใจ และเพศ การทารุณกรรมทางการเงิน (Financial Abuse) รวมไปถึงการพยายามควบคุมพฤติกรรมของอีกฝ่าย ปัญหาความรุนแรงในคู่รักยังเป็นปัญหาสังคมหลักที่เกิดขึ้นในทุกสังคมและภูมิภาค

โดยหนึ่งในสามของสตรีทั่วโลกล้วนมีประสบการณ์กับความรุนแรงในคู่รักในชีวิต[1] และมีผู้ประสบปัญหานี้เพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ทำทุกฝ่ายต้องอยู่ใช้เวลาในเคหะสถานร่วมกันมากขึ้น ทำให้อัตราความชุกความรุนแรงต่อสตรีและบุคคลในครอบครัวในหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดมากที่สุดถึง 60%[2] ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ[3]

YSL Beauty ตระหนักดีว่ากลไกที่สำคัญที่จะช่วยบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาความรุนแรงในคู่รักได้ คือการตระหนักถึงรูปแบบของความรุนแรงผ่านสัญญาณเชิงพฤติกรรมและการแสดงออก จึงเปิดตัวโครงการระดับโลก ‘Abuse is Not Love’ 

มุ่งส่งเสริมการตระหนักรู้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับสัญญาณเตือนเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อตอกย้ำเป้าหมายในการสร้างความงามที่ขับเคลื่อนโลก ของลอรีอัล กรุ๊ป ด้วยการ สร้างผลกระทบ เชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยภายใต้พันธกิจเพื่อสังคมและสตรีนี้ ลอรีอัล กรุ๊ป ตั้งเป้าหมายในการ ให้ความ ช่วยเหลือ  ผู้หญิง 3 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2030 ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งระดับ บริษัท และ ระดับแบรนด์

สำหรับโครงการ ‘Abuse is Not Love’  โดย YSL Beauty นั้น มีแนวทางหลักในการดำเนินการ 3 แนวทาง

  1. การให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับงานวิจัยเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปัญหาความรุนแรงในคู่รัก
  2. การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ 9 สัญญาณของความรุนแรงในคู่รัก (Warning Signs) แก่ผู้คนอย่างน้อย 2 ล้านคนผ่านองค์กรพันธมิตรในหลากหลายประเทศ
  3. การอบรมพนักงาน YSL Beauty และ Beauty Advisor เกี่ยวกับความรุนแรงของคู่รักในสถานที่ทำงาน

โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2563 YSL Beauty ได้ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นแล้วใน 17 ประเทศทั่วโลก และได้ให้ความรู้แก่เยาวชนกว่า 100,000 คนในการเข้าใจถึงสัญญาณอันตรายของความรุนแรงในคู่รัก

และภายในปี 2573 YSL Beauty มีเป้าหมายที่จะเผยแพร่ความรู้ให้กับคน 2 ล้านคนทั่วโลกผ่านความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นในหลายภูมิภาคทั่วโลก

สำหรับการดำเนินการโครงการ ‘Abuse is Not Love’ ในประเทศไทยจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2566 โดยเป็นการร่วมมือระหว่าง YSL Beauty และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล องค์กรพัฒนาเอกชนที่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ

เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึง 9 สัญญาณอันตราย (9 Warning Signs) ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในคู่รักให้แก่คนไทยต่อไป โดยตั้งเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ในเรื่องความรุนแรงในคู่รักให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ 800 คนภายในปีแรกของโครงการผ่านการอบรม 

นอกจากนี้ยังจะมีกิจกรรมรูปแบบต่างๆ อาทิ โร้ดโชว์ตามมหาวิทยาลัย การเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสัญญาณความรุนแรงในความสัมพันธ์ในวงกว้าง

“การสนับสนุนผู้หญิง โดยเฉพาะอิสรภาพของพวกเธอ เป็นความเชื่อหลักที่แบรนด์เรายึดมั่นมาโดยตลอด ความรุนแรงจากคู่รักทำให้พวกเธอไม่ได้รับความปลอดภัย ความเป็นอยู่ที่ดี และอิสรภาพ เราจึงริเริ่มการทำงานที่ช่วยแก้ปัญหาที่ยับยั้งและเป็นอุปสรรคในการมีอิสระภาพตามคุณค่าและความเชื่อหลักของแบรนด์” จูลี่ เฮซเซล ผู้จัดการทั่วไปของ YSL Beauty ประเทศไทยกล่าว

สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศไทยนั้น จากสถิติของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวยังคงถูกตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน  โดยในปี 2563 มีข่าวฆาตกรรมในคู่รัก ถูกตีพิมพ์มากถึง 323 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 54.5 จากข่าวความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด  

แต่เมื่อวิเคราะห์ลงมาที่ข่าวฆาตกรรมในคู่รัก น่าตกใจว่าวัยรุ่นช่วงอายุไม่เกิน 30 ปีเป็นกลุ่มที่ถูกกระทำมากที่สุด  สูงถึงร้อยละ 54.1  ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความหึงหวง ขาดสติเนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด และความขัดแย้งเรื่องหนี้สิน

ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในปี 2564 พบว่ามีผู้หญิงไทยที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจไม่ต่ำกว่า 7 คนต่อวัน และมีผู้ที่เข้าแจ้งความมากถึงปีละ 30,000 ราย

 “ในแต่ละวันมีผู้หญิงไม่ต่ำกว่า 7 คนที่ต้องเจอปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงระหว่างสามี-ภรรยาก็ยังมีให้เห็นทั่วไป[4] ทางมูลนิธิมีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ที่ประสบปัญหาและพบว่า หลายๆ ครั้ง เราสามารถป้องกันไม่ให้ปัญหาความรุนแรงบานปลายใหญ่โตได้

หากผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญาณของความรุนแรงเหล่านี้แต่เนิ่นๆ  ผมหวังว่าโครงการนี้จะทำให้ผู้หญิง หรือผู้ถูกกระทำความรุนแรงไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม ได้ตระหนักเรื่องความรุนแรงในคู่รักได้มากขึ้น และส่งเสริมให้สังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น” นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าว

9 สัญญาณอันตรายที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในคู่รัก

  1. ‘หมางเมิน’ ในวันที่พวกเขาโกรธ           
  2. ‘แบล็กเมล์’ ถ้าคุณปฏิเสธที่จะทำบางอย่าง
  3. ‘ทำให้อับอายขายหน้า’ จนคุณรู้สึกไม่ดีกับตนเอง
  4. ‘พยายามปั่นหัว’ เพื่อบังคับให้คุณทำหรือพูดบางอย่าง
  5. ‘หึงหวง’ ในทุกอย่างที่คุณทำ
  6. ‘ควบคุม’ ว่าคุณจะไปไหนและแต่งตัวแบบใด
  7. ‘รุกราน’ ด้วยการตรวจโทรศัพท์หรือติดตามที่อยู่ของคุณ
  8. ‘ตัดขาด’ ให้คุณออกจากเพื่อนและครอบครัว
  9. ‘ข่มขู่’ ด้วยการบอกว่าคุณไม่ปกติและปลูกฝังความกลัว

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ‘Abuse is Not Love’ ได้ที่: https://www.loreal.com/en/articles/brands/ysl-abuse-is-not-love/


[1] https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/violence-against-women

[2] https://madame.lefigaro.fr/societe/violences-contre-les-femmes-a-lheure-du-confinement-une-forte-augmentation-des-signalements-120420-180685

[3] https://workpointtoday.com/violence-to-th-women-2022/#:~:text =ผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรง,30%2C000%20ราย%20ถือเป็นสถิติ

[4] https://www.bangkokbiznews.com/health/public-health/1032414