fbpx
News update

กรมพัฒน์ฯ เตรียมดันแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดสากล

www.onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกาศศักดาศักยภาพแฟรนไชส์ไทย เตรียมผลักดันสู่ตลาดสากล จำนวน 27 ธุรกิจ หลังพบธุรกิจแฟรนไชส์ ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังคึกคัก

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการสนับสนุน ส่งเสริม สร้าง และขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์

เพื่อให้แฟรนไชส์ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์สร้างความร่วมมือ กับหน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแบบบูรณาการ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อม หรือ Ecosystem ที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ทั้งในประเทศและพร้อมเดินหน้าสู่ตลาดสากล”

“ล่าสุด กรมฯ เตรียมผลักดันผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ ผ่านการอบรมโครงการ “แฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล : Thai Franchise Towards Global” และมีความพร้อมในการขยายธุรกิจ สู่ตลาดต่างประเทศ จำนวน 27 ธุรกิจ ประกอบด้วย ประเภทอาหาร 12 ธุรกิจ เครื่องดื่ม 5 ธุรกิจ การศึกษา 4 ธุรกิจ ธุรกิจบริการ 4 ธุรกิจ ความงามและสปา 1 ธุรกิจ และค้าปลีก 1 ธุรกิจ  

โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (CLMV) หลังพบว่าธุรกิจแฟรนไชส์ ในกลุ่มประเทศดังกล่าว มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคมีความชื่นชอบ ให้ความสนใจ ในธุรกิจแฟรนไชส์ไทยเป็นอย่างมาก โดยมองว่าแฟรนไชส์ไทย มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น มีความเข้มแข็งของทุนทางวัฒนธรรม มีภาพลักษณ์ที่ดี และมีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะกลุ่มแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม

อีกทั้ง ลักษณะของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค ที่มีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ค่านิยม รวมถึงวัฒนธรรมในการบริโภค ดังนั้น การส่งออกธุรกิจแฟรนไชส์ ไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ จึงนับเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ของผู้ประกอบการ และเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายแรก ในการนำธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ขยายสาขาไปยังต่างประเทศ”

“อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ที่จะสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ ต้องมีระบบการบริหารจัดการรูปแบบแฟรนไชส์ที่เข้มแข็ง มีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือ และสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และบริการ รวมทั้ง ต้องมีองค์ความรู้ด้ านการบริหารจัดการด้านการเงิน และการลงทุนระหว่างประเทศ กฎระเบียบของประเทศที่ต้องการไปลงทุน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นความท้าทาย ของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย ที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ”

“ทั้งนี้ กรมฯ ได้ดำเนินการสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจ อย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้ธุรกิจขับเคลื่อน ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืน

โดยเน้นการสร้างมาตรฐานคุณภาพ ที่มีความน่าเชื่อถือ การสร้างภาพลักษณ์แก่ตราสินค้า และวางกลยุทธ์การตลาดที่จะเอื้อต่อการขยายสาขา ขยายการลงทุน ยึดหลักการพัฒนา ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้แฟรนไชส์ไทยมีความเข้มแข็ง และพร้อมแข่งขันในทุกตลาด”

“โครงการ “แฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล : Thai Franchise Towards Global” เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ไทย สู่ตลาดสากลอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดการส่งเสริมธุรกิจ อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) บ่มเพาะธุรกิจ ให้ได้รับองค์ความรู้รอบด้าน การได้ทดลองฝึกปฏิบัติจริง รวมถึง การสร้างเครือข่ายธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน

โดยในวันนี้ (11 กันยายน 2562) กรมฯ ได้มีการจัดกิจกรรมแสดงศักยภาพธุรกิจ (Showcase) และกิจกรรมประกวด Pitching สุดยอดแฟรนไชส์ไทยไปตลาดสากล ของธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ผ่านการอบรมฯ ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้ง จัดพิธีมอบประกาศนียบัตร แก่ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านกิจกรรมพัฒนาธุรกิจ “แฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล : Thai Franchise Towards Global” ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า”

 “จากข้อมูลของธนาคารกสิกรไทย พบว่า ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีมูลค่าตลาดโดยรวม กว่า 2.8 แสนล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20.3 ต่อปี โดยในแต่ละปี มีผู้ประกอบการรายใหม่ สนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 15,000 – 20,000 ราย

ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ ถือเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เข้าถึงกลุ่มธุรกิจที่ครอบคลุมทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ 1) แฟรนไชส์ขนาดเล็ก ที่พบได้ในลักษณะหน้าร้าน (Kiosk) หรือ Mobile Unit : Food Truck ตามแหล่งชุมชน 2) แฟรนไชส์ขนาดกลาง ที่แพร่หลายตามศูนย์การค้า และสถานีบริการน้ำมัน และ 3) แฟรนไชส์ขนาดใหญ่ที่อยู่บนห้างสรรพสินค้า

จนกระทั่งแฟรนไชส์กลุ่มที่แข็งแกร่ง จนสามารถขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้ ดังนั้น จึงมั่นใจว่า แฟรนไชส์ไทย ยังคงเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และเจริญเติบโตได้อีกนาน รวมทั้ง เป็นธุรกิจ ที่จะสามารถสร้างความมั่นคง ให้แก่เศรษฐกิจของประเทศได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน”