fbpx
News update

“กรมอนามัย”จับมือ WHO – ยูนิเซฟ – มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ รณรงค์ในสัปดาห์นมแม่โลก

www.onlinenewstime.com : ในวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญต่อลูกทุกคน คือ “วันแม่แห่งชาติ” และนานาประเทศได้ร่วมกันกำหนดให้ทุกวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี เป็นสัปดาห์นมแม่โลก หรือ World Breastfeeding Week โดยในปีนี้ ร่วมรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Empower Parents Enable breastfeeding เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อนมแม่ยั่งยืน”

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “นมแม่” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกชีวิต เพราะเป็นการวางรากฐาน พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตั้งแต่วัยทารก ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต และพัฒนาการทั้งกายและใจของเด็ก

อีกทั้ง ลดการเสียชีวิตของมารดาและทารกหลังคลอด ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง และปอดบวมถึง 230 ล้านบาทต่อปีด้วย ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถือเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด เพราะลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนมหาศาล

จากการสำรวจของ MICs ล่าสุด พบว่า ประเทศไทย มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพียงร้อยละ 23.1 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในอาเซียน และยิ่งไปกว่านั้น มีเด็กเพียงร้อยละ 13 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องจนถึง 2 ปี

ในความเป็นจริง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสำเร็จหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความตั้งใจของแม่เป็นหลัก แต่ความตั้งใจของแม่ มักได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยแวดล้อมจำนวนมาก

ตั้งแต่การสนับสนุนของคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนในชุมชน บริบททางสังคม ดาราและผู้มีชื่อเสียง รวมถึง การได้รับคำแนะนำ และความช่วยเหลือจากบุคลากรด้านสาธารณสุข แนวคิดสัปดาห์นมแม่โลกในปีนี้ จึงต้องการสื่อสาร และเน้นย้ำไปถึงทุกคนในสังคมว่า เราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการช่วยให้เด็กทุกคนกินนมแม่ได้สำเร็จ

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร

กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพของประชาชน เราเล็งเห็นความสำคัญ ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงมีการกำหนดมาตรการและดำเนินงานเพื่อปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย ดังนี้

ด้านแรก การปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือ พ.ร.บ.นมผง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิ และสุขภาพของเด็กทุกคนไม่ให้เสียโอกาสในการกินนมแม่ ผ่านการควบคุมวิธีการโฆษณา และการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กให้เหมาะสม

กรมอนามัยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม แนวทางที่สำคัญ คือ การวางระบบเฝ้าระวังทั้งเชิงรุกและเชิงรับ การพิจารณาการกระทำผิด และการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกหน่วยงาน สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์สูงสุด

ด้านที่สอง การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้แม่มีความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สิ่งที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้จัดบริการตามมาตรฐานโรงพยาบาล สายสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งเป็นแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า แม่จะได้รับการดูแล และเตรียมพร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด และกลับไปสู่ในชุมชน

ในปีที่ผ่านมา กรมอนามัยร่วมมือ กับคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดอบรมหลักสูตรพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการสนับสนุนทุน จากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในการอบรมพยาบาลวิชาชีพกว่า 50 คน ทั่วประเทศ เพื่อให้มีทักษะ ความรู้ในการให้ความช่วยเหลือ ดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับหญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า แม่และครอบครัว จะได้รับการบริการจากบุคลากรที่มีคุณภาพ ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้ประสบความสำเร็จได้

ด้านที่สาม การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถือเป็นมาตรการที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง แม้ว่าแม่จะมีทัศนคติ และการเตรียมพร้อมที่ดีแล้ว

อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การสนับสนุนจากครอบครัว คนรอบข้างและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ปัจจุบันนี้ เหตุผลหลักข้อหนึ่ง ที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ คือ แม่ต้องกลับไปทำงาน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงมีนโยบายการจัดตั้งมุมนมแม่ ในสถานประกอบการขึ้น เพื่อให้แม่สามารถบีบเก็บน้ำนมได้ และกรมอนามัยได้ร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ เกี่ยวกับแนวทางการจัดตั้งมุมนมแม่ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ภาคเอกชนร่วมจัดส่งนมแม่แช่แข็งทั่วประเทศ

ในกรณีแม่ต้องกลับไปทำงานและอยู่ห่างไกลลูก ศูนย์อนามัยที่ 7 มีการขับเคลื่อนโครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูก ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เป็นการเปิดรับนมแม่แช่แข็งจากทั่วประเทศ และจัดส่งให้กับลูกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โครงการนี้ได้รับการสนับสนุน จากผู้ประกอบธุรกิจขนส่งในพื้นที่ ได้แก่ บริษัท ก.เกียรติชัยพัฒนาขนส่งจำกัด บริษัทภูเขียวขนส่งจำกัด บริษัทชาญทัวร์จำกัด และสายการบินไทยแอร์เอเชีย

คนไทยควรจะได้รับรู้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มีความสำคัญอย่างไร และเราจะช่วยให้แม่มีพลังกายพลังใจ ฝ่าฟันข้อจำกัดและอุปสรรคอย่างไร เพื่อให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ “นมแม่” เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่แม่และเด็กทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน นอกเหนือจากการดำเนินการ ตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก การพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขในการทำหน้าที่พยาบาลนมแม่ มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางสังคมด้านอื่นๆ

ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ ทุกคนและทุกองค์กรในสังคมจ ะร่วมมือกันสนับสนุนแม่และครอบครัว ให้ได้รับการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผลักดันให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมไทยประสบความสำเร็จ เพื่อวางรากฐานให้แก่ทุกชีวิตที่เกิดมาได้มีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพ

การรณรงค์ของยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก

ทางด้านนายฮิว เดลานี รักษาการผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า องค์การยูนิเซฟแนะนำให้เด็กทุกคน กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารที่ดีที่สุด และมีภูมิคุ้มกัน 

นายฮิว เดลานี

แต่ปัจจุบัน มีเด็กในประเทศไทยเพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้น ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนครบ 6 เดือน ซึ่งอาจมีผลมาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ค่านิยม ที่มักให้อาหารกึ่งเหลวกับเด็กทารกก่อน 6 เดือน หรือพ่อแม่บางคน ยังมีความเข้าใจผิดว่าลูกหิวน้ำ หรือต้องการล้างปากเด็ก คุณแม่บางท่าน อาจกังวลเรื่องคุณภาพนมของตน หรือคิดว่านมไม่พอ

นอกจากนี้ คุณแม่จำนวนมาก ยังขาดแรงสนับสนุนจากที่ทำงาน เรื่องการให้สิทธิการลา หรือเมื่อกลับไปทำงานแล้ว ที่ทำงานก็ไม่มีพื้นที่เหมาะสม ให้แม่บีบเก็บน้ำนมได้

“เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกปีนี้ ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้สถานประกอบการ ช่วยกันสนับสนุน “นมแม่” โดยจัดให้มีนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว (Family Friendly policies) เช่น การส่งเสริมนโยบายการลาคลอดของพ่อและแม่ การสนับสนุนเงินอุดหนุน เพื่อช่วยลดภาระครอบครัวที่มีลูกเล็ก การสร้างมุมหรือห้องนมแม่

ตลอดจนนโยบายที่ให้แม่ สามารถบีบเก็บน้ำนมได้ ระหว่างเวลาทำงาน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้พนักงานที่มีลูก สามารถดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น และสร้างสมดุลในชีวิต ในช่วงที่ลูกยังเล็ก เพราะหากแม่ขาดแรงสนับสนุนจากครอบครัว และที่ทำงานแล้ว แม่ก็จะขาดพลังและกำลังใจและหยุดให้นมลูกในที่สุด” นายเดลานี กล่าว

Dr Renu Garg, Medical Officer องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับทารก และประโยชน์ของนมแม่นั้น มีต่อเนื่องไปตลอดชีวิต

 Dr Renu Garg

การเสริมพลังพ่อแม่ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้น รัฐบาลควรพิจารณาดำเนินนโยบาย ที่ช่วยสนับสนุนครอบครัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การให้สิทธิลาเลี้ยงดูบุตร แบบได้รับค่าจ้าง เพื่อช่วยให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูและผูกพันกับเด็ก ในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด

มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ร่วมให้ความรู้

แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์  นมแม่ฯที่ผ่านมาส่วนใหญ่ เป็นการเสริมพลังให้กับแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้การช่วยเหลือดูแล ในกรณีที่แม่มีปัญหา เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จวบจนแม่ประสบความสำเร็จ

อีกหนึ่งกิจกรรมที่มูลนิธิฯ ดำเนินการคือ การประสานงาน ระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน องค์กรอิสระ เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้แม่ทำงาน ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนประสบความสำเร็จ