fbpx
News update

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไทยลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเกินเป้าหมาย

Onlinenewstime.com : ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับวิกฤติสถานการณ์เดียวกันแต่สถานการณ์สิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวกับชั้นบรรยากาศโอโซนของโลก ก็มีความสำคัญเพราะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากดวงอาทิตย์ให้ทุกชีวิตบนโลก

ด้วยเหตุนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงยังคงให้ความสำคัญ โดยทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการรณรงค์โดยเน้นการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้เกี่ยวกับชั้นบรรยากาศโอโซน ในงาน “วันโอโซนสากล ประจำ 2564”

ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 16 กันยายนของทุกปีเป็น “วันโอโซนสากล” หรือ  “World Ozone Day” เพื่อเป็นการระลึกถึงวันที่นานาประเทศ ได้ร่วมกันลงนามเป็นครั้งแรกต่อพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2530  โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ที่รับผิดชอบในการดำเนินงานตามพันธกรณีพิธีสารมอนทรีออล ได้จัดกิจกรรม“วันโอโซนสากล” เป็นประจำทุกปี

32 ปีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ดำเนินงานให้บรรลุเจตนารมณ์ในการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน ตามพิธีสารมอนทรีออล ด้วยการดำเนินงานขับเคลื่อนเทคโนโลยีสารทำความเย็น และสารเป่าโฟมที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศโอโซนและสภาพภูมิอากาศโลก ผ่านการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชั้นบรรยากาศโอโซน โดยประเทศไทยได้มีการดำเนินการมาเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 32 ปีที่ผ่านมา หลังจากประเทศไทยให้สัตยาบันต่อพิธีสารมอนทรีออล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้รับผิดชอบ ยังคงตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนและสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีสารทำความเย็นเป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศโอโซน

โดยดำเนินการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ เพื่อลดการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ธนาคารโลก หน่วยงานภาครัฐ และ ภาคเอกชน ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFC ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ตั้งแต่ ปี 2557 – 2561 เรียบร้อยแล้ว

ได้กำหนดเป้าหมายให้เริ่มควบคุมปริมาณการใช้ และลดปริมาณการใช้ในปี 2558 ลง 10 %  ของค่าเฉลี่ยพื้นฐาน ซึ่งคำนวณจากค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้สาร HCFC ในปี 2552 – 2553 และในปี 2561 ลดลง 15% ของค่าเฉลี่ยพื้นฐาน และประเทศไทยสามารถลดปริมาณการใช้สาร HCFC ในปี 2561 ได้มากถึง 61.9% ของค่าเฉลี่ยพื้นฐาน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

โดยผ่านกลไกการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน แบบให้เปล่าและด้านเทคนิควิชาการแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการ และประชาชน

สำหรับแผนการในอนาคต ในฐานะภาคีสมาชิกพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เพื่อให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนนั้น ประเทศไทย

โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFC ระยะที่ 2 ซึ่งดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 – 2566 โดยมีเป้าหมายจะต้องลดปริมาณการใช้สาร HCFC ลงตามลำดับ ในปี 2568 ลดลง 67.5 % ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย และมั่นใจว่าจะสามารถเลิกการนำเข้าสาร HCFC ภายในปี 2573 ได้

นอกจากนั้นโครงการในระยะที่ 2 จะมีการสนับสนุนเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ชนิดสารทำความเย็น และเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของศูนย์ฝึกอบรม โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HFC-32 เป็นสารทำความเย็น ในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีเป้าหมายในการจัดอบรมให้แก่ช่างติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศ จำนวน 5,500 คนอีกด้วย

“ทุกโครงการและกิจกรรมภายใต้การดูแลและสนับสนุนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำขึ้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเรายังคงเดินหน้าทำงานต่อไปไม่หยุด โดยมีทิศทางการทำงาน และประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ และยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน ก็จะต้องพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมาย นั่นคือสามารถทำให้ภาคอุตสาหกรรมเลิกใช้สาร HCFC โดยสิ้นเชิง รวมทั้งการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงความสำคัญของชั้นบรรยากาศโอโซน ที่ทำหน้าที่ปกป้องโลก และสภาพภูมิอากาศโลก เพื่อโลกของเราให้น่าอยู่ตลอดไป” นายประกอบ กล่าวทิ้งท้าย