Onlinenewstime.com : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2564 (Global Startup Ecosystem Index 2021) ซึ่งเว็บไซต์ StartupBlink ศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศนวัตกรรมทั่วโลกได้มีการจัดอับดับ 100 ประเทศ และ 1,000 เมือง ที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดของโลก
โดยในปีนี้ในภาพรวมประเทศไทยยังคงครองอันดับที่ 50 ของโลก อันดับ 4 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 10) มาเลเซีย (อันดับ 40) และอินโดนีเซีย (อันดับ 45) ส่วนฟิลิปปินส์และเวียดนามอยู่ในอันดับ 52 และ 59 ตามลำดับ
สำหรับในส่วนของ 1,000 เมืองแรกที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดนั้น กรุงเทพสามารถกระโดดขึ้นมาถึง 19 อันดับ จากอันดับ 90 สู่อันดับที่ 71 ของโลก โดยมีเชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา ติดลำดับด้วยเช่นกัน
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีสำหรับแวดวงสตาร์ทอัพ ที่ผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลกประจำปี 2564 (Global Startup Ecosystem Index 2021) ที่ประเทศไทยยังคงครองอันดับที่ 50 และมีถึง 4 เมืองที่ติดใน 1,000 อันดับแรกของเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด
โดยกรุงเทพสามารถกระโดดขึ้น 19 อันดับจากอันดับ 90 สู่อันดับที่ 71 โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีการค้าปลีก ซึ่งได้อันดับที่ 33 ของโลก เชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่ 397 ภูเก็ต อันดับที่ 442 (พุ่งขึ้น 428 อันดับจากเดิม อันดับที่ 870) และสุดท้ายเมืองน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาติดอันดับเป็นปีแรก นั่นคือ พัทยา อยู่ในอันดับที่ 833
สำหรับปัจจัยหลักในการประเมินของเว็บไซต์ StartupBlink ได้แก่
1) ปัจจัยเชิงปริมาณ ประกอบด้วย จำนวนสตาร์ทอัพ จำนวนโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ (Co-Working Space) จำนวนโปรแกรมเร่งการเติบโต (Accelerator) และจำนวนกิจกรรมพบปะของสตาร์ทอัพ
2) คุณภาพของสตาร์ทอัพ และสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย จำนวนผู้ใช้งานสตาร์ทอัพ (Traction) จำนวนบริษัท/สาขาของบริษัทที่ดำเนินงานด้านการวิจัยและเทคโนโลยี จำนวนสาขาของบริษัทข้ามชาติ ปริมาณการลงทุน จำนวนลูกจ้าง จำนวนสตาร์ทอัพระดับ Unicorns, Exits และ Pantheon จำนวนสตาร์ทอัพที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ระดับโลก และจำนวนเหตุการณ์เกี่ยวกับสตาร์ทอัพระดับโลก และ
3) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ประกอบด้วย ความสะดวกในการธุรกิจ ความเร็วอินเทอร์เน็ต อิสระในการใช้อินเทอร์เน็ต การลงทุนด้านงานวิจัย ความพร้อมของเทคโนโลยีด้านการบริการ จำนวนผู้ถือสิทธิบัตรต่อประชากรทั้งหมด และความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ”
จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทย ในการร่วมกันสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม”
ที่ผ่านมากระทรวง อว. มีบทบาทหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนระบบนิเวศนวัตกรรม และระบบนิเวศสตาร์ทอัพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคน บ่มเพาะ และพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ การปรับโครงสร้างระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการจัดสรรเงินทุนสนับสนุนเพื่อให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ
ด้าน ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนา ทั้งในส่วนกลางและในระดับภูมิภาคเพื่อกระจายศูนย์กลางความเจริญ สร้างเมืองน่าอยู่ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองและเชื่อมโยงความเจริญสู่ชนบท
ซึ่งหนึ่งในกลไกหลักคือ การพัฒนา “ย่านนวัตกรรม: Innovation District” หรือ พื้นที่ที่มีศักยภาพ ในการสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ มีการผสมผสานระหว่างสถาบัน โรงเรียน ที่อยู่อาศัย ร้านค้าปลีก และพื้นที่สำนักงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด คือการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดและเทคโนโลยีระหว่างกัน
โดยเมือง 4 เมืองที่ติดอันดับนั้น NIA ก็ได้มีการลงพื้นที่พัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพตลอดมา กรุงเทพ มีการพัฒนาย่านนวัตกรรม 4 แห่ง ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) มีโปรแกรมพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรและผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ และผลักดันการลงทุนในย่าน ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคปุณณวิถี มีกิจกรรมทดลองใช้สินค้าและบริการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ (Bangkok Cybertech sandbox) ทำให้เกิดการร่วมแชร์ข้อมูลและทรัพยากรด้านการพัฒนาสตาร์ทอัพระหว่างภาครัฐและเอกชน
ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท มุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมบนความคิดสร้างสรรค์และดิจิทัลบนฐานอุตสาหกรรมเดิมของย่าน ย่านนวัตกรรมอารีย์ มุ่งเน้นพัฒนาให้เป็นพื้นที่ทดสอบทดลองโซลูชั่นใหม่ (แซนด์บ็อกซ์) ด้วยเทคโนโลยี เอไอ, หุ่นยนต์ และ ไอโอที ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุคใหม่
เชียงใหม่ มีการพัฒนาย่านนวัตกรรม 2 ย่าน ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (SMID) และย่านนวัตกรรมเกษตรอาหารแม่โจ้ อีกทั้งยังมีสำนักงานภูมิภาคแห่งแรกของ NIA และศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Startup Hub) ที่มีความพร้อมและตอบโจทย์ผู้คนที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าในภูเก็ต และพัทยา จะยังไม่มีการพัฒนาย่านนวัตกรรมในพื้นที่ แต่ก็มีการสนับสนุนด้านนวัตกรรมเสมอมา ซึ่งในภูเก็ตมีการจัดกิจกรรม Open Innovation Road Show ภาคใต้ เพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการนวัตกรรมในพื้นที่ มีโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยสู่การเป็นนวัตกร และในพัทยา มีโครงการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเอื้อต่อการสร้างทรายเม็ดใหม่ด้านดีพเทค และเชื่อมโยงเครือข่ายเข้ากับองค์กรพันธมิตรในพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรรมและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ
อีกทั้งยังมีย่านนวัตกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ ย่านนวัตกรรมบางแสน (ชลบุรี) ย่านนวัตกรรม ศรีราชา (ชลบุรี) และย่านนวัตกรรมบ้านฉาง (ระยอง) นอกจาก 4 เมืองนี้แล้ว NIA ก็ยังมีย่านนวัตกรรมในพื้นที่อื่น ๆ อีก ได้แก่ ย่านนวัตกรรมศรีจันทร์ (ขอนแก่น) ย่านนวัตกรรมโคราช (นครราชศรีมา) และย่านนวัตกรรมกิมหยง (สงขลา) รวม 12 ย่านนวัตกรรมทั่วประเทศไทยครอบคลุมทุกภูมิภาค
“ขณะนี้ประเทศไทยมียูนิคอร์นเกิดขึ้นแล้ว 3 ราย NIA ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพต่อไป และหวังว่าในปีหน้าเราจะได้เห็นยูนิคอร์นตัวที่ 4 ตัวที่ 5 และตัวต่อ ๆ ไปของประเทศไทย ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อประเทศชาติ และประชาชน” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป