fbpx
News update

กลยุทธ์การตลาดบุหรี่ ไล่ล่าวัยรุ่นเป็นฐานลูกค้าใหม่

Onlinenewstime.com : การวิเคราะห์ข้อมูลของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบใน พ.ศ. 2560  พบว่า คนไทยเสียชีวิตเพราะบุหรี่ถึง 72,656 คน โดยโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายหลัก

ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วย จะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัสโควิด 19 แล้วมีอาการรุนแรง มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า  และถ้าผู้ติดเชื้อมีการสูบบุหรี่ ก็จะยิ่งเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสโควิด 19 ไปสู่คนในครอบครัวและคนรอบข้างได้อีกด้วย

บุหรี่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมาก การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560  พบว่า การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ปีละ 87,250 ล้านบาท (คำนวณเป็นความสูญเสีย 42  บาทต่อบุหรี่  1 ซอง) โดยรวมแล้ว ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่คิดเป็นร้อยละ 0.56ของ GDP และคิดเป็นร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศทั้งหมด

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

“แม้ว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15  ปีขึ้นไปในภาพรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด พ.ศ. 2560 พบว่า ประชากรสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน (ร้อยละ 19.1) แต่กลับพบว่ามีผู้สูบบุหรี่เป็นครั้งคราว กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยใน พ.ศ. 2534 มีผู้สูบบุหรี่เป็นครั้งคราวเพียง 590,528 คน กลับเพิ่มขึ้นเป็น 1,251,695  คน ในพ.ศ. 2560  

รวมถึงยังคงต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการสูบบุหรี่เยาวชนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอายุที่เริ่มสูบน้อยลง โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2560 พบว่า กลุ่มอายุ 19-24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558  จากร้อยละ  20.2 เป็นร้อยละ 20.4  

ซึ่งข้อมูลดังกล่าว เป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมยาสูบมีกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่ อาจส่งผลให้มีผู้ทดลองสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น มีการทำการตลาดหรือมุ่งแสวงหากลุ่มผู้สูบที่ เป็นเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น เพื่อมาทดแทนนักสูบที่ล้มหายตายจาก หรือเลิกสูบไป

ในขณะที่ไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมยาสูบ พ.ศ.2560 ที่มีการห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ (Total Ban) ซึ่งมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ยังมีข้อจำกัด ผนวกกับไม่สามารถดูแลพื้นที่ออนไลน์ได้ ทำให้เกิดเสรีบนโลกออนไลน์  

เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นท้าทายที่ สสส. มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่

รวมทั้งกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข  คลัง  ศึกษา และมหาดไทย ต้องเร่งทำงานขับเคลื่อน สอดประสาน ในการสกัดกั้นไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก” นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สะท้อนถึงทิศทางการหนุนเสริมการขับเคลื่อนงาน ของเครือข่ายภาคีหลักของแผนงานควบคุมยาสูบ เพื่อสร้างสังคมปลอดบุหรี่ในยุคปัจจุบันและอนาคต

ด้านมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  นำทัพโดย ศ.เกียรติคุณ นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผู้คร่ำหวอดทำงานขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และผลักดันมาตรการและกฎหมายด้านต่าง ๆ เพื่อมาควบคุมยาสูบ และต่อสู้ไม่ให้มีการทำการโฆษณาแฝงในการเชิญชวนให้สูบบุหรี่

ศ.เกียรติคุณ นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ

ตลอดจนการเสริมสร้างความรู้ สร้างความตระหนักให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคมเพื่อสร้างสังคมปลอดบุหรี่ ได้สะท้อนมุมมองว่าการทำงานบนเส้นทางสายนี้ ต้องต่อกรกับบริษัทธุรกิจบุหรี่ ผู้มีเงินทุนมหาศาลในการทำการตลาดไล่ล่าวัยรุ่น ให้มาเป็น “นักสูบหน้าใหม่” หรือ “นักสูบทดแทน”

“จากข้อมูลทางการแพทย์สากล คนที่ติดบุหรี่ จะเริ่มสูบบุหรี่เมื่อเป็นวัยรุ่น อายุเฉลี่ย 17  ปี เพราะอยากรู้ อยากลอง ในวัยรุ่นที่ทดลองสูบบุหรี่เพียง 100 มวน หรือเพียง  5  ซอง สารนิโคตินในบุหรี่ที่มีฤทธิ์ติดง่ายและเลิกยากเทียบเท่าเฮโรอีน ก็จะทำให้เยาวชนคนนั้นติดบุหรี่ทันที  

ในขณะที่พอถึงอายุ 20 ปี 80 % ของคนไทยที่สูบบุหรี่ ได้ติดบุหรี่ไปแล้ว  และพอหลังอายุ 24 ปี จะมีคนติดบุหรี่น้อยมาก  นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการเสพติดบุหรี่เกือบทั้งหมด ติดขณะเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อายุน้อย 

ในจำนวนคนติดบุหรี่ 10 – 11  ล้านคนในประเทศไทย  มีอยู่ 1 ใน 3 หรือประมาณ 37 % ที่พยายามจะเลิกบุหรี่ในแต่ละปี  แต่ที่ยังเลิกยากอยู่ เป็นเพราะฤทธิ์ของนิโคตินสารเสพติดในบุหรี่ ที่เขาว่าติดง่าย เลิกยากยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เลิกไม่สำเร็จ

โดยจากสำรวจคนที่ติดบุหรี่ 10 คน มีเลิกไม่ได้ถึง 7 คน และที่เลิกบุหรี่ได้มีเพียง 3 คน  ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 20 ปีทีเดียวจึงเลิกได้สำเร็จ  และช่วงอายุที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จอายุเฉลี่ย 40 ปีขึ้นไป  เพราะเริ่มมีครอบครัว มีลูก มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น  แต่อีก 7 คนที่เลิกไม่ได้ก็อาจจะไปเลิกได้ตอนตายหรือใกล้ตายแล้ว” ศ.เกียรติคุณ นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม นอกจากสารเสพติดในบุหรี่ ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเลิกบุหรี่ยากแล้ว กลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ ที่ไล่ล่าวัยรุ่นให้มาเป็นลูกค้ารายใหม่ทดแทนลูกค้าเก่าที่ล้มหายตายจากโรคภัยจากบุหรี่ปีละกว่า 50,000 กว่าคน

“ย้อนไปเมื่อปี 2558 สถานการณ์ผู้สูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนมีถึง 200,000 คนต่อปี นับว่าเป็นจำนวนที่มากอยู่ จากการศึกษาเอกสารลับทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ บอกว่าภายใน 30 ปีบริษัทบุหรี่จะต้องล้มละลาย หากเราไม่สามารถไล่ล่าให้วัยรุ่น เข้ามาสูบบุหรี่ได้ 

บริษัทบุหรี่จึงพยายามงัดกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อมาสร้างแรงจูงใจให้เด็กและเยาวชนลิ้มลองการสูบบุหรี่  ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งรูปลักษณ์บุหรี่ ให้เข้าถึงวัยรุ่นอย่างบุหรี่ไฟฟ้า การนำสารเมนทอลหรือรสชาติอื่นมาใส่ในบุหรี่เพื่อเชิญชวนให้เสพติด

การนำดารานักร้อง หรือ Influencer มาสูบบุหรี่ หรือจัดกิจกรรมเชิญชวนทางออนไลน์  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทายให้มูลนิธิฯ และเครือข่ายรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น การรณรงค์และเข้มงวดจริงจังในการบังคับใช้พื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ ณ สถานศึกษาและที่สาธารณะ

การสร้างจิตสำนึกให้ร้านค้าปลีกตามชุมชน ไม่ขายบุหรี่ให้กับเด็กและเยาวชน ตลอดจนการผลักดันเรื่องภาษีของบุหรี่และยาเส้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบมีราคาแพง  เพื่อสกัดกั้นให้วัยรุ่น เข้าถึงบุหรี่ยากขึ้น

รวมทั้งการผลักดันให้มีการสร้างองค์ความรู้ ในพิษภัยของยาสูบ บรรจุเป็นเนื้อหาหลักสูตรในระบบการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการ เพราะโดยลำพังที่ทางมูลนิธิฯ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมอื่น ๆ ทำการเสริมสร้างความรู้นอกระบบอย่างเดียวไม่เพียงพอ 

การจะสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่  และการดูแลเด็กและเยาวชน ให้ห่างไกลยาเสพติด ในรูปแบบของสินค้าถูกกฎหมายอย่างบุหรี่ ต้องอาศัยองค์กรทุกภาคส่วนของสังคม เป็นองคาพยพในการขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกัน” ศ.เกียรติคุณ นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าว 

การปล่อยให้เด็กและเยาวชน ต้องเข้าสู่วังวนของบุหรี่ เท่ากับเป็นการผลักไส ให้พวกเขาเดินไปสู่เส้นทางการเสพสารเสพติด ที่ต้องทนทุกข์ทรมานนานนับ 20 ปีกว่าจะเลิกบุหรี่ได้  และเมื่อเลิกได้ตอนนั้น สภาพร่างกายของเขาอาจจะย้ำแย่แค่ไหน ไม่อาจประเมินได้ ดังนั้น ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน จึงเป็นปราการด่านแรกที่ จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เราต้องร่วมกันสร้างความรู้ให้เยาวชนรู้เท่าทันกลยุทธการตลาดบุหรี่ในทุกรูปแบบ